เนชั่นโพล สำรวจการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี พ.ศ.2566 การสำรวจครั้งที่ 1 ช่วงเวลาสำรวจ 7 - 12 เมษายน พ.ศ. 2566 ข้อมูล/ข้อสังเกตจากทีมทำโพล “เนชั่นโพล ครั้งที่ 1” ณ วันที่ 15 เม.ย.66 ภายหลังจากตรวจสอบจำนวนตัวอย่างครบตามเป้าหมาย
เป็นการสำรวจแบบ 8 ภูมิภาค และ กทม. 33 เขต รวมทั้งหมด 39,687 ตัวอย่าง จำแนกเป็น
- วิธีสุ่มตัวอย่างแบบ Stratified Five-Stage Random Sampling (ภูมิภาค) และ Stratified Three-Stage Random Sampling (กทม.)
- สถิติที่ใช้นำเสนอผลการสำรวจ
ผลสำรวจ 18 ประเด็นสำคัญ มีดังนี้
1.เพื่อไทย นำอันดับ 1 ก้าวไกล อันดับ 2 (ภาพรวมทั้งประเทศ ทั้งระบบแบ่งเขต และปาร์ตี้ลิสต์) สาเหตุที่เพื่อไทยนำโด่งเกือบทุกพื้นที่ สาเหตุจากช่วงเวลาที่ทีมลงพื้นที่สำรวจโพลระหว่าง 7-12 เม.ย. ตรงกับช่วงการประกาศนโยบายแจก 1 หมื่นต่อคน (55 ล้านคน ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป) เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งนโยบายนี้ติดกระแสแรงทางสื่อมากกว่าหนึ่งสัปดาห์ สอดคล้องกับเหตุผลของผู้ตอบแบบสำรวจที่เลือกพรรคการเมืองโดยพิจารณาจากวิสัยทัศน์และนโยบายพรรค (% เหตุผลข้อนี้มาเป็นอันดับแรก) จึงเหมาะเจาะทางช่วงเวลาทำให้ดีดคะแนนนิยมเพื่อไทยพุ่งสูงโดยเฉพาะยิ่งแรงมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ
"เศรษฐา " คะแนนดีขึ้น
2.แคนดิเดตนายกฯ ภาพรวมทั้งประเทศ นายเศรษฐา ทวีสิน ก้าวขึ้นมาติด 4 อันดับแรก (รายชื่อบุคคล) ผลจากการเปิดตัวคุณเศรษฐาในฐานะแคนดิเดตนายกฯ อย่างเป็นทางการเมื่อ 5 เม.ย. และนโยบายแจก 1 หมื่นต่อคนติดภาพตัวคุณเศรษฐา ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ทีมลงพื้นที่สำรวจโพลระหว่าง 7-12 เม.ย. ทำให้กระแสตัวคุณเศรษฐาจึงพุ่งขึ้นมา
3.แคนดิเดตนายกฯ ภาพรวมทั้งประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นมาติด Top 3 ต่อจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย อันดับ1 และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อันดับ2 ส่วนในภูมิภาคใต้ตอนบน 11 จังหวัด คะแนนเลือก พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นอันดับ 1 พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นที่นิยมในภาคใต้สำหรับฝั่งอนุรักษ์นิยม
4.สัดส่วน % ของผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกปาร์ตี้ลิสต์และระบบเขตมาเป็นอันดับ 1 ในภาคกลางและตะวันตก ภาคเหนือตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน 11 จังหวัด และกลุ่มสามจังหวัดชายแดนใต้
5.เพื่อไทยรับประกันแลนด์สไลด์ได้เพียง 2 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือบน และภาคอีสานบน เท่านั้น
6.แคนดิเดตนายกฯ เฉพาะการสำรวจใน กทม. คุณจุรินทร์ตาม พล.อ.ประยุทธ์ไม่ห่าง แต่ในการสำรวจภาพรวมระดับประเทศ พล.อ.ประยุทธ์นำคุณจุรินทร์พอควร เนื่องจาก % ที่เลือกพล.อ.ประยุทธ์ในภาคใต้ 11 จังหวัดตอนบนสูงมาก (มาเป็นอันดับ 1) จึงทำให้ % ภาพรวมระดับประเทศถีบตัวสูงขึ้น
7.คะแนนของประชาธิปัตย์ ทั้งปาร์ตี้ลิสต์และแบ่งเขตในกรุงเทพฯ เป็นรองแค่เพื่อไทยและก้าวไกล แต่ฝั่งอนุรักษ์นิยมเดียวกัน อยู่เหนือรวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจมาจากแคมเปญรณรงค์ของ ปชป. ใน กทม. ที่ประชาชนรับรู้ในวงกว้าง (ผ่านสื่อ) ในช่วงระหว่าง 4-12 เมษายน ส่งผลให้เหนือกว่า รทสช. (ช่วงเดียวกับที่ทีมลงพื้นที่สำรวจโพลปกติระหว่าง 7-12 เม.ย.) ประชาชนน่าจะรับรู้กิจกรรมรณรงค์ของ ปชป. ช่วงดังกล่าวพอดี จึงส่งผลต่อการรับรู้นั่นเอง
