นายปริชญ์ รังสิมานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ลูลู่ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวในงานสัมมนา กรุงเทพธุรกิจ AI Revolution 2025: A New Paradigm of New World Economy หัวข้อ Special Talk: Unlocking Unlimited for Growth ว่า แม้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Agentic AI จะพัฒนาแบบก้าวกระโดด แต่ประเทศไทยยังมีผู้ใช้งานจริงในระดับต่ำอย่างน่าตกใจ ทั้งที่มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในวงสัมมนา ภาคธุรกิจกลับนำไปใช้เพียงบางกลุ่ม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น ธนาคาร โทรคมนาคม และประกันภัย ส่วนภาคเกษตร ภาคบริการ รวมถึงธุรกิจ SME ยังคงเคลื่อนไหวช้า
ในอดีตทุกครั้งที่เกิด Technological Revolution ต้นทุนการผลิตจะลดลงอย่างมหาศาล ย้อนกลับไปในยุคเครื่องจักรไอน้ำ ต้นทุนการผลิตผ้าลดลงถึง 66% แต่ก็นำมาซึ่งการตกงานครั้งใหญ่ เพราะผู้คนยังไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับวันนี้ที่หลายภาคส่วนในไทยยังไม่ตระหนักว่า ‘สึนามิ’ แห่งการเปลี่ยนแปลงได้มาถึงแล้ว
การปฏิวัติครั้งต่อมาคือยุคไฟฟ้า ที่ Ford เป็นผู้นำในการใช้กระแสไฟฟ้าสร้างสายพานการผลิต ส่งผลให้ต้นทุนลดลง 70% ภายในเวลา 10 ปี และสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มจาก 20% เป็น 55% ขณะที่ผู้ผลิตรายอื่นยังคงยึดติดอยู่กับเครื่องจักรไอน้ำเช่นเดิม
เช่นเดียวกับยุคคอมพิวเตอร์ที่เปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมแบบถอนรากถอนโคน ธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันต่างล้มหายไปจากตลาด หากประเทศไทยยังคงนิ่งเฉยในวันนี้ ก็ไม่ต่างจากบทเรียนในอดีตที่ซ้ำรอยเดิม
ข้อมูลเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันสะท้อนสัญญาณชะลอตัวชัดเจน ยอดขายรถยนต์ สมาร์ทโฟน และพีซี ลดลง ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐกว่า 694 ราย ยื่นล้มละลายในปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีไม่ได้พัฒนาเพียงเชิงปริมาณ แต่กำลังเปลี่ยนแกนกลางของระบบเศรษฐกิจ
จาก Moore’s Law สู่ Wright’s Law ต้นทุนของเทคโนโลยีใหม่ลดลงอย่างรวดเร็ว เช่น หุ่นยนต์อุตสาหกรรมลดลง 50% ต้นทุนแบตเตอรี่ลดลง 28% การอ่านดีเอ็นเอลดลง 40% และค่าใช้จ่ายในการเทรน AI ลดลง 70% ซึ่งหมายความว่า ประเทศที่ลงทุนด้านนี้จะสามารถเพิ่มผลิตภาพได้ในอัตราสูง ขณะที่ไทยยังใช้แรงงานราคาถูกและพึ่งพาแรงงานเพื่อนบ้านเป็นหลัก
ตัวอย่างการใช้ AI อย่างได้ผล เช่น ชไนเดอร์ ที่ใช้คาดการณ์การซ่อมบำรุง (Predictive Maintenance) สามารถลดต้นทุนได้ถึง 44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์ 25% ฟูจิตสึใช้คอมพิวเตอร์วิชั่นควบคุมคุณภาพ ลดการใช้แรงงาน 25% และเพิ่มการป้องกันข้อผิดพลาด 50% ส่วน Expedia แทนที่พนักงานบริการลูกค้าด้วย AI มากกว่า 1 ล้านชั่วโมงในปีเดียว
