หลังจากผ่านการแถลงข่าวร่วมจัดตั้งรัฐบาลโดย 8 พรรคการเมือง นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และแกนนำพรรคการเมืองที่จะเข้าร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 พร้อมระบุถึงวันลงนามMOU ของทุกพรรคในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อแสดงถึงการทำงานร่วมกัน และจะแถลงต่อสาธารณชนในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เพื่อแก้ไขวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ
ในความเห็นของนักวิชาการ ได้วิเคราะห์กับฐานเศรษฐกิจ ถึงเหตุผลในการเลือกวันที่ 22 พฤษภาคม เป็นวันลงนาม และประกาศ MOU ไว้อย่างน่าสนใจ
รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง มองการใช้วันที่22 พฤษภาคม เป็นวันลงนามMOUว่า ก็แค่เป็นวันจันทร์ก็เท่านั้น ไม่ใช่สาระสำคัญ ที่ควรให้ความสำคัญคือ อยากให้คนที่เป็นส.ส. ไม่ว่าฝ่ายค้าน หรือ รัฐบาลควรดึงอำนาจนี้กลับสู่สภาผู้แทนราษฎร ตามผลของการเลือกตั้ง ปลดแอกออกจากอำนาจนอกระบบ เพื่อให้ประเทศได้เดินหน้าต่อไปได้
อีกหนึ่งวันที่มีความสำคัญ นั่นก็คือวันเลือกประธานสภา เพราะเป็นวันที่ชี้ว่าใครคือเสียงข้างมากที่แท้จริง ซึ่งควรจะเป็นคนของพรรคก้าวไกล แต่จะต้องมีภาพของการเสนอชื่อเป็นประธานสภาแข่ง เป็นปกติ เหมือนครั้งที่แล้ว ก็มีคุณชวน หลีกภัย ถูกเสนอชื่อขึ้นมาแข่ง ซึ่งโดยปกติแล้วชื่อประธานสภาที่ถูกเสนอขึ้นมาเพื่อแข่งขันนั้น มักมาจากฝ่ายตรงข้าม
สำหรับขั้นตอนการโหวตประธานสภา จะมีปัญหาหรือไม่นั้น อ.สุขุมระบุว่า ไม่สามารถทราบได้ แต่ไม่ควรจะมีปัญหา เนื่องจากควรมีการตกลงกันมาก่อนให้เรียบร้อย ทั้งนี้ตำแหน่งประธานสภาอาจไม่จำเป็นต้องเป็นคนของพรรคที่ชนะอันดับหนึ่งก็ได้ เช่นในรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาคนที่ 1 และนายสุชาติ ตันเจริญ มาเป็นรองประธานสภา เป็นต้น ขึ้นกับการตกลงกัน หลังจากผ่านจากขั้นตอนโหวตประธานสภาไปแล้ว จึงเป็นขั้นตอนของการโหวตนายกรัฐมนตรีโดย 2 สภาซึ่งต้องจับตาดูต่อไป
ด้านผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่าการใช้วันที่ 22 พฤษภาคม เป็นวันลงนาม MOU นั้น คาดว่ามีนัยยะที่เป็นวันครบรอบ 9ปีรัฐประหาร โดยพล.อ.ประยุทธ์ ที่ถือเป็นการสิ้นสุดของพล.อ.ประยุทธ์ และได้เริ่มต้นรัฐบาลใหม่ ซึ่งถือเป็นบวกกับรัฐบาลก้าวไกลในแง่มุมเชิงสัญลักษณ์
โดยแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลมีทิศทางที่เป็นบวก แต่จะสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับบทบาทของพรรคก้าวไกลที่จะทำความเข้าใจกับวุฒิสมาชิก เพื่อให้มีเสียงถึง 376 เสียง ปัจจุบัน ส.ว.เองก็ได้ปรับท่าที และเปิดพื้นที่ให้พรรคก้าวไกลได้อธิบายในสิ่งที่มีความไม่สบายใจมากขึ้น เช่นกรณีม.112 หลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับบทบาทท่าทีของพรรคก้าวไกล ว่าจะเป็นอย่างไร
อ.วันวิชิต ระบุถึงขั้นตอนการโหวตนายกรัฐมนตรีว่า หากคุณพิธาได้รับเสียงโหวตไม่ถึง 376 เสียง ก็จะต้องใช้เวลาในการต่อรองไปอีก จนกว่าจะถึงทางตันจริงๆ พรรคก้าวไกลจึงจะบอกผ่านให้เป็นโอกาสของพรรคเพื่อไทยในการส่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของตนเอง
โดยทั้ง 2พรรคนี้ ควรต้องเกาะกลุ่มกันจัดตั้งรัฐบาล ไม่น่าจะมีการปรับเปลี่ยนหน้าตาพรรคร่วมรัฐบาลที่ต่างไปจากนี้ แต่อาจจะมีคะแนนเสียงโหวตจากส.ว. ที่ได้รับแตกต่างกัน พรรคเพื่อไทยอาจมีเสียงสนับสนุนจากส.ว. ที่มากกว่า
สำหรับการวางตัวประธานสภานั้น คาดว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการต่อรองกัน ระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ซึ่งควรเป็นไปตามครรลองที่เคยกระทำมา ว่าพรรคที่ได้เสียงอันดับ 1 ควรต้องได้เก้าอี้ประธานสภา คาดว่าไม่น่าจะมีอะไรพิสดารไปจากนี้