ฐานเศรษฐกิจ เกาะติดผลการประชุมร่วมรัฐสภา คือ มีทั้งส.ส. และ ส.ว. เพื่อ "โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30" ของประเทศไทย ในวันพฤหัสบดีที่ 13 ก.ค. 2566 ที่ฝ่ายของผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล เฝ้ารอคอยว่า "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดเดตนายกฯพรรคก้าวไกล" จะได้เป็นนายกฯหรือไม่
การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกฯ เกิดขึ้นหลังจากกนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการรัฐสภา ทำหนังสือ ด่วนมากที่ สผ 0014/ร1 ถึง ส.ส.และ ส.ว.เรื่อง การประชุมร่วมรัฐสภา โดยระบุว่า
เนื่องด้วยประธานรัฐสภา ได้มีคำสั่งให้นัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ในวันที่ 13 ก.ค.66 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต กทม.
โดยมีวาระสำคัญคือ การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา นัดประชุมคณะกรรมการประสานงานวุฒิสภา หรือ วิปวุฒิสาในวันที่ 11 ก.ค. 66 รวมถึงตัวแทนพรรคการเมือง มาประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจในการประชุม และลงมติ เพื่อให้การประชุมในวันดังกล่าวเป็นไปอย่างกระชับขึ้น โดยจะต้องยึดตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมอย่างเคร่งครัด
ส่วนบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จำเป็นจะต้องแสดงวิสัยทัศน์ก่อนหรือไม่นั้ นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุว่า การแสดงวิสัยทัศน์นั้น ตามข้อบังคับการประชุมไม่ได้กำหนดไว้ แต่หากมี ส.ส. หรือ ส.ว.เสนอขึ้นมาเป็นญัตติให้ต้องมีการแสดงวิสัยทัศน์ ก็จะต้องขอมติจากที่ประชุมก่อน
ไทม์ไลน์การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ว่าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เปิดเผยว่า ได้วางไทม์ไลน์วันเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ถึง 3 รอบ 3 วันด้วยกันคือ
"คาด 3 วันนี้ก็น่าจะเพียงพอได้นายกรัฐมนตรีแล้ว ถ้าไม่ได้ก็จะคุยกันใหม่ โดยจะเปิดโอกาสให้ 3 ครั้งก่อน เพราะการเรียกประชุมบ่อยๆและใช้สมาชิก 750 คนก็ค่อนข้างลำบาก เวลา 3 วันก็เยอะแล้วและอยากให้ได้ภายใน 3 วันนี้" นายพิเชษฐ์ กล่าว
ส่วนกรณีถ้าหากกำหนดไว้ 3 ครั้งแรกแล้วยังไม่ได้นายกรัฐมนตรีจะมีการพูดคุยกันใหม่หรือพลิกให้พรรคเพื่อไทย มานำในการจัดตั้งรัฐบาล นายพิเชษฐ์ ระบุว่า แล้วแต่ที่ประชุมรัฐสภาและที่ประชุม 8 พรรค ที่ต้องทำตาม MOU ที่จะต้องจับมือกันไป ซึ่งต้องพูดคุยกันเป็นการภายในไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
ไทม์ไลน์ข่าวความคืบหน้าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 อัพเดทล่าสุด ด้านล่าง
11 ก.ค. 66
12 ก.ค. 66
เวลา 16.20น. เพจพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
ก้าวไกลขอเชิญทุกคนร่วมทำภารกิจด่วน! "พฤหัสสีส้ม" เชิญชวนทุกคนร่วมใส่เสื้อผ้าสีส้ม ติดสัญลักษณ์ ร่วมสื่อสารทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสนับสนุนให้รัฐสภาลงมติโหวต พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ให้สำเร็จ โดยทุกคนสามารถออกมาร่วมติดตามผลการโหวตของรัฐสภาได้ที่แต่ละจุดใกล้บ้านท่านทั่วประเทศ แต่หากใครอยู่กรุงเทพ เราชวนทุกท่านมาร่วมติดตามกันที่รัฐสภา แยกเกียกกาย ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 โดยพร้อมเพรียงกัน
13 ก.ค. 66
เวลา 18.25 น. สรุปผลคะแนน #โหวตนายก อย่างเป็นทางการ มติดังนี้
องค์ประชุม 705
เห็นชอบ 324
ไม่เห็นชอบ 182
งดออกเสียง 199
ทำให้นายพิธา ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะคะแนนเสียงเห็นชอบไม่ถึง 375 เสียง หรือ ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา
ส.ว. 13 คน ร่วมโหวตหนุน "พิธา" เป็นนายกฯ
ในการลงมติของสมาชิกวุฒิสภา มีสมาชิกวุฒิสภาเพียง 13 คน เท่าทั้น ที่ลงมติเห็นชอบให้นายพิธา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้แก่ นายไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์, พันตำรวจเอกจรุงวิทย์ ภุมมา, นายเฉลา พวงมาลัย, นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล, พลตำรวจโทณัฏฐวัฒก์ รอดบางยาง, นายพิศาล มาณวพัฒน์, นายพีระศักดิ์ พอจิต, นายมณเฑียร บุญตัน, นายวันชัย สอนศิริ, นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์, นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ, นายอำพล จินดาวัฒนะ และนางประภาศรี สุฉันทสุบุตร โดยสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ ได้ลงมติงดออกเสียง และไม่เห็นชอบ
เปิดรายชื่อ 43 ส.ว. ไม่มาร่วมประชุม
นอกจากนั้น ยังพบว่า มีสมาชิกวุฒิสภา ที่ไม่ได้มาลงคะแนน 43 คน ได้แก่ นางกอบกุล อาภากร ณ อยุธยา, นายกิตติ วะสีนนท์, นายเจน นำชัยศิริ, นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ, พลเอกชัชวาลย์ สุขสมจิตร์, พลเอกเชวงศักดิ์ ทองสลวย, พลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน, พลเอกดนัย มีชูเวท, นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์, นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม, พลเรือเอกนพดล โชคระดา, พลเอกนพดล อินทปัญญา, นายบุญมี สุระโคตร, นางเบญจรัตน์ จริยธาราสิทธิ์
นายประมาณ สว่างญาติ, นางประยูร เหล่าสายเชื้อ, พลตำรวจตรีปรัชญ์ชัย ใจชาญสุขกิจ, พลเรือเอกปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ, นายพิทักษ์ ไชยเจริญ, พลเอกไพโรจน์ พานิชสมัย, นางสาวภัทรภร วรามิตร, นายภาณุ อุทัยรัตน์, พลเอกเลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์, พลเอกวราห์ บุญญะสิทธิ์, นายวิชัย ทัตตภักดี, นายศรีศักดิ์ วัฒนพรมงคล, นายศักดิ์ไทย สุรกิจบวร, พลเรือเอกศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, นายสม จาตุศรีพิทักษ์, นายสมชาย หาญหิรัญ, นายสำราญ ครรชิต
พลอากาศเอกสุจินต์ แช่มช้อย, นางสุนี จึงวิโรจน์, พลอากาศเอกอลงกรณ์ วัณณรถ, พลเอกอักษรา เกิดผล, นายอุดม วรัญญูรัฐ และนายอุปกิต ปาจรียางกูร รวมไปถึงสมาชิกวุฒิสภา ที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม และผู้นำเหล่าทัพ โดยที่นางสาวเรณู ตังคจิวางกูร สมาชิกวุฒิสภา ได้ยื่นหนังสือขอลาออก เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา
สำหรับการลงมติของ ส.ส. 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลนั้น พบว่า เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เห็นชอบให้นายพิธา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งรวมไปถึงนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล และนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 และ 2 เว้นเพียงนายวันมูหะนัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ที่งดออกเสียงเพื่อรักษาความเป็นกลางทางการเมือง
ส่วนการลงมติของกลุ่มพรรคการเมืองที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลรักษาการในปัจจุบันนั้น ส.ส.พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ ทั้งหมด ลงมติไม่เห็นชอบ, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนากล้า งดออกเสียง
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการลงมติเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น นายนพดล มาตรศรี ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ขอเปลี่ยนมติการลงคะแนน เนื่องจาก ได้ขานมติผิดจาก "งดออกเสียง" เป็น "เห็นชอบ" จึงได้ขอแก้ไขในภายหลัง แต่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้ประท้วง เนื่องจาก หากอนุญาตให้ ส.ส.เปลี่ยนคะแนนระหว่างการลงคะแนน ก็อาจจะเป็นบรรทัดฐานการประชุมในอนาคต เพราถือว่า ได้มีการลงคะแนนไปแล้ว ไม่ควรเปลี่ยนได้ จนทำให้ที่ประชุมต้องถกเถียงกัน แต่สุดท้าย นายวันมูหะมัดนอร์ ได้ชี้ขาดว่า สามารถแก้ไขได้ เพราะนายนพดล ได้ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนมติแล้ว