หากย้อนกลับไปเมื่อ 2 - 3 ปีที่แล้ว การ Work From Home เป็นสิ่งที่หลายหน่วยงานยังไม่สามารถหาวิธีจัดการได้ ผู้ปกครองยังนึกภาพลูกหลานเรียนออนไลน์ (Online Learning) ไม่ออก การพบปะสังสรรค์ผ่านโลก Metaverse ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก การปรับตัวของผู้ประกอบการภาคธุรกิจที่เปลี่ยนเป็นการค้าขายหรือให้บริการจากออฟไลน์เป็นออนไลน์ยังเป็นทางเลือกมากกว่าทางรอด วิถีชีวิตใหม่ (New Normal)
เหล่านี้กลายเป็นวิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์เราอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป อันเป็นผลจากสัญญาณ แนวโน้มและปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะยิ่งเร่งปริมาณการทำธุรกรรมทางดิจิทัล (Digital Transactions) เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
ดังนั้น การจับสัญญาณการเปลี่ยนแปลง (Signal) ที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมทางดิจิทัลของประเทศ เพื่อวางแผนเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต จึงเป็นประเด็นท้าทายที่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ความสำคัญและทำการศึกษาเพื่อมองภาพอนาคต โดยหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้คือ เครื่องมือ Foresight (ฟอร์ไซท์) สำหรับฉายภาพธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศว่า ภาพอนาคตในมิติต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้ได้ถูกผลักดันเพื่อให้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่สำคัญในการร่วมกำหนดนโยบายผ่าน (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งเป็นแผนระดับชาติ (ระดับ 3) ที่กำหนดทิศทางการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศร่วมอีกด้วย
โดยปี 2565 ETDA ได้ศึกษาและจัดทำภาพอนาคตใน 4 ประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล ดังนี้
1.อนาคตของธุรกรรมดิจิทัล (Future of Digital Transaction)
จากการศึกษาภาพอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า พบว่า ภาพอนาคตที่มีความเป็นไปได้หรือ Probable Futures เทคโนโลยีที่จะยิ่งพัฒนาจนล้ำสมัย ทำให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องสะดวก รวดเร็ว และง่ายดายเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส มีการนำข้อมูลที่เก็บไว้ในระบบมาประมวลผล เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าและบริการได้ตรงตามความต้องการของลูกค้ายิ่งขึ้น ผู้ซื้อและผู้ขายมีอิสระในการเลือกสรรสินค้า จนเกิดการเปรียบเทียบและปรับราคาเข้าสู่จุดสมดุล รวมถึงการทำธุรกรรมข้ามประเทศหรือข้ามทวีปจะมีมากขึ้นด้วย
ขณะเดียวกันข้อมูลในโลกออนไลน์จะสามารถกลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด ทำให้ทุกสิ่งมีมูลค่าในตัวเอง การทำธุรกรรมซื้อขายจึงก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องตัวกลาง เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินได้อย่างอิสระ รวมถึงสถานที่การทำธุรกรรมจะยกระดับสู่โลกเสมือน และสินทรัพย์ที่ได้มาจากโลกเสมือน ก็อาจนำไปใช้ต่อได้ในโลกจริง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้เกิดระบบระเบียบในแบบใหม่ด้วย โดยเฉพาะส่วนที่ใช้กำกับโลกเสมือน ทั้งในประเด็นลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิในการถือครอง หรือแม้กระทั่งการจัดเก็บภาษี เป็นต้น
ในทางกลับกัน สำหรับภาพ Worst Case Scenario หากอนาคตเกิดเหตุการณ์เลวร้าย จึงนำมาสู่การตั้งชื่อภาพอนาคตว่า “Backlash of e-Madness” ซึ่งอาจมีทั้ง
(1) เกิดการบริโภคที่ไม่จำเป็นและกระบวนการผลิตสินค้าเผาผลาญทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง การทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าร้านค้าต่างๆ บนโลกออนไลน์ที่ง่ายและรวดเร็ว ทำให้นำไปสู่การบริโภคที่ไม่จำเป็น รวมถึงผู้ขายเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จึงต้องแสวงหากำไรจากปริมาณสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น เกิดการผลิตสินค้าที่เผาผลาญทรัพยากร อีกทั้งผู้ค้าส่งสามารถจัดจำหน่ายสินค้าแก่ผู้ซื้อได้โดยตรง ทำให้ผู้ค้าปลีกถูกลดบทบาทลง
(2) เกิดภัยจากการทำธุรกรรมออนไลน์ การทำธุรกรรมที่มีจำนวนมหาศาล ทำให้ยากกับการตรวจสอบได้อย่างทั่วถึง เกิดพื้นที่ในการทำธุรกรรมที่ลุกลามไปยังส่วนที่ตรวจสอบไม่ได้ เช่น Dark Web อาจมีธุรกรรมที่ไม่ได้ถูกคัดกรอง และเป็นภัยคุกคามต่อสังคม รวมถึงมีผู้แสวงหาประโยชน์จากการสร้างสิทธิสำหรับการทำธุรกรรม โดยที่ผู้ทำธุรกรรมถูกคิดค่าสิทธิโดยไม่สมัครใจ หรือเป็นช่องทางให้ถูกรีดไถ จนกระทั่งทำให้ประชาชนกลัวการใช้งานและลดความเชื่อมั่นต่อการทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์ในที่สุด
2.อนาคตของปัญญาประดิษฐ์ (Future of Artificial Intelligence)
จากการศึกษาภาพอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า พบว่า ภาพอนาคตที่มีความเป็นไปได้หรือ Probable Futures กระบวนการทำงานในอนาคต จะยกระดับให้เหนือชั้นด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่มีความรวดเร็ว แม่นยำ และเกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด โดยเฉพาะงานที่มนุษย์สามารถทำงานได้ลำบากหรือมีความเสี่ยงสูง เช่น งานในพื้นที่อันตราย หรืองานที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ เป็นต้น
ขณะที่การใช้งาน AI จะมีการนำไปประยุกต์ใช้ในหลายหน่วยงาน รวมถึงรายบุคคล ในเนื้องานที่หลากหลาย เช่น สแกนสินค้าชำระเงิน และใช้ตรวจร่างกายผู้ป่วย ทว่าบทบาท AI จะยังคงอยู่ในลักษณะของผู้ช่วยที่สามารถสื่อสารความคิดและข้อเท็จจริงได้ แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายยังคงต้องมาจากมนุษย์เป็นหลัก รวมถึงในอนาคต AI จะยิ่งล้ำหน้าพัฒนาให้มีรูปลักษณ์ใกล้เคียงความเป็นมนุษย์มากที่สุด ใช้ชีวิตร่วมกับผู้คน จนเกิดเป็นชุมชน AI และเกิดการตั้งคำถามเชิงจริยธรรม สู่การกำหนดกฎระเบียบและบทลงโทษของ AI รวมถึงแนวปฏิบัติของมนุษย์ที่พึงมีต่อ AI
สำหรับภาพ Worst Case Scenario หากอนาคตเกิดเหตุการณ์เลวร้ายจึงนำมาสู่การตั้งชื่อภาพอนาคตว่า “Big Brain Colonization” ซึ่งอาจมีทั้ง
(1) การลดทอนความสำคัญการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ เนื่องจาก ถูกให้ความสำคัญกับการพัฒนา AI มากเกินไป ทำให้ AI มีความสามารถในการเรียนรู้ที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของมนุษย์จนสามารถทำแทนมนุษย์ได้ทุกด้าน เช่น การคำนวณ ศิลปะ หรืองานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทำให้มนุษย์จากที่เป็นผู้สร้างผลผลิต กลายเป็นผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว
(2) คนถูกแย่งงาน AI มาแทนที่ได้อย่างสมบูรณ์ เกิดการจ้างงานในส่วนที่เป็นมนุษย์น้อยลง หรือ ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด อาจเกิดการเสื่อมถอยของสังคมมนุษย์ เนื่องจากมีการเรียนรู้น้อยลง ในขณะที่ฝั่ง AI มีบทบาทในการครอบงำมนุษย์สูงขึ้น จนกระทั่งนำไปสู่แนวคิดต่อต้าน AI ในสังคมได้
3.อนาคตของการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Future of Digital Identity)
จากการศึกษาภาพอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า พบว่า ภาพอนาคตที่มีความเป็นไปได้หรือ Probable Futures ในอนาคตข้อมูลของแต่ละบุคคลจะถููกบรรจุุลงในบัตร Smart Card เพื่อใช้พิสูจน์และยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านอุปกรณ์หรือแอปพลิเคชันแบบครบวงจร ทั้งการเชื่อมต่อกับบัตรเครดิต การซื้อขายสินค้า หรือการใช้แทนบัตรโดยสารเดินทาง ซึ่งลดขั้นตอนและทรัพยากรที่่ไม่จำเป็นลง โดยเฉพาะเอกสารที่เป็นกระดาษ
พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการทำธุรกรรมต่างๆ ซึ่งข้อมูลที่ถูกบันทึกเก็บไว้ในบัตรจะกลายเป็นฐานข้อมูลรายบุคคล เพื่อใช้ในการรับบริการของภาครัฐ เช่น การประกันสุขภาพ เงินประกันสังคม หรือเงินสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ และภาคเอกชนก็สามารถใช้ประโยชน์ของฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น ข้อมูลอาชญากรรม และฐานเงินเดือนหรือสวัสดิการในวัตถุุประสงค์ต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขด้านกฎหมายที่่เหมาะสมได้ ไม่เพียงเท่านั้น การพิสูจน์และยืนยันตัวตนในอนาคตอาจอยู่ในรูปแบบของ Biometric Chip ที่ฝังอยู่ในร่างกาย หรือข้อมูลทางชีวภาพต่างๆ เช่น ม่านตา ลายนิ้วมือ หรือใบหน้า ทำให้การยืนยันตัวตนเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีความเสี่ยงที่ถูกแอบอ้างเพื่อนำไปใช้ประโยชน์น้อยลงด้วย
อีกทาง สำหรับภาพ Worst Case Scenario หากอนาคตเกิดเหตุการณ์เลวร้าย จึงนำมาสู่การตั้งชื่อภาพอนาคตว่า “Battle of My Identity” ที่ทุกภาคส่วนต้องเฝ้าระวัง และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งอาจมีทั้ง
(1) ความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยกลายเป็นอุปสรรคสำคัญ อวตาร (Avatar) ในโลกเสมือนเปรียบได้กับบัญชีผู้ใช้ (Account) หนึ่ง เป็นตัวตนที่ไม่ได้ถูกตรวจสอบโดยสมบูรณ์ และเชื่อมโยงกับตัวตนในโลกจริง ทำให้สามารถสร้าง Avatar เพิ่มได้ไม่จำกัดจำนวน อีกทั้ง ยังสามารถถูกแย่งชิงหรือโอนย้ายความเป็นเจ้าของได้ ก่อให้เกิดช่องว่างในการแสวงหาผลประโยชน์ที่ผิดกฎหมาย จนถึงขั้นเกิดตลาดมืดสำหรับการซื้อขายตัวตน หรือปลอมแปลงตัวตนทางดิจิทัล
(2) การสืบหาตัวตนผู้กระทำผิดเป็นไปได้ยาก เมื่อการสืบหาตัวตนทางกายภาพจากตัวตนดิจิทัลเป็นไปได้ยาก จึงนำไปสู่การเอื้อให้เกิดการกระทำความผิดบนพื้นที่โลกเสมือน เช่น การฉ้อโกง หรือการคุกคามต่างๆ โดยหลีกเลี่ยงการรับผิด เพราะไม่สามารถบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลงโทษผู้ควบคุม Avatar ดังกล่าวได้
4.อนาคตของอินเทอร์เน็ต (Future of Internet)
จากการศึกษาภาพอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า พบว่า ภาพอนาคตที่มีความเป็นไปได้หรือ Probable Futures สัญญาณอินเทอร์เน็ตในอนาคต จะแผ่ขยายออกไปกว้างขวาง และผู้คนเข้าถึงได้ทุกแห่งด้วยต้นทุนต่ำ เพราะเกิดผู้เล่นรายย่อยเข้ามาแข่งขันผู้ให้บริการรายใหญ่ ทำให้การพัฒนาอินเทอร์เน็ตมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงนำไปสู่พฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบใหม่ เช่น พื้นที่ออฟฟิศที่น้อยลง และการลดการใช้พลังงานสำหรับการเดินทางหรือภายในอาคาร ขณะเดียวกันจะมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาแทนที่การส่งผ่านคลื่นวิทยุุภาคพื้นทวีป เช่น อินเทอร์เน็ตดาวเทียม หรือการใช้ตัวกลางอย่างแสง แทนสัญญาณวิทยุุ ทำให้การส่งต่อข้อมูลปราศจากสิ่งรบกวน รวดเร็ว ปลอดภัย และอาจนำไปใช้ในการผ่าตัดทางไกลโดยใช้คนควบคุม หรืองานที่มีความละเอียดอ่อนสูงได้ นอกจากนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชนจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้อยู่ในลักษณะการกระจายศูนย์ บทบาทของผู้ผลิตเนื้อหาออนไลน์มากขึ้น ในขณะที่บทบาทของผู้ให้บริการหรือเจ้าของแพลตฟอร์มลดน้อยลง มีการกำหนดทิศทางของเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มให้มีความเป็นประชาธิปไตยขึ้น ทำให้การปิดกั้นข้อมูลต่างๆ เป็นไปได้ยากกว่าเดิม
ส่วนการมองภาพ Worst Case Scenario ที่เกิดเป็นภาพอนาคต “Algorithmic Dystopia” ที่ทุกภาคส่วนต้องเฝ้าระวัง และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น โดยเหตุการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นมีทั้ง
(1) การคัดกรองและการตรวจสอบข้อมูลเป็นไปได้ยาก เนื่องจากอินเทอร์เน็ต ใช้เป็นช่องทางหลักในการส่งต่อข้อมูลและสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม ทำให้เกิดการไหลผ่านของข้อมูลในปริมาณมหาศาล
(2) ความเสี่ยงจากการสร้างเรื่องรุนแรงบนอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนกลุ่มต่างๆ อย่างเป็นอิสระ ก่อให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ความคิดเห็นด้านลบ และการหลอกหลวงมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การสร้างความรุนแรงบนโลกดิจิทัลต่างๆ เช่น การโจมตีเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือการช่วงชิงข้อมูลที่เป็นความลับ ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ การไหลผ่านของข้อมูลจำนวนมาก ยังสร้างรอยเท้าดิจิทัล และถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างความเสียหายแก่บุคคลนั้นๆ รวมถึงอาจถูกใช้ติดตามและควบคุมพฤติกรรมของผู้คน จนกระทั่งลดทอนการแสดงออกอย่างเสรีภาพ
จะเห็นว่า การมองภาพอนาคตของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ผ่านการใช้เครื่องมือ Foresight ทำให้เราได้เห็นภาพอนาคตหลายแบบ พร้อมส่งสัญญาณเชิงบวก และเชิงลบที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น การส่งสัญญาณเตือนเหล่านี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เฝ้าระวัง และหาทางป้องกัน (อนาคตเหตุการณ์เลวร้าย) ไม่ให้เกิดขึ้นหรือลดทอนความรุนแรง รวมถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน สามารถนำมาใช้วางแผนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงได้ หรือวางกลยุทธ์เร่งผลักดันเพื่อให้เกิดภาพอนาคตที่พึงประสงค์ได้ เช่น การวางแผนการบริหารจัดการองค์กร การพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่บุคลากร เพื่อรับมือกับโลกอนาคต เป็นต้น ขณะเดียวกัน ก็สามารถแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนแผนธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยไปในทิศทางใดในอนาคต
ดั่งคำปรัชญาของอาหรับโบราณที่ว่า “ถ้าคุณจะยิงธนูให้ไกลที่สุดและแรงที่สุด คุณต้องน้าวสายธนูกลับไปให้ไกลที่สุด เพราะฉะนั้นเมื่อวาดแผนภูมิ สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่แค่คนที่ยืนอยู่ แต่ต้องมีภูมิหลังจากอดีตด้วย เพื่อนำมาประกอบในการคิดไปสู่อนาคต และหาจุดที่เราต้องการจะก้าวไปยังอนาคตให้ได้ว่า องค์กร หน่วยงาน ต้องการจะขับเคลื่อนไปทางใด จุดนี้สำคัญที่สุดในกระบวนการ Foresight” ตามที่ ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ ณ งาน ETDA Digital Foresight Symposium 2022: Future Ready: Advancing Thailand for Digital Forward