“ปราบคอร์รัปชัน” นโยบายหาเสียงที่ถูกลืมยุคประชานิยม

22 ม.ค. 2566 | 22:30 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2566 | 08:22 น.

ฟังมุมมอง “อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์” ผอ.สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง แนะนโยบาย “ปราบทุจริตคอร์รัปชัน” นโยบายหาเสียงที่ถูกลืมยุคประชานิยม

เข้าใกล้ฤดูเลือกตั้งเข้าไปทุกที พรรคการเมืองสารพัดต่างงัดนโยบายหาเสียงออกมาทำคะแนนดึงดูดความสนใจของประชาชนกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะ “นโยบายประชานิยม” ลดแลกแจกจ่าย ทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มกำลังซื้อ ลดภาษี และยังมีมาตรการช่วยเหลือภาคการเกษตรอีกหลายนโยบาย ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบจนสะเทือนไปถึงภาระงบประมาณ และหนี้ของประเทศที่พุ่งสูงขึ้น

ฐานเศรษฐกิจได้มีโอกาส พูดคุยกับ ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ได้วิเคราะห์สิ่งที่ประเทศไทยต้องเผชิญจากนโยบายประชานิยมพรรคการเมือง อย่างน่าสนใจว่า การทำนโยบายประชานิยมในปัจจุบันไม่ใช่สูตรสำเร็จสำหรับประเทศไทย เพราะสิ่งที่ควรจะทำมากที่สุดคือนโยบายเกี่ยวกับ "การปราบทุจริตคอร์รัปชัน"

นั่นเพราะในปัจจุบันประเทศไทยมีคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ซึ่งจัดองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) ลดลง โดยได้คะแนนดัชนีรับรู้การทุจริตอยู่ในอันดับที่ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และตกอยู่ในอันดับที่ 6 ของอาเซียน

 

ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย

ศ.ดร.อรรถกฤต กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ฯ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิชาการของมหาวิทยาลัยแคมยอง ประเทศเกาหลีใต้ มีตัวอย่างหนึ่งของนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองที่เห็นผลชัดเจนที่สุด นั่นคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ครั้งล่าสุด นายยูน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ปัจจุบัน ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากประชาชนสูงสุด หลังจากประกาศนโยบายการปราบทุจริตคอร์รัปชันเป็นหลักแทนนโยบายประชานิยม

“ตัวอย่างของเกาหลีใต้ชัดเจนมาก เพราะนายยูน ซอก-ยอล ประกาศนโยบายหาเสียงหลัก ๆ คือ จะปราบคนโกง ทุจริตคอร์รัปชัน จนได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ก็ทำจริง ๆ ซึ่งประเทศไทยเองก็ควรหันมามองนโยบายอะไรในลักษณะนี้ เพื่อทำให้เกิดการปฏิรูปนอกเหนือจากเศรษฐกิจ เพราะถ้ามีนโยบายอะไรสำคัญ ๆ เกี่ยวกับการลดปัญหาคอร์รัปชันได้ ซึ่งอาจจะดีกว่าการทำประชานิยมด้วยซ้ำ” ศ.ดร.อรรถกฤต ระบุ

พร้อมกันนี้ยังได้ยกตัวอย่างนโนบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยมสำคัญของหลายพรรคการเมืองที่หยิบยกขึ้นมาเรียกคะแนนเสียง แม้นโยบายนี้จะเรียกเสียงฮือฮาได้ดี แต่ในภาวะที่คนไทย และเด็กจบใหม่ยังว่างงานอยู่จำนวนมาก สิ่งที่พรรคการเมืองควรจะทำมากกว่าการโหมนโยบายขึ้นค่าแรงนั่นคือ การส่งเสริมการจ้างงานเป็นอันดับแรกจะส่งผลดีมากกว่า

 

ภาพประกอบข่าวนโยบายประชานิยมพรรคการเมือง

“นโยบายการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ จริง ๆ ก็เพิ่มได้ แต่อย่าลืมว่าตอนนี้ยังมีคนตกงานอยู่มาก ดังนั้นนโยบายที่ดีควรแก้ปัญหาให้ตรงจุดก่อนที่จะคิดเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะหลักการลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายรายได้ที่ดี คือ ต้องส่งเสริมการจ้างงานให้เกิดขึ้น ดันแรงงานที่อยู่นอกระบบเข้ามาในระบบ ที่สำคัญยังช่วยให้รัฐจัดเก็บรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาใช้ชำระหนี้ต่าง ๆ ได้” 

อีกหนึ่งเรื่องที่ลืมไปไม่ได้ นั่นคือต้นทุนการทำนโนบายล้วนมีผลกระทบต่อภาระงบประมาณของประเทศ โดยที่ผ่านมาแทบจะไม่เคยเห็นว่ามีพรรคการเมืองไหนวางแผนเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับหนี้สาธารณะ

ทั้งนี้เพราะจากข้อมูลภายใต้แผนการเงินการคลังในระยะปานกลาง คือระหว่างปีงบประมาณ 2566-2570 จะพบยอดหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 11 ล้านล้านบาทในปี 2566 ก่อนจะพุ่งสู่งขึ้นไปอยู่ที่ 13-14 ล้านล้านบาทในปี 2570 หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60-61% ต่อ GDP 

 

แผนการเงินการคลังในระยะปานกลาง ระหว่างปีงบประมาณ 2566-2570

 

ศ.ดร.อรรถกฤต ยอมรับว่า ตามหลักทฤษฎีแล้วสัดส่วนหนี้สาธารณะไม่ควรจะเกิน 60% ต่อ GDP แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP ไปอยู่ที่ 70% ก็ตาม แต่เมื่อกลับมาดูพรรคการเมืองต่าง ๆ หลายพรรคอัดนโยบายประชานิยมเต็มที่ เพื่อเอาคะแนนเสียงมาให้ได้นั้น ภายใต้แผนการเงินการคลังระยะปานกลาง ก็ยังไม่ได้ใส่นโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองเข้าไปด้วย ดังนั้นจึงถือว่ามีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่ตัวเลขหนี้สาธารณะคงค้างจะพุ่งขึ้นไปสูงกว่านี้ 

“การคิดนโยบายของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ จะถูกคิดมาจากประสบการณ์ของนักการเมืองที่ต้องการคะแนนเสียงโดยไม่ดูมุมมองของภาควิชาการเท่าที่ควร นั่นจึงสร้างปัญหาเรื้อรังไปเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่า คงจะเป็นเรื่องดีหากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. มีงบก้อนหนึ่งไปให้พรรคการเมืองตั้งศูนย์วิจัยของพรรค มีนักวิชาการในพรรคช่วยคิดนโยบายให้รอบคอบกว่านี้ ไม่ใช่ออกมาแบนโยบายเพื่อถลุงเงินละลายแม่น้ำเหมือนที่เคยเกิดขึ้นให้เห็นอยู่เป็นประจำ”ผอ.สัญญาธรรมศักดิ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย