เปิดข้อเท็จจริง นโยบายเพื่อไทย แจกเงินดิจิทัล 10,000 ไม่ใช่เรื่องใหม่

08 เม.ย. 2566 | 06:25 น.
อัพเดตล่าสุด :08 เม.ย. 2566 | 08:45 น.

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผอ.สถาบันวิเคราะห์การเมือง และนโยบาย เปิดข้อเท็จจริง นโยบายเพื่อไทย ประกาศแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ชี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่าเคลมผลงาน แนะศึกษาความคืบหน้าจาก ธปท. เชื่ออาจต้องกู้เงินกว่า 5 แสนล้านบาทมาใช้

HIGHLIGHTS 

  • การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เริ่มทำแล้วตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้ชื่อโครงการอินทนนท์ 
  • ความแตกต่างของนโยบายแจกเงิน ระหว่างรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และของพรรคเพื่อไทย คือ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ แจกในเชิงสงเคราะห์ คัดเลือกกลุ่มคนที่ควรจะได้รับ มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่บ้างเช่น เที่ยวด้วยกัน , คนละครึ่ง เป็นต้น  ส่วนพรรคเพื่อไทย ออกแบบนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ควรต้องนำผลการศึกษาของ ธปท. มาพิจารณาในรายละเอียด รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพราะยังมีอีกหลายมิติที่ต้องทำความเข้าใจ เชื่อว่าไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล ก็ต้องรอ ธปท.ดำเนินการ และอาจหนีไม่พ้นการกู้เงิน เพราะการแจกเงินให้คน 55 ล้านคน ต้องนำเงินบาท 5 แสนกว่าล้านไปแปลงเป็นเงินดิจิทัล

"เรื่องเงินดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่ของประเทศไทย ธปท.ได้ดำเนินการเรื่องนี้อยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2561 ตามทิศทางของโลกซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง  แต่พรรคเพื่อไทยไม่ควรเคลมว่าเป็นไอเดียของตนเอง ควรระบุให้ชัดเจนว่า เรื่องนี้มีอยู่แล้ว พรรคเพื่อไทยจะเข้ามาขับเคลื่อนให้เร็วขึ้นอย่างไร ควรสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา และรับผิดชอบกับข้อมูลที่ให้กับประชาชน พรรคเพื่อไทยควรแสดงความจริงใจด้วยการพูดถึงรายละเอียดที่ควรจะพูด"

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการ สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ได้สะท้อนความคิดเห็น ต่อนโยบายแจกเงินดิจิตอล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทยต่อทีมข่าวฐานเศรษฐกิจ พร้อมวิเคราะห์รายละเอียดของนโยบายดังกล่าว

เรื่องเงินดิจิทัล ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะโครงการที่ศึกษาเกี่ยวการพัฒนาเงินดิจิทัล ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เริ่มทำแล้วตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้ชื่อโครงการอินทนนท์ โดยโครงการนี้ในเฟสแรก ได้มีการศึกษาพัฒนาเงินดิจิทัล ใช้โอน ย้าย จ่ายค่าบริการระหว่างกัน ในธนาคารที่ร่วมโครงการ 8 แห่ง และได้เริ่มเฟส 2 ด้วยการทำแซนบ็อกกับร้านค้า และประชาชน ประมาณ 10,000 คน มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 และจะมีการประเมินผลในเดือนสิงหาคม 2566 ทั้งนี้ ต้องมีการศึกษาให้รอบด้าน เนื่องจากต้องวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบการเงินดั้งเดิม

ข้อดีของเงินดิจิทัลคือ สามารถติดตามการใช้เงิน โดยเฉพาะเงินของรัฐที่จ่ายไปแบบพุ่งเป้า ว่าถูกนำไปใช้ได้ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ เนื่องจากเป็นสกุลเงินที่แยกต่างหากจากเงินบาทปกติ และสามารถปิดช่องการทุจริตจากการเข้าร่วมโครงการรัฐ เช่นโครงการเที่ยวด้วยกัน ,คนละครึ่ง ที่เคยมีปัญหาที่ผ่านมา เป็นการตอบโจทย์มาตรการกระตุ้นการใช้เงินของรัฐ ให้มีการใช้จ่ายอย่างตรงวัตถุประสงค์


สำหรับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ อ.ธนพร ระบุว่า จ่ายได้ทั้งนั้น เนื่องจากนโยบายการแจกเงินให้ประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น มีทุกยุคสมัย พรรคเพื่อไทยแจก 10,000 บาทครั้งเดียว หากเทียบกับยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีการแจกในหลายๆโครงการ หากนำมารวมๆกันก็เป็นยอดเงินใกล้เคียงกัน 

ต่างกันที่รูปแบบ แต่ไอเดียเดียวกัน คือกระตุ้นกำลังซื้อ"

อ.ธนพร วิเคราะห์รูปแบบนโยบาย ของพรรคเพื่อไทย พร้อมกล่าวต่อไปว่า นโยบายแจกเงินของพรรคการเมืองที่ออกมานั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าสามารถกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจให้ดีขึ้นกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาได้อย่างไร ด้วยวิธีการแบบไหน จึงเป็นหลักการพื้นฐานในการจ่ายเงินในลักษณะไม่แตกต่างกัน 

