ทรู ดีแทค เร่ง กสทช. รักษากรอบเวลา ชี้อุตสาหกรรมต้องปรับตัวรับความท้าทาย

22 ก.ค. 2565 | 12:32 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2565 | 19:30 น.

ทรู ดีแทค เร่ง กสทช. รักษากรอบเวลา ชี้อุตสาหกรรมต้องปรับตัวรับความท้าทายตลาดที่เปลี่ยนไป จากการลงทุนและต้นทุนที่สูงขึ้น

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการควบรวมว่า ขณะนี้ขั้นตอนด้านผู้ถือหุ้นผ่านไปครบทุกกระบวนการแล้ว รวมถึงขั้นตอนการศึกษาระหว่างสองบริษัทในการผนึกกำลังให้เกิดมูลค่ากับผู้บริโภค ผู้ถือหุ้น และ ผู้มีส่วนได้เสียก็ได้ดำเนินการแล้ว 

 

โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนด้านกฎระเบียบของกสทช. ซึ่งในทางกฎหมายการพิจารณาจะเกิดขึ้นภายใน 90 วัน ซึ่งเป็นกฎระเบียบของการควบรวม และต่างจากการเข้าซื้อกิจการ เพราะการควบรวมทุกอย่างยังคงอยู่เหมือนเดิม โดยกระบวนการควบรวมตามหลัก 90 วัน จะต้องเสร็จสิ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 

 

แม้เห็นว่า กสทช. เพิ่งเข้ามาใหม่คงต้องการเวลาศึกษาเพิ่ม แต่ก็ต้องการให้เกิดขึ้นเร็ว เพราะส่งผลกระทบต่อตลาดทุน มีทั้งไทยและต่างประเทศ ตลอดจนการบริการที่เร็วขึ้น คุณภาพที่ดีขึ้น สำหรับผู้บริโภค และลูกค้าของทั้งสององค์กรก็ล่าช้าตามไปด้วย ซึ่งเชิงเศรษฐกิจสามารถเพิ่มมูลค่าได้ แต่เมื่อถูกเลื่อนออกไป ความกดดันจากผู้ถือหุ้นและตลาดหลักทรัพย์จะสูงขึ้นเรื่อยๆ 

นายศุภชัย กล่าวต่อไปอีกว่า ต้องการนำสิ่งที่ดีที่สุดของสององค์กรมารวม ทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ทันที รวมถึงการเข้าไปสู่ Tech Transformation มี 3 เรื่องใหญ่ คือ

 

  • ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
  • Digital Transformation ที่ไทยสามารถก้าวสู่ผู้นำระดับภูมิภาค 
  • เรื่องของความยั่งยืน Traceability, เทคโนโลยีดาวเทียม ล้วนเกี่ยวข้องกับโทรคมนาคมอย่างมาก เรื่องเหล่านี้จะสร้างประโยชน์เป็น 10 เท่า 

 

อย่างไรก็ดี หากกระบวนการนี้ล่าช้าจะทำให้สองบริษัทไม่แข็งแรงและถดถอยลง โดยผู้ถือหุ้นและนักลงทุนจะลำบากไปด้วย แต่หากรวมกันแล้ว การลดต้นทุน ผนึกกำลัง สร้าง Productivity การเชื่อมโยงคลื่น จะต้องไม่ใช่ 1 บวก 1 เป็นสอง แต่ผลลัพธ์ต้องคูณสิบ หากผ่านกระบวนการไปได้ 

 

นายศุภชัย กล่าวต่อไปอีกว่า การดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย การที่กระบวนการล่าช้าออกไปจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ โดยกฎหมายของปี 2561 การควบรวมไม่ใช่การเข้าซื้อกิจการ กสทช. จึงไม่ได้ต้องอนุมัติ แต่หากมีข้อกังวล สามารถกำหนดเงื่อนไขได้ 

 

 

ศุภชัย เจียรวนนท์
 

และผลการศึกษาจากที่ปรึกษาทางกฎหมาย ก็บอกเช่นนั้น แต่กสทช. มีอำนาจในการสร้างเงื่อนไข ในการลดผลกระทบในทางลบ เพิ่มผลประโยชน์ทางบวก และพร้อมทำงานร่วมกับ กสทช.ด้วยคำถามที่ว่า ถ้าไม่สามารถทำให้ดีลนี้เกิดขึ้นโดย อุตสาหกรรมในปัจจุบันไม่แข็งแรงอยู่แล้ว ก็จะอ่อนแอมากยิ่งขึ้น 

 

ผู้ประกอบการทุกรายเสี่ยงต่อภาวะถดถอยจากอุปสรรคในการปรับตัวซึ่งไม่ควรปล่อยให้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ เพราะการควบรวมที่กำลังดำเนินการอยุ่ NT ก็ทำมาแล้วภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน การสนับสนุนให้อุตสาหกรรมปรับตัว เป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่ง 

 