8.คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหร้าพรรคไทยสร้างไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพปชร.ค่า % ความนิยมตัวบุคคลตามหลังคุณจุรินทร์ ในภาพรวมระดับประเทศ
จับตา"พลังเงียบ" 32% จุดชี้ขาด
9.กลุ่มที่ยัง "ไม่ตัดสินใจ" ทั้งระดับประเทศและ กทม. ยังมีอีกราวๆ ร้อยละ 32+ (เกือบ 1 ใน 3 ของทั้งหมด)
ข้อมูลเชิงลึกจากกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ ถ้าเป็นฝั่งอนุรักษ์นิยม คือ ยังคิดไม่ตกว่าจะเลือก รทสช. หรือ ปชป. แต่ไม่ข้ามฝั่งไปเลือกเพื่อไทย หรือก้าวไกล
ข้อมูลเชิงลึกจากกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ ถ้าเป็นฝั่งเสรีนิยม ยังคิดไม่ตกว่าจะเลือก พท. หรือ ก้าวไกล แต่ไม่ข้ามฝั่งเช่นกัน
10.กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ ยังมีมากพอสมควร ราวๆ ร้อยละ 32+ (เกือบ 1 ใน 3 ของทั้งหมด) จึงเป็นโอกาสของพรรคการเมืองในเวลาที่เหลือราวๆ 29-30 วัน ในการออกแคมเปญเพื่อดึงคะแนนจากกลุ่มนี้ "ขั้วอนุรักษ์" ตัดแต้มกันเอง
11.แนวโน้มสถิติบ่งชี้ว่า พรรคการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยมตัดคะแนนกันเองมากกว่าฝั่งเสรีนิยม ยกตัวอย่าง ภาคใต้ คะแนนจากสงขลา นครศรีธรรมราช ฯลฯ รทสช. กับ ปชป. คะแนนทิ้งกันไม่ขาด แถมยังมี ภท.มาแชร์แต้ม ทำให้เพื่อไทยกลับแรงขึ้นมา ทั้งๆ ที่คะแนนนิยมดีขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ฝั่งอนุรักษ์นิยมมีตัวหารมาก ทำให้คะแนนเหมือนลดลง สะท้อนว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมเสียเปรียบในพื้นที่เป้าหมายของตัวเอง
12.ฐานคะแนนฝั่งเสรีนิยม หลายคนไม่กล้าเลือกก้าวไกล เพราะกลัวเพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์ แล้วแพ้ 2 ป.
13.ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจทั้งในแบบปาร์ตี้ลิสต์และแบ่งเขต มาเป็นอันดับ 1 เหนือการเลือก ส.ส. ทั้งสองระบบ
14.ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ คนที่ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกเพื่อไทย หรือก้าวไกล จะตอบเสียงดังฟังชัด แต่คนที่เลือกพรรคฝั่งอนุรักษ์นิยม จะตอบแบบไม่เต็มเสียง เหมือนไม่กล้าแสดงตัวมาก
15.คะแนนจากการสำรวจโพลแบบปาร์ตี้ลิสต์รอบที่หนึ่งนี้ สามารถนำมาคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคได้เลย แต่อย่าลืมว่ายังมีคนไม่ตัดสินใจอีกราว ๆ 32 %
16.ส่วน % คะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขตใน 8 ภูมิภาค (สำรวจรอบที่หนึ่งนี้) สามารถพิจารณาถึงทิศทางความแรงของพรรคและตัวบุคคลในภูมิภาคนั้น ๆ ได้รายภูมิภาค แต่ยังแปรเป็นจำนวน ส.ส.เขตในแต่ละภูมิภาคอย่างเจาะจงไม่ได้ตามหลักการทางสถิติ เนื่องจากการสำรวจไม่ได้สำรวจรายเขตเลือกตั้ง แต่เป็นการสำรวจความนิยมรายภูมิภาค (โซน) นั่นเอง {ส่วนการสำรวจโพลรอบสองแบบ 400 เขตเลือกตั้งที่จะมีขึ้นปลายเมษายนนั้น จะทราบถึงหน้าตา ส.ส.เฉพาะเขตเลือกตั้งได้}
17.ผลสำรวจรอบแรก (8 ภูมิภาคและ 33 เขต กทม.) สรุปคือ ตามหลักสถิตินั้น เพื่อไทยยังไม่แลนด์สไลด์ในขณะนี้ แต่ในอนาคตสามารถออกได้ทั้งสองทิศ ระหว่างการแลนด์หรือไม่แลนด์สไลด์ เพื่อไทยลุ้นกลุ่ม "ไม่ตัดสินใจ"
18.ตัวแปรหลักเพียงหนึ่งเดียวที่บ่งชี้ว่า เพื่อไทยจะก้าวไปถึงการแลนด์สไลด์หรือไม่ จากผลสำรวจโพลในรอบแรก คือ “% จำนวนคนที่ยังไม่ตัดสินใจ” ซึ่งยังมีจำนวนมากนั่นเอง หรืออาจเรียกได้ว่า ขึ้นกับ(พรรค)คนที่ยังไม่ตัดสินใจ
สรุปคือ โอกาสยังเปิดกว้างสำหรับพรรคอื่น ๆ ในช่วงการหาเสียงที่เหลือ แม้ว่าเพื่อไทยจะมาแรงสุดในขณะนี้ แต่ % การสำรวจบ่งชี้ว่ายังไม่แลนด์สไลด์