วันที่ 17 ก.ค.66 ที่พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรค ชทพ. ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการลงมติโหวตนายกรัฐมนตรีรอบสอง ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ว่า ทุกครั้งก่อนที่จะมีการลงมติในสภาเกี่ยวกับเรื่องสำคัญ ประเพณีของ ชทพ. คือ จะมีการประชุมล่วงหน้าก่อน 1 ชั่วโมง
โดยเวลา 08.30 น. วันที่ 19 ก.ค. จะเชิญ ส.ส. ทั้งหมด 10 คนของพรรค รวมถึง น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ชทพ. และ นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือกันถึงแนวทางการลงมติเรื่องดังกล่าว
เมื่อถามถึงท่าทีของ 8 พรรคร่วมที่จะเสนอให้มีการโหวต นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล รอบสอง นายวราวุธ กล่าวว่า ชทพ.ยังสงสัยอยู่ว่าในเมื่อมีญัตติเสนอชื่อ นายพิธา ไปรอบแรกแล้ว ยังจะสามารถเสนอรอบสองได้อีกหรือไม่ เพราะตามข้อบังคับการประชุมของสภา หากญัตติใดมีการเสนอแล้ว ลงคะแนนจนเสร็จสิ้นแล้ว ก็ไม่น่าเสนอญัตติเดิมได้อีก จึงเป็นที่สงสัยว่า ในวันที่ 19 ก.ค. ทางพรรคก้าวไกล และ 8 พรรคร่วมยังสามารถเสนอญัตติเดิมอีกหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่า ชทพ.มีแนวโน้มที่จะงดออกเสียงอีกใช่หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ต้องขอดูก่อนว่ายังจะสามารถเสนอญัตติเดิมได้อีกหรือไม่ แล้วจึงจะหารือกันภายในพรรคอีกครั้งหนึ่ง “แต่อาจจะไม่งดออกเสียงแล้ว เพราะถ้าขัดกับแนวทางการทำงานของสภา เราก็ไม่เห็นด้วยที่จะเสนอซ้ำอีกครั้งหนึ่ง”
เมื่อถามว่าในช่วงนี้แกนนำพรรคก้าวไกล และ 8 พรรคร่วมพยายามที่จะพูดคุยให้พรรค หรือ ส.ว.ที่งดออกเสียง เปลี่ยนใจมาสนับสนุน นายวราวุธ กล่าวว่า ก็เป็นไปตามข่าว เพราะเมื่อช่วงสายวันที่ 16 ก.ค. พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้โทรศัพท์มาหาตนและบอกว่ามีการส่งเทียบเชิญมายัง ชทพ.จากพรรคก้าวไกล อยากจะขอให้พิจารณาในการเข้าร่วมรัฐบาล
ตนได้บอกไปว่าเรื่องใหญ่เช่นนี้ ไม่สามารถตอบรับได้ทันที คงต้องขอนำเข้าหารือในที่ประชุมพรรค และหารือกับ ส.ส.ในพรรคก่อนว่าแนวทางเป็นอย่างไร และได้ยืนยันไปว่าแนวทางของ ชทพ.คือ ไม่แตะต้องเรื่องการแก้ไข มาตรา 112 และ เชิดชู เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ยังเป็นแนวทางหลักของ ชทพ.อยู่
เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่าถ้าพรรคก้าวไกลยังไม่ยอมถอยเรื่องมาตรา 112 ก็ไม่สามารถร่วมงานกันได้ใช่หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า จะว่าอย่างนั้นก็ถูกต้อง หลายท่านอาจสงสัยว่าแล้วทำไมตอนแรก ชทพ.ถึงได้งดออกเสียง ก็ต้องขอเรียนว่าการงดออกเสียงของ ชทพ. ไม่ได้แปลว่าไม่มีความเห็น
“แต่เราให้เกียรติคนที่เลือกพรรคก้าวไกลเข้ามา และเราให้เกียรติพี่น้องประชาชนที่เลือกทั้งพรรคเล็กและพรรคใหญ่ให้เข้าสภา จึงได้งดออกเสียงไป แต่ถ้าจะมีการดำเนินการอะไรที่ไม่ตรงแนวทางปฏิบัติ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับรัฐสภา นั่นก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะลงคะแนน”
เมื่อถามว่าถ้ามีการเสนอชื่อ นายพิธา รอบสอง เป็นไปได้หรือไม่ว่า ชทพ.จะโหวตสวนไปเลย ในเมื่อรอบแรกได้งดออกเสียงไปแล้ว นายวราวุธ กล่าวว่า “ก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่จะต้องหารือกับ ส.ส.ในพรรคก่อน เพราะเราทำอะไรจะต้องไปในแนวทางเดียวกัน ไม่อยากจะปล่อยให้ฟรีโหวต เพราะไม่ได้ต่างคนต่างทำงาน เราทำงานด้วยกันในนาม ชทพ.”
เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่า หากรอบนี้โหวตสวน จะโดนทัวร์ลงเหมือน ส.ว. นายวราวุธ กล่าวว่า เราโดนทัวร์ลงมาเยอะแล้ว และเข้าใจดีว่าการโดนทัวร์ลงนั้น เป็นความคิดเห็นของคนกลุ่มหนึ่ง แต่ในเมืองไทยความคิดเห็นของแต่ละกลุ่มคนก็หลากหลาย เราต้องเคารพแนวทางที่แตกต่าง นั่นเป็นวิถีของประชาธิปไตย ไม่ใช่จะต้องเห็นเหมือนกันหมด และไม่ใช่ว่าจะบังคับให้ใครคิดแบบเดียวกันหมด
เมื่อถามถึงกรณีพรรคก้าวไกลยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ปิดสวิตซ์ ส.ว. นายวราวุธ กล่าวว่า มาตรา 272 ในประโยคแรกระบุว่า ภายใน 5 ปีหลังจากใช้รัฐธรรมนูญจะให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ นั่นสะท้อนให้เห็นว่าอีกไม่นาน วรรคนี้จะหมดความหมายลง เนื่องจากเลยกำหนดเวลาในบทเฉพาะกาลแล้ว
ดังนั้น การจะแก้รัฐธรรมนูญในช่วงนี้จะเป็นการสร้างเงื่อนไขใหม่ให้เกิดความซับซ้อนและกินเวลาในการโหวตเลือกนายกฯ ฉะนั้น ถ้าจะแก้ไขแค่มาตรา 272 มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับดีกว่า ซึ่ง ชทพ.ยังยึดมั่นนโยบาย ซึ่งคล้ายกับอีกหลายพรรคคือ ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาจจะยึดโมเดลของรัฐธรรมนูญปี 40 และเพิ่มเติมปรับปรุงเข้าไปให้เหมาะสมกับบริบทในปัจจุบัน แต่ไม่ว่าจะแก้มาตราใด หรือ บทใด หัวใจสำคัญของ ชทพ. ต้องไม่มีการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ใดๆ ทั้งสิ้น