กางกฎหมาย ที่มารายได้ กับนโยบายหาเสียง พรรคการเมืองต้องปฏิบัติ

10 เม.ย. 2566 | 22:43 น.
อัปเดตล่าสุด :11 เม.ย. 2566 | 00:13 น.

กางกฎหมาย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดให้พรรคการเมือง ระบุที่มารายได้ ความเสี่ยง ความคุ้มค่า ในการประกาศนโยบายหาเสียงแก่ประชาชน

เลือกตั้ง 2566 จะได้เห็นพรรคการเมืองต่างๆ พากันชูนโยบายด้านเศรษฐกิจในหลากหลายมิติ และนโยบายต่างๆเหล่านั้น ล้วนต้องใช้งบประมาณแผ่นดินทั้งสิ้น รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประเมินเม็ดเงินนโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมืองเอาไว้อย่างน่าสนใจ

การวิเคราะห์นี้ เจาะเฉพาะนโยบายของพรรคการเมืองใหญ่ๆ 6พรรค โดยนับถึงวันที่ 15 มี.ค. 2566 เท่านั้น พบว่านโยบายที่ออกมานั้นแบ่งเป็นเงินจากงบประมาณประเทศ กับไม่ใช่งบประมาณประเทศ โดยแบ่งลักษณะของนโยบายเศรษฐกิจ ได้เป็นด้านต่างๆ เช่น ขึ้นค่าแรง ,เพิ่มอำนาจซื้อประชาชน ,อุดหนุนเกษตรกร ,เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรม และSMEs ,กระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายด้านพลังงาน 

โดยจากการวิเคราะห์ พบว่าแต่ละพรรค ใช้งบประมาณในแต่ละนโยบายรวมกัน หลายแสนล้านบาท จนถึงหลายล้านล้านบาท

คลิกอ่านข่าว นโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมือง ใครใช้เงินมากสุด??

นโยบายหาเสียง

การที่แต่ละพรรคการเมืองจะออกนโยบายใดๆ เพื่อใช้ในการหาเสียงนั้น ไม่ใช่ว่าจะสามารถออกนโยบายหาเสียงได้โดยอิสระ เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 57 ได้กำหนดนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต้องที่ใช้จ่ายเงิน

การประกาศนโยบายเหล่านั้นต้องมีรายละเอียดของ วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดําเนินการ(วงเล็บ 1) ,ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดําเนินนโยบาย(วงเล็บ 2) และผลกระทบและความเสี่ยงในการดําเนินนโยบาย (วงเล็บ 3) หากไม่มีรายละเอียดดังกล่าว คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีอำนาจสั่งให้ดําเนินการให้ครบถ้วน และถูกต้องภายในระยะเวลาที่กําหนด

พ.ร.ป.พรรคการเมือง

ทั้งนี้ นอกจาก พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่กำหนดรายละเอียดในการประกาศนโยบายหาเสียงที่ต้องใช้จ่ายเงินแล้ว กรณีที่พรรคการเมืองได้จัดตั้งเป็นรัฐบาลแล้ว การดำเนินนโยบายใดๆ ยังต้องคำนึงถึงกรอบวินัยการเงินการคลัง เพดานหนี้สาธารณะ และยังต้องดำเนินนโยบายภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี รวมถึงแผนปฏิรูปประเทศทั้ง 13ด้านอีกด้วย (ตามมติ ครม. 3 ธันวาคม 2562 ปรับปรุงแผนปฏิรูปประเทศจาก 11ด้าน เป็น 13ด้าน)