หากดีลนี้หยุดชะงัก ศักยภาพในการลงทุนจะลดน้อยลง และลงทุนทับซ้อนเหมือนเดิม โดยอุปกรณ์ส่วนใหญ่นำเข้าทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ ล้วนนำเข้า จึงไม่ได้เกิดผลดีกับภาพรวมของประเทศ และศักยภาพในการลงทุนก็ไม่สามารถทำได้ต่อเนื่อง 

 

"ต้องการให้เวลา กสทช. แต่ตอนนี้ล่วงเลยเวลาตามกรอบที่ กสทช. กำหนดไว้เองมามาก จึงต้องการให้ กสทช. รักษาเวลา การควบรวมครั้งนี้เป็นการตั้งบริษัทใหม่ และนำทรัพย์สินสองบริษัทใส่เข้าไปเรียกว่าเป็น Amalgamation ให้สิทธิ์ทุกคนเท่าเทียมกัน แตกต่างจากเข้าซื้อกิจการ และทั้งสองรายมีศักยภาพในการแข่งขันถดถอยลง ไม่ใช่รายหนึ่งแข็งแรง ดังนั้นเรื่องของกฎหมายเป็นเรื่องที่ทุกคนควรปฏิบัติตามขั้นตอนให้ถูกต้อง"

 

นายศุภชัย กล่าวว่า การมองว่าการควบรวม จะทำให้มีผู้ให้บริการจาก 3 ราย เหลือเพียง 2 ราย ส่งผลให้การแข่งขันลดลงนั้น เป็นการมองภาพที่ไม่รอบด้าน เพราะต้องรวมถึง Tech Company อื่นๆ อย่างเช่น OTT ด้วย นอกจากนี้ การแข่งขันนั้นไม่ได้ขึ้นกับแค่เรื่องจำนวนของผู้ให้บริการ แต่ขึ้นอยู่กับว่าผู้ให้บริการที่แข่งขันกันนั้น มีความแข็งแรงเท่ากันหรือไม่ ส่วนราคาค่าบริการที่กังวลว่าจะสูงขึ้นนั้น จะไม่เกิดขึ้น เพราะธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องคุณภาพบริการและราคา โดยมี กสทช. เป็นผู้กำหนดเพดานราคาพื้นฐาน และควบคุมค่าบริการ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งประเทศไทยมีค่าบริการด้านข้อมูลที่ถือว่าต่ำที่สุดรายหนึ่งของโลกอยู่แล้ว และอีกประการ หากการควบรวมสำเร็จ และสามารถรวมคลื่นความถี่ได้ อาจจะสามารถเปิดให้ MVNO เข้ามาใช้โครงข่ายดังกล่าวได้ ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้โครงข่าย และจะทำให้มีการแข่งขันในตลาดเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย 

 

นอกจากนี้ นายศุภชัย ยังกล่าวอีกว่า  การควบรวมครั้งนี้จะสามารถช่วยในเรื่องดังต่อไปนี้

1. ลดเรื่องของความเหลื่อมล้ำด้วยเครือข่ายที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทำให้เด็กนักเรียนนักศึกษาและประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ โดยเฉพาะต่อไปองค์ความรู้จะอยู่บนอินเทอร์เน็ต การเรียนออนไลน์ การมีคุณครูที่มีศักยภาพจากในประเทศและจากทั่วโลกเข้าสู่ระบบออนไลน์เป็นเรื่องใหญ่ รวมถึงคนกลุ่มเปราะบางต่างๆ ก็จะได้รับโอกาสที่เท่าเทียม ตลอดจนสร้างโอกาสและรายได้ให้ผู้ประกอบการ SME ในท้องถิ่นต่างๆ ได้ค้าขายผ่านออนไลน์ เติมเต็มและสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน

 2. การขับเคลื่อนเรื่อง Digital Transformation เราจะเป็น Tech Company ขณะที่ประเทศไทยจะเป็น Tech Hub ซึ่งไม่ใช่แค่การลงทุนเรื่อง 5G หรือ 6G แต่เป็นเรื่องของ Cloud Technology, Software, Tech Startup รวมถึงการสร้างระบบนิเวศเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

และ 3. คือเรื่องความยั่งยืนที่สอดคล้องกับ 17 SDG Goals ซึ่งบริษัทที่ควบรวมใหม่จะสามารถช่วยขับเคลื่อนได้

 

และอีกหนึ่งประโยชน์ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย นายศุภชัยเสริมว่า การควบรวมครั้งนี้ ยังช่วยสร้างระบบนิเวศเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย โดยเฉพาะการสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพ ด้วยการจัดตั้งกองทุน Venture Capital Funding จำนวน 200 ล้านเหรียญ ซึ่งจะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับประเทศ ดึงดูดนักลงทุน และกองทุนอื่นๆ จากทั่วโลกมาร่วม และมีความเป็นไปได้ที่จะมีเข้ามามากถึง 800 - 1,000 ล้านเหรียญ และเมื่อ Capital Gain Tax  ผ่านแล้ว ทำให้การลงทุนใน Tech Startup ของไทยเทียบเท่ากับสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย จึงยิ่งสามารถดึงดูดการลงทุน และร่วมกันขับเคลื่อน Tech Startup ในประเทศไทยให้ก้าวสู่ระดับโลกได้.