ความแตกต่างของนโยบายแจกเงิน ระหว่างรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และของพรรคเพื่อไทย คือผลที่ต้องการ กล่าวคือ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เป็นการแจกในเชิงสงเคราะห์ จึงมีกระบวนการคัดเลือกกลุ่มคนที่ควรจะได้รับ มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่บ้างเช่น เที่ยวด้วยกัน , คนละครึ่ง เป็นต้น  

แต่สำหรับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของ พรรคเพื่อไทย ออกแบบนโยบายดังกล่าวมา ไม่ใช่เพื่อการสงเคราะห์ หรือเป็นสวัสดิการ แต่ต้องการกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างชัดเจน เมื่อวัตถุประสงค์แตกต่าง วิธีการจึงไม่เหมือนกัน ทั้งนี้อยู่บนหลักการเดียวกันคือ ใช้งบประมาณไปเพิ่มความสามารถทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน 

"ผมแปลกใจว่าเวลาไปหาเสียงพูดเรื่องบล็อกเชนฮับ พูดเรื่องเงินดิจิทัล แต่เวลาปฏิบัติจริงกลับไปผูกกับระบบราชการ ที่พรรคเพื่อไทยเองวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้าหลัง หากดำเนินการตามแนวนี้ เท่ากับว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง เพราะคนทุกคนมีการเคลื่อนย้ายที่อยู่ตลอดเวลา" อ.ธนพร กล่าว

การที่ระบุรัศมีการใช้จ่าย 4 กม.จากที่อยู่ตามบัตรประชาชนนั้น อ.ธนพรมองว่า ดูจะเชยไปหน่อย เป็นความย้อนแย้งของนโยบาย ที่พูดถึงเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เงินดิจิทัล แต่ไปผูกกับระบบราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ

ซึ่งในปัจจุบันนี้ กสทช.ได้พัฒนาระบบ ID mobile ที่สามารถยืนยันตัวตนได้ทุกที่ด้วยหมายเลขโทรศัพท์แล้ว และการใช้ชีวิตของผู้คนมีการเคลื่อนย้ายที่อยู่ตลอดเวลา ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างความยากลำบากให้ประชาชน เช่น ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาจึงสามารถใช้จ่ายได้ ในขณะที่การเดินทางกลับภูมิลำเนาก็มีค่าใช้จ่าย จึงไม่ควรมีข้อจำกัดด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ เพื่อให้การกระตุ้นเศรษฐกิจจะได้กว้างขวางเพิ่มมากขึ้น มีความสะดวกขึ้น

หากพรรคเพื่อไทยไปเป็นรัฐบาล ควรต้องนำผลการศึกษาของ ธปท.มาดูในรายละเอียด รวมถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเพราะยังมีอีกหลายมิติที่ต้องทำความเข้าใจ ทั้งนี้ก็ต้องรอโครงการอินทนนท์ของ ธปท.ให้เสร็จสิ้น ซึ่งเชื่อว่าไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล ก็ต้องรอ ธปท.ดำเนินการ รัฐบาลมีหน้าที่ตัดสินใจ

"พรรคเพื่อไทยต้องยอมรับว่า อาจหนีไม่พ้นการกู้เงิน เพราะการแจกเงินดังกล่าวให้คน 55 ล้านคน ต้องนำเงินบาท 5แสนกว่าล้านไปแปลงเป็นเงินดิจิทัล" 

เพราะเดิมมีการกู้ไว้เกือบเต็มเพดานหนี้สาธารณะ ตั้งแต่การกู้เงินในช่วงวิกฤติ โควิด-19 จำนวน 1.5 ล้านล้านบาท ทำให้สถานะทางการคลังค่อนข้างตึงตัว เชื่อว่านโยบายนี้จะไม่ได้จ่ายรวดเดียวให้ 55 ล้านคน คาดว่านโยบายดังกล่าว จะมีการแบ่งจ่ายออกเป็นรายเฟส เช่นที่คุณเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อในภายหลัง

อ.ธนพร กล่าวทิ้งท้าย ก่อนจบการสนทนาว่า 

"การที่จะฟังพรรคการเมืองหาเสียง ก็ควรต้องหาข้อมูลประกอบด้วย เพราะมีแนวโน้มว่า การพูดเพื่อหาเสียงนั้น จะมีข้อความที่เป็นความจริง ไม่เกิน 50%"

ทั้งนี้ นโยบายเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป โดยต้องใช้จ่ายในรัศมี 4 กม. ตามที่อยู่ในบัตรประชาชน ได้ประกาศครั้งแรก บนเวทีปราศรัยใหญ่ ณ ธันเดอร์โดม สเตเดียม อ. ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ภายใต้ชื่องาน "คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน ตอน ONE TEAM FOR ALL THAIS : หนึ่งทีม เพื่อไทยทุกคน" พร้อมเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 คน จากพรรคเพื่อไทย