เลือกตั้ง 2566 พร้อมกันทั่วประเทศวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้เตือนประชาชน ไม่ให้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหลายประการ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
ถ่ายรูป ถ่ายภาพ ในจุดเลือกตั้ง ถือเป็นสิ่งที่มีความละเอียดอ่อน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งก็อาจจะอยากบันทึกภาพความทรงจำ ว่าครั้งหนึ่งได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือ อยากบันทึกภาพการนับคะแนน เพื่อช่วยจับตาการเลือกตั้ง ในขณะที่การถ่ายภาพในวันเลือกตั้งนั้น มีข้อห้ามตามกฎหมายอยู่ด้วย ฐานเศรษฐกิจ จึงกางกฎหมาย เพื่อความชัดเจนเรื่องการถ่ายรูป ถ่ายภาพในวันเลือกตั้ง
กางกฎหมาย ห้ามถ่ายรูป ถ่ายภาพ ในวันเลือกตั้ง
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 97 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตน ได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว ซึ่งผู้ฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ การถ่ายรูป ถ่ายภาพ บันทึกวีดีโอหน้าหน่วยเลือกตั้ง หรือ ขณะนับคะแนนเลือกตั้งหลังปิดหีบ โดยไม่เป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ สามารถกระทำได้ โดย แสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้เคยเปิดเผยถึงหลักความโปร่งใสของการจัดการเลือกตั้ง 2566 ว่า ทุกคนสามารถร่วมกันถ่ายรูปหรือวิดีโอการนับคะแนนหรือกระดานรวมผลคะแนนในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ตราบใดที่ไม่รบกวนการทำงานของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) และไม่ถ่ายรูปบัตรลงคะแนนที่ทำเครื่องหมายแล้ว เนื่องจากปลดล็อกออกจากระเบียบไปแล้ว
ด้านกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการ กกต. ได้ยืนยันอีกด้วยว่า ระเบียบเดิมอาจห้ามมีการบันทึกภาพหรือวิดีโอการจัดการเลือกตั้ง แต่ระเบียบใหม่ไม่มีข้อห้ามนี้อีกต่อไป ประชาชนและผู้สังเกตการณ์ทุกคนจึงสามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ตราบใดที่ไม่ถ่ายบัตรเลือกตั้งที่ทำเครื่องหมายแล้ว เพื่อรักษาหลักการที่ว่า การลงคะแนนของประชาชนแต่ละคนต้องถูกเก็บไว้เป็นความลับ
พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า หากเห็นการนับคะแนน การขานคะแนน การขีดคะแนน หรือการรวมคะแนนที่ผิดพลาด สามารถมีส่วนร่วมแก้ไขได้โดยการทักท้วงทันที เพื่อรักษาความถูกต้องของผลการเลือกตั้ง โดย เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ต้องบันทึกคำทักท้วง และการวินิจฉัยลงไปในบันทึกเหตุการณ์ประจำที่เลือกตั้ง หรือ ใบ ส.ส.5/6 พร้อมลงชื่อผู้ทักท้วง ลงชื่อ กปน. ไม่น้อยกว่า 5 คน และลงชื่อพยานอีกอย่างน้อย 2 คน
หากไม่มีบุคคลเป็นพยาน ต้องเขียนเป็นหมายเหตุไว้ในใบดังกล่าวด้วย ทั้งหมดนี้เพื่อให้การทักท้วงทุกอย่างมีหลักฐานว่าเกิดขึ้นจริง และสามารถนำไปใช้ยืนยันในกระบวนการทางกฎหมายภายหลัง
ที่มา กกต. , iLAW