ในภาคการเกษตร John Deere ใช้ AI แยกวัชพืชจากผลผลิต ลดการใช้สารเคมีถึง 90% อาลีบาบาเพิ่มลูกหมูได้เฉลี่ย 3 ตัวต่อแม่หมู โรงแรมแมริออทใช้การปรับแต่งแบบเฉพาะบุคคล (Personalization) เพิ่มยอดจอง 20% วอลมาร์ทและ UPS ลดการใช้น้ำมันหลายล้านแกลลอนต่อปีด้วยการจัดการเส้นทางขนส่งด้วย AI
การพัฒนาเหล่านี้สะท้อนว่าเพียงการมี “เซอร์วิสที่ดี” ไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะการแข่งขันในระดับโลกอยู่ที่ประสิทธิภาพและต้นทุนที่ลดลงได้อย่างต่อเนื่อง เช่น ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม คอลเซ็นเตอร์หลายแห่งเริ่มลดจำนวนพนักงาน เพราะ AI สามารถสรุปบทสนทนา วิเคราะห์ปัญหา และปิดยอดขายได้แม่นยำยิ่งกว่า
นายปริชญ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ได้พัฒนาเทคโนโลยี AI ให้กับบริษัทชั้นนำในหลายอุตสาหกรรม เช่น เทเลเมดิซีนที่ใช้งานในกว่า 40 โรงพยาบาล มีผู้ใช้บริการแล้วกว่า 10,000 ราย ช่วยลดขั้นตอนวินิจฉัยโรค และสรุปรายงานผู้ป่วยแบบอัตโนมัติ รวมถึงร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่สามารถลดการสูญเสียจากสินค้าหมดอายุไปได้หลักสิบล้านบาท
นอกจากนี้ยังมี SME รายเล็กที่ประสบความสำเร็จในการใช้ AI เช่น ธุรกิจขายปุ๋ย ที่นำ AI มาช่วยติดตามข่าวสารราคาวัตถุดิบทั่วโลกแบบเรียลไทม์ ช่วยในการตัดสินใจซื้อขายอย่างแม่นยำ หรือการใช้ AI แปลงเสียงของพนักงานขายให้กลายเป็นรายงานอัตโนมัติ ลดภาระการเขียนและเพิ่มคุณภาพข้อมูล
ลูลู่ เทคโนโลยี ยังได้นำ AI เข้ามาช่วยในสายการผลิต เช่น โรงงานผลิตน้ำดื่ม ที่ต้องการระบบซ่อมบำรุงล่วงหน้า (Predictive Maintenance) เพื่อไม่ให้สายการผลิตหยุดชะงัก และสามารถคาดการณ์ปัญหาได้ก่อนเกิดเหตุจริง
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ ความสามารถของ AI ไม่ได้จำกัดเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ แต่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับธุรกิจทุกระดับ หากมุ่งหวังเพิ่มกำไร ลดต้นทุน และปรับตัวสู่อนาคต
ปัจจุบัน 95% ของบริษัทไทยยังอยู่ในสถานะ “ไม่ขยับ” ทั้งที่การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นต่อหน้า หากยังรอให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวโดยไม่ลงทุนหรือปรับตัว ผลที่ตามมาอาจรุนแรงกว่าที่คาด เพราะประเทศอื่นจะยิ่งเร่งเครื่องในการพัฒนา AI สวนทางกับไทยที่ยังใช้แรงงานราคาถูกเป็นเครื่องมือหลัก
แม้ภาคผู้บริโภคไทยมีความตื่นตัว แต่การใช้งานจริงยังต่ำอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนปัญหาทางโครงสร้างที่ต้องการแรงกระตุ้นจากภาครัฐและเอกชน พร้อมทั้งการลงทุนด้านนวัตกรรมและบุคลากร
"ผู้ที่พร้อมเดินหน้าในวันนี้ คือผู้ที่ได้เปรียบในวันพรุ่งนี้ ส่วนผู้ที่ยังรอ อาจกลายเป็นเพียงอดีตของวงจรเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วย AI เป็นตัวกำหนด"