หลังผ่านพ้นการประชุมรัฐสภา ในการโหวตนายกฯ รอบที่สอง โดยมีการเสนอชื่อ "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย อีกครั้ง แต่ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเสียงข้างมาก ไม่ให้เสนอชื่อ นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ต้องโบกมือลา
คิวต่อไปถือเป็นโอกาสให้พรรคอันดับสองอย่างพรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตามที่พรรคก้าวไกลได้เคยสัญญาไว้ จะว่าไม่ใช่ "นายกส้มหล่น" ก็คงไม่ชัดเจนแต่ก็ถือว่าใกล้เคียงกับคำๆ นี้
ทำให้ชื่อของ "นายเศรษฐา ทวีสิน" ถูกจับตาว่าจะเป็นตัวเก็ง ที่จะเสียบเข้ามาแทน นายพิธา ในการเสนอชื่อโหวตนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทยในรอบที่ 3 นี้ หากย้อนรอยเส้นทางการเดินเข้าสู่ถนนการเมืองของ นายเศรษฐา ทวีสิน เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ ที่ทุกคนรู้จักกันดีในนาม แสนสิริ หรือ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) "SIRI" นั่นเอง
"ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวมรวมข้อมูลของ "แสนสิริ" ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หมื่นล้าน ก่อนจะเข้าสู่การบริหารงานภายใต้ เศรษฐา ทวีสิน นั้น ต้องย้อนไปในปี 2527 ที่ยังไม่มีใครรู้จัก แสนสิริ เพราะ การจดทะเบียนบริษัทครั้งแรกไม่ได้อยู่ภายใต้ชื่อนี้แต่ใช้ชื่อ "แสนสำราญ โฮลดิ้ง"
โดยจดทะเบียนก่อตั้งเป็นบริษัท จำกัด เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2527 ด้วยทุนจด ทะเบียนเริ่มแรก 1,000,000 บาท มีผู้เริ่มก่อตั้งบริษัท คือ "กลุ่มจูตระกูล" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อในปี 2537 เป็น "แสนสิริ" