รมว.พาณิชย์สหรัฐ ชื่นชมไทยมีระบบสื่อสารโทรคมนาคมระดับแถวหน้าแห่งเอเชีย

15 มี.ค. 2567 | 10:11 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2567 | 11:03 น.

ประธาน กสทช. ผนึกความร่วมมือสหรัฐ ผลักดันยกระดับ WIFI 6E พัฒนาสาธารณสุข นำร่องด้วยงบประมาณหนุน Metaverse ศูนย์กายวิภาคศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พร้อมขยายวงพัฒนาด้านอื่นๆ ในอนาคต

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) พร้อมด้วย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หารือร่วมกับ นาง Gina Raimondo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ และนาย Kevin Toohers ผู้จัดการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก USTDA เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 

ยกระดับความร่วมมือพัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคม และทั้งหมดได้เป็นสักขีพยาน การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) สนับสนุนโครงการใช้ WIFI 6E เพื่อบริการสาธารณสุขที่ดีขึ้นของประเทศไทย ระหว่าง นาย Robert F. Godec เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และ ศาสตราจารย์คลินิก นพ. อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือกับสหรัฐในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการสนับสนุนเทคโนโลยี WIFI 6E ของประเทศไทยในภาคีต่างๆที่สำคัญ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ กสทช. ที่มุ่งมั่นผลักดันระบบ WIFI 6E ซึ่งคุณภาพสัญญาณรวดเร็วและมีประสิทธิภาพไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ดียิ่งขึ้น

“การหารือกับรมว.พาณิชย์สหรัฐ เป็นสัญญาณที่ดีในความร่วมมือกับทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะสนับสนุนให้เกิด Use Case ที่ใช้ประโยชน์จากโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งรมว.พาณิชย์สหรัฐ ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยว่าเป็นประเทศที่อยู่อันดับต้นๆ ในเอเชียที่มีบริการสื่อสารโทรคมนาคมที่ครอบคลุม ทั่วถึง และรวดเร็ว” 


 

ศาสตราจารย์นพ.สรณ กล่าวด้วยว่า การลงนาม MoU ระหว่างคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี กับสหรัฐอเมริกา จะมีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ WIFI 6E เพื่อกิจการด้านสาธารณสุขของไทยให้ทันสมัย เข้าถึงประชาชน และเกิดการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการแพทย์ในระยะยาวต่อไป 

ด้านนาย Robert F. Godec เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย แสดงความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของ กสทช. ที่ได้ให้การสนับสนุนให้เกิดการทดสอบการใช้คลื่นความถี่เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะในแง่การสาธารณสุข 

ก่อนหน้านี้ กสทช. ริเริ่มความมือกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นำระบบ WIFI 6E ผ่านการส่งเสริมโครงการการเรียนการสอนด้านกายวิภาคศาสตร์ (Clinical Anatomy) โดยใช้เทคโนโลยี Metaverse และการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Virtual Reality for Palliative Care) และได้เตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลมาต่อเนื่อง 

โดยเฉพาะด้านการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ เช่น ได้กำหนดให้คลื่นความถี่ 5.925-6.425 GHz หรือย่าน Lower 6 GHz ที่อนุญาตให้มีการใช้งานเป็นการทั่วไป หรือการใช้งานแบบ unlicensed เพิ่มเติมคลื่นความถี่ย่าน 2.4 GHz และ 5GHz ซึ่งจะช่วยลดความแออัดของการใช้งานในปัจจุบัน อาทิ Wi-Fi และอุปกรณ์สื่อสารระยะสั้นต่างๆ และยังสามารถรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในอนาคต เช่น Wi-Fi7 เป็นต้น 

นอกจากนี้ กสทช.ยังสนับสนุนการสร้างนวัตกรรม และการเตรียมความพร้อมสำหรับเปิดประมูลคลื่นความถี่สำหรับเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ (IMT) ในอนาคต รวมถึง use case ใหม่ๆ ที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการใช้งานอุปกรณ์ VR AR และ XR เพิ่มโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ ควรส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเทคโนโลยีทั้งระบบ จะพลิกโฉมหน้าประเทศไทยได้ในอนาคต