เลือกตั้ง 2566 : ส่องนโยบาย "พรรคพลังประชารัฐ" มุ่งสวัสดิการสู้ศึก

12 พ.ค. 2566 | 03:42 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2566 | 03:44 น.

เลือกตั้ง 2566 : ส่องนโยบาย "พรรคพลังประชารัฐ" มุ่งสวัสดิการสู้ศึก หวังได้รับคะแนนเสียงจัดตั้งเป็นรัฐบาล หลังวันลงคะแนนอย่างเป็นทางการ 14 พ.ค. 66 พร้อมอัดโปรลดค่าครองชีพประชาชน

เลือกตั้ง 2566 ใกล้ถึงกำหนดวันลงคะแนนอย่างเป็นทางการวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยที่แต่ละพรรคการเมืองต่างก็มีนโยบายเพื่อจูงใจประชาชนให้เลือกพรรคของตน เพื่อให้ได้คะแนนเสียงข้างมาก และได้รับสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล

สำหรับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งนำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรค เป็นหนึ่งในพรรคใหญ่ที่ถือว่าเป็นตัวเต็ง  ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จึงถือโอกาสตรวจสอบข้อมูลนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยหากได้เป็นรัฐบาล พบว่า

นโยบายพรรคพลังประชารัฐ เลือกตั้ง 2566

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ภายใต้สโลแกน ก้าวข้ามความขัดแย้ง พร้อมร่วมมือประสานทุกฝ่ายเพื่อหาทางของประเทศร่วมกัน สำหรับนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งปี 2566 นี้ เน้นด้านสวัสดิการเป็นส่วนใหญ่ เช่น

  • บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาทต่อเดือน โดยเชื่อว่าจะก่อให้เกิดการหมุนเวียน 735,336 ล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจมหภาคขยายตัวได้ 0.6% ต่อปี
  • นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะมีการดูแลผู้สูงแบบขั้นบันได โดย 60 ปีขึ้นไปจะได้รับ 3,000 บาท อายุ 70 ปีขึ้นไป จะได้รับ 4,000 บาท และอายุ 80 ปีขึ้นไปจะได้รับ 5,000 บาท เชื่อว่าจะก่อให้เกิดเงินหมุนเวียน 3 ล้านล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจมหภาคขยายตัวได้ 2.5% ต่อปี
  • นโยบายเติมเงินทุนช่วยเหลือเกษตรกร 8 ล้านครัวเรือน ครัวเรือนละ 30,000 บาท ปุ๋ยคนละครึ่ง ซึ่งภาครัฐจะช่วยเหลือค่าปุ๋ย 50% และเพิ่มเงินช่วยเหลือต้นทุนค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้ชาวนา อัตราไร่ละ 2,000 บาท  จำนวนไม่เกิน 15 ไร่ รวมเป็น 30,000 บาท คาดว่าจะก่อให้เกิดเงินหมุนเวียน 1.4 ล้านล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจมหภาคขยายตัวได้ 1.2% ต่อปี
  • นโยบายลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน โดยประกาศ ลดราคาแก๊ส ค่าไฟฟ้า และน้ำมันลงทันทีที่เข้ามาเป็นรัฐบาล โดยจะลดราคาน้ำมันเบนซินลง 18 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลลด 6.30 บาทต่อลิตร 
  • มาตรการลดราคาแก๊ส ตั้งเป้าเหลือ 250 บาทต่อถัง ที่สำคัญ คือ ลดค่าไฟฟ้าครัวเรือนให้เหลือ 2.50 บาทต่อหน่วย และลดค่าไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมเหลือ 2.70 บาทต่อหน่วย
  • นโยบายโซลาร์รูฟทอป โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดเงินหมุนเวียน 7.2 แสนล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจมหภาคขยายตัวได้ 0.6% ต่อปี
  • นโยบาย 1 อบต. 1 โซลาร์ฟาร์ม คาดว่าจะก่อให้เกิดเงินหมุนเวียน 7.2 แสนล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจมหภาคขยายตัวได้ 0.6%ต่อปี
  • นโยบายเปลี่ยนรถน้ำมันเป็นรถไฟฟ้า คาดว่าจะก่อให้เกิดเงินหมุนเวียน 1.2 ล้านล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจมหภาคขยายตัวได้ 1% ต่อปี
  • จัดตั้งองค์กรทรัพยากรพลังงานแห่งชาติ ให้เป็นผู้รับประโยชน์จากสัมปทานแหล่งก๊าซและน้ำมันที่จะทยอยหมดอายุลง โดยภายใน 4 ปี รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นปี 1 แสนล้านบาท เสริมเข้ามาเป็นงบประมาณแผ่นดิน
  • นโยบาย ‘แม่ บุตร ธิดา ประชารัฐ‘ แจกเงินคนท้องเดือนละ 10,000 บาท ในเดือนที่ 5 เดือน จนกว่าจะคลอด และเงินช่วยดูแลลูกอีกเดือนละ 3,000 บาท จนถึง 6 ขวบ
  • ประกาศโครงการใหญ่ พัฒนาภาคอีสานและภาคตะวันออกให้เป็นรถไฟทางคู่ จาก จ.บึงกาฬ – ท่าเรือแหลมฉบัง – ท่าเรือมาบตาพุด – สนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง โดยเป็นการพัฒนาพื้นที่ได้ 24 จังหวัด ในภาคอีสาน และภาคตะวันออก สอดรับกับการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC)