TikTok กับความสำเร็จของก้าวไกล ใช้สื่อถูกกลุ่มเป้าหมาย นำชัยลอยลำ

20 พ.ค. 2566 | 22:48 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2566 | 23:21 น.

สื่อใหญ่บลูมเบิร์กระบุ ข้อได้เปรียบสำคัญของพรรคก้าวไกล เหนือบรรดาพรรคคู่แข่งคือการนำแอปฯ TikTok มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า และเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) สื่อใหญ่ทางเศรษฐกิจ วิเคราะห์ ความสำเร็จของพรรคก้าวไกล ใน การเลือกตั้ง 2566 ซึ่งผลอย่างไม่เป็นทางการชี้ชัดว่า ข้อได้เปรียบประการสำคัญเหนือบรรดาพรรคคู่แข่งคือการนำ แอปพลิเคชันติ๊กต็อก (TikTok) มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าและเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์

แม้ว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ บรรดาพรรคการเมืองขนาดใหญ่ทุกพรรคต่างก็นำสื่อโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ มาใช้ในการนำเสนอสาระสำคัญที่พรรคต้องการจะสื่อสารกับประชาชนหรือกลุ่มเป้าหมายของทางพรรค แต่ก้าวไกลที่กวาดชัยชนะได้ที่นั่งในสภามาถึง 152 ที่นั่ง (ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ยังไม่ได้ให้การรับรองผลอย่างเป็นทางการ) กลับทำได้เหนือชั้นกว่านั้นด้วยแอปฯ TikTok เจาะเข้าถึงกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อายุน้อย กลุ่มวัยรุ่นที่ได้ใช้สิทธิเป็นครั้งแรก (New Voters) ให้มาเทคะแนนให้ทางพรรคได้สำเร็จ ซึ่งแนวโน้มชัยชนะนั้นเริ่มเห็นตั้งแต่มีการทำโพลก่อนวันลงคะแนนเลือกตั้ง (14 พ.ค.) แล้ว

ทั้งนี้ บลูมเบิร์กระบุว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้ทิ้งรูปแบบการหาเสียงแบบเดิม ๆ เช่นการติดโปสเตอร์ตามริมถนน หรือการเดินหาเสียงแบบเคาะประตูบ้าน แต่สิ่งที่ทำเพิ่มเติมคือการใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ TikTok ทำให้พรรคก้าวไกลสามารถสร้างความนิยมในโลกออนไลน์ จากนั้นก็แปรเปลี่ยนฐานความนิยมนั้นให้กลายเป็นคะแนนโหวตในคูหาเลือกตั้งได้จริงๆ เห็นได้ชัดว่าก้าวไกลเดินเกมในเรื่องนี้ได้ดีกว่าพรรคการเมืองอื่น ๆ

ก้าวไกลนำแอปฯ TikTok มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์

แม้กระทั่งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บิดาของแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯจากพรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนนเลือกตั้งตามมาเป็นอันดับสอง ยังเอ่ยปากบอกกล่าวในคลับเฮาส์ว่า พรรคก้าวไกลจับกระแสความนิยมของแอปฯ TikTok ในหมู่วัยรุ่นไทยได้ถูกทาง เนื้อหาสั้นๆที่ทีมอาสาสมัครช่วยหาเสียงพากันสร้างสรรค์บน TikTok และแชร์ออกไปต่อๆกันๆ หลายคลิปกลายเป็นไวรัลที่แพร่สะพัดออกไปอย่างกว้างขวาง   

บลูมเบิร์กชี้ว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สื่อออนไลน์มีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้ง เพราะก่อนหน้านี้ ประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น มาเลเซีย ก็มีกรณีแบบนี้ให้เห็นมาแล้ว โดยพรรคอิสลามมาเลเซีย ที่เป็นพรรคการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยม ได้นำสื่อโซเชียลมีเดียมาใช้ในการสร้างฐานเสียงครองใจกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งวัยหนุ่มสาว จนสามารถคว้าที่นั่งในสภาฯ ได้มากที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565  หรืออีกกรณีคือฟิลิปปินส์ ที่ซึ่งนายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ (ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน) สามารถคว้าชัยชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย “แลนด์สไลด์” กว่า 31 ล้านเสียงด้วยการบุกใช้แอปฯ TikTok และ YouTube เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย  

เนื้อหา ภาษา วิธีการ สื่อตรงถึงกลุ่มวัยรุ่น-คนหนุ่มสาว ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย

สำหรับสถิติบนโซเชียลมีเดียของพรรคก้าวไกลนั้น พบว่า ในช่วงใกล้วันเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดบนแพลตฟอร์ม TikTok โดยเพิ่มขึ้นจากระดับไม่ถึง 400,000 คนเมื่อต้นเดือนเมษายน เป็นราว ๆ 2,800,000 คน นอกจากนี้ บัญชีทวิตเตอร์ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก็มีผู้ติดตามทะลุ 1,000,000 คน ก่อนวันลงคะแนนเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน

 และก็ไม่ใช่แค่พรรคและนายพิธาเท่านั้น ที่ได้รับคะแนนนิยมด้วยการใช้เครื่องมือสื่อโซเชียลมีเดีย แต่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคอย่างเช่น รักชนก “ไอซ์” ศรีนอก ซึ่งเป็นที่รู้จักครั้งแรกจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนบนคลับเฮ้าส์ (Clubhouse) ก็ได้รับความสนใจด้วยเช่นกัน โดยวิธีการหาเสียงของเธอที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง คือ การใช้จักรยานเป็นพาหนะในการหาเสียง รวมถึงมีกระดานไวต์บอร์ดพกพาไประหว่างเดินเท้าหาเสียงตามชุมชน โดยรักชนกจะให้ชาวบ้านในละแวกเขียนข้อมูลที่เธอควรรู้ลงบนกระดาน จากนั้น จึงนำเสนอนโยบายพรรคที่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เธอใช้วิธีการเดียวกันนี้แต่เปลี่ยนมาใช้บนสื่อ TikTok ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จำนวนผู้ติดตามบัญชี TikTok ของรัชนกเพิ่มขึ้นมากกว่า 500,000 รายภายในเวลาเพียงไม่ถึง 1 เดือน และปัจจุบันเธอก็เป็นว่าที่ส.ส.ของพรรคก้าวไกล

ณพล จาตุศรีพิทักษ์ จากสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS Yusof-Ishak Institute) องค์กรวิชาการอิสระในประเทศสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า ปรากฏการณ์นี้ค่อนข้างแปลกใหม่สำหรับการเมืองไทย พรรคก้าวไกลสามารถใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด สื่อสารโดยตรงกับผู้สนับสนุนของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม ที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ พรรคก้าวไกลสามารถกวาดคะแนนเสียงในเขตกทม.ไปได้ถึง 32 ที่นั่ง จากทั้งหมด 33 ที่นั่ง โดย 1 ที่นั่งที่ทางพรรคก้าวไกลไม่ได้นั้น เป็นของธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีการใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสารกับฐานเสียงของตัวเองเช่นกัน

“พวกเขา(พรรคก้าวไกล)ใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นสะพานเชื่อมระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกับกลไกของสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีพรรคการเมืองใดทำได้แบบนี้อีกแล้ว” ณพลให้ความเห็น

 

ข้อมูลอ้างอิง

How Thailand’s Election Winner Used TikTok to Eke Rare Progressive Triumph