นายกร เธียรนุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วาวา เซอร์วิส แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้ง MyWaWa กล่าวว่า “ปัจจุบัน B2B อีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นช่องทางการขายที่สำคัญในยุคตลาดดิจิทัล ในขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจแบบดั้งเดิมต่างก็กำลังปรับตัวเข้าสู่อีคอมเมิร์ซ
เนื่องจากสถานการณ์การค้าขายและระบบเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ทุกธุรกิจต้องเพิ่มช่องทางการขายผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น”
การทำธุรกิจแบบ B2B ในแบบดั้งเดิม จะเน้นที่การให้พนักงานขายเดินทางไปพบเพื่อเจรจาซื้อขาย หรือการร่วมงานแสดงสินค้า (Trade Show) ทั้งในและต่างประเทศ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กิจกรรมเหล่านี้ไม่สามารถทำได้ จึงส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการดำเนินงานของทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ และ SMEs ที่อยู่ในภาคการผลิตสินค้าในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนกว่า 400,000 -500,000 ราย ธุรกิจที่ทรานส์ฟอร์มได้รวดเร็วก็สามารถเดินหน้าต่อได้ แต่พบว่ายังมีอีกหลายรายที่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากขาดความรู้ทางดิจิทัลและขาดทรัพยากร
ขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบัน เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นรูปแบบ B2C หรือ C2C ที่ไม่ได้ถูกออกแบบให้เข้ากับรูปแบบ B2B ซึ่งมีระบบการสั่งซื้อที่มีขั้นตอนที่ซับซ้อนมากกว่า ระบบชำระเงินต้องรองรับการชำระเงินที่มีมูลค่าสูงในการสั่งซื้อต่อครั้ง ต้องใช้ระบบโลจิสติกส์หรือการขนส่งที่มีความเฉพาะทางในแต่ละอุตสาหกรรม และส่วนใหญ่เป็นแพลตฟอร์มของต่างชาติที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยทางดิจิทัล (Digital Safety) ส่งผลให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลเชิงธุรกิจของประเทศอีกด้วย
จากผลกระทบทางเศรษฐกิจและ pain point ดังกล่าว MyWaWa ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพด้านอีคอมเมิร์ซสัญชาติไทย จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มชื่อ www.mywawa.me ให้เป็น e-Marketplace สำหรับ B2B ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เป็นศูนย์กลางการซื้อขายทางธุรกิจทั้งรูปแบบค้าส่งและค้าปลีก รวบรวมโรงงานผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและซัพพลายเออร์จากทุกอุตสาหกรรม รองรับทุกฟีเจอร์ตั้งแต่การขาย วางบิล ชำระเงิน รวมถึงระบบขนส่งในแพลตฟอร์มเดียว
ผู้ซื้อ-ผู้ขายสินค้าทุกอุตสาหกรรม สมัครใช้งานฟรี
เนื่องจาก www.mywawa.me ต้องการรองรับการใช้งานจากผู้ซื้อ-ผู้ขายทุกเจเนอเรชัน จึงถูกออกแบบให้ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน สามารถลงทะเบียนสมาชิกเพื่อใช้งานทุกฟีเจอร์ภายในระบบได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการสมัครหรือค่าบริการรายเดือนใด ๆ
โดยผู้ขาย (Seller) จะต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนการค้าในประเทศไทย สามารถใช้งานระบบได้ตั้งแต่การจัดตั้งหน้าร้าน ใส่ข้อมูลสินค้า กำหนดราคาและโปรโมชัน ออกใบเสนอราคา ออกใบวางบิล เลือกวิธีการขนส่ง ทั้งหมดสามารถดำเนินการได้เอง โดยมีเจ้าหน้าที่จาก MyWaWa คอยช่วยเหลือ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ขายในการเข้าถึงผู้ซื้อได้ง่ายขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการทำการตลาดแบบดั้งเดิมและไม่ต้องสร้างเว็บไซต์ใหม่ของตัวเอง ทำให้ประหยัดทั้งต้นทุนและเวลา
โดย MyWaWa ไม่มีค่าใช้จ่ายแอบแฝง มีเพียงการเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มจากผู้ขายในอัตรา 3-5% ขึ้นอยู่กับประเภทของอุตสาหกรรม และจะเรียกเก็บเมื่อกระบวนการซื้อขายเสร็จสมบูรณ์ และผู้ซื้อได้รับสินค้าแล้วเท่านั้น
ส่วนผู้ซื้อ (Buyer) สามารถใช้บริการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ลงทะเบียนเข้าใช้งานระบบได้ทั้งแบบนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา เมื่อลงทะเบียนแล้วสามารถเลือกค้นหาสินค้าที่ต้องการ ด้วยระบบ search engine ทำให้ค้นหาสินค้าได้รวดเร็ว มีโอกาสพบซัพพลายเออร์รายใหม่ ๆ ใช้งานระบบแชต (chat) เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือต่อรองราคากับผู้ขายได้ ทำการขอใบเสนอราคาได้โดยตรง
ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อความปลอดภัยในการซื้อขายผ่านระบบ MyWaWa ได้นำเอาเทคโนโลยีมารองรับในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการยืนยันตัวตนหรือ KYC (Know Your Customer) ทั้งฝั่งผู้ขายและผู้ซื้อ ระบบ Smart Contract ในการวางบิล ออกใบสั่งซื้อ (PO) ที่มีการบันทึกข้อมูลไว้สามารถเรียกดูเอกสารได้ตลอดเวลา
ระบบ Track & Trace ติดตามสถานการณ์ส่งสินค้า และระบบ TSO (Trade Secure Order) ร่วมกับ Escrow Account ทำการจ่ายเงินค่าสินค้าให้ผู้ขาย เมื่อผู้ซื้อยืนยันการได้รับสินค้าถูกต้องตรงตามคำสั่งซื้อแล้วเท่านั้น ทั้งหมดนี้เพื่อให้มั่นใจว่าการทำการค้าขายบนแพลตฟอร์มมีความปลอดภัย ผู้ซื้อได้รับของ ผู้ขายได้เงิน อย่างแน่นอน
เติบโตไว ยอดขายทะลุ 1,500 ล้านบาท
หลังจากเปิดใช้งานมาได้เพียงไม่นาน แพลตฟอร์ม www.mywawa.me มีผู้ขายโรงงานผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและซัพพลายเออร์ ในระบบมากกว่า 100 ราย มีสินค้ากว่า 3,000 รายการ (SKUs) จากหลากหลายหมวดอุตสาหกรรม ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ งานพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ และอุปกรณ์สำนักงาน บ้านและวัสดุก่อสร้าง เคมี ยาง และพลาสติก สุขภาพและความงาม แบบเรียนและอุปกรณ์การศึกษา และอื่น ๆ
โดยธุรกิจชั้นนำที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแฟลตฟอร์มแล้วมีทั้ง SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ อาทิ สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ที่เริ่มทำการค้าออนไลน์เป็นครั้งแรกบน www.mywawa.me เท่านั้น องค์การค้าของ สกสค.(ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์) บริษัท ฟอยล์มาสเตอร์ (ไทยแลนด์) จํากัด ผู้ให้บริการแสตมป์ปิงฟอยล์ที่ให้บริการลูกค้าในทุกอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน บริษัท บีบ๊อกซ์ ปริ้นติ้ง จำกัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ฟูดเกรดรายใหญ่ บริษัท พลังงานมั่นคง จำกัด ผู้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง บริษัท ออฟฟิศเมท (ไทย) จำกัด จำหน่ายเครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงาน บริษัท ครูยุ คอทเทจ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมไทยทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น
ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเป็นผู้ซื้อมากกว่า 2,000 ราย มียอดซื้อ-ขาย (Transaction) ผ่านแพลตฟอร์มแล้วมากกว่า 1,500 ล้านบาท
ผนึกกำลังพันธมิตรชั้นนำ ต่อยอดแพลตฟอร์ม
ขณะนี้มีทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์ม เพื่ออำนวยความสะดวกและต่อยอดบริการภายในระบบให้สามารถรองรับการเติบโตในอนาคต อาทิ ด้านเทคโนโลยีด้านการเงิน (FINTECH) ร่วมมือกับบริษัทด้าน Digital Banking และผู้ให้บริการด้านการเงินชั้นนำของประเทศ อาทิ ธนาคารออมสิน เข้ามาเป็นพันธมิตรด้านความปลอดภัยของระบบการชำระเงินออนไลน์ ด้านการขนส่ง ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำเพื่อให้บริการ B2B โลจิสติกส์ที่ครบวงจร อาทิ WeMove Platform, ViaLink และ Flash Group
นอกจากนี้ยังมี บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ร่วมมอบส่วนลดพิเศษของค่าธรรมเนียมให้กับลูกค้ากลุ่ม AIS BIZ UP และในอนาคตยังมีแผนที่ร่วมกับพันธมิตรรายอื่น ๆ อาทิ ลาซาด้า (Lazada) ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านการเป็นแหล่งซัพพลายเออร์ให้แก่ร้านค้าบนลาซาด้า เป็นต้น
ดันสู่ประตูการค้าลงทุนภูมิภาค
นายกร กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากข้อมูลของการ์ทเนอร์ที่ระบุว่าในปี 2568 การทำธุรกรรมของ B2B ร้อยละ 80 จะอยู่บนช่องทางดิจิทัล และร้อยละ 44 ตัดสินใจซื้อโดยไม่ต้องการที่จะพบกับพนักงานขาย เพราะสามารถตัดสินใจและหาข้อมูลการซื้อสินค้าได้เองบนช่องทางออนไลน์และแพลตฟอร์ม B2B อีคอมเมิร์ซ ยิ่งเป็นการสนับสนุนแนวคิดของ MyWaWa ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่เป็นภาคการผลิตของประเทศเข้าสู่ระบบการค้าบนโลกออนไลน์มากขึ้น”
ปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure ที่เป็นภาคอุตสาหกรรม B2B ของประเทศไทยยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ยังไม่ได้เป็นรูปแบบดิจิทัล MyWaWa จึงมีความตั้งใจในการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนี้ให้แข็งแรงและสามารถเข้าถึงผู้ผลิต ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และ SMEs ทั่วประเทศ ให้มีพื้นที่ในการแสดงสินค้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน ด้วยเครื่องมือของ MyWaWa
เมื่อผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น จาก SMEs ที่เดิมทีอาจจะไม่มีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการสร้าง Digital Footprint หรือไม่เคยใช้เครื่องมือออนไลน์มาก่อน ก็จะเกิดเป็นความหลากหลายของสินค้าของคนไทยอีกมากมายที่มีคุณภาพไม่แพ้สินค้าของต่างชาติ
นอกจากนี้ ไม่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีความเข้มแข็ง แต่ปัจจุบันประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia) ยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก เนื่องจากมีการย้ายฐานจากประเทศจีนมามากขึ้นเป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโต (Growing Region) และมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน อีกทั้ง ประเทศไทยยังมีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาคนี้ จึงมีเป้าหมายในอนาคตว่า จะสามารถสร้าง MyWaWa ให้เป็น Trade and Investment Gateway to Southeast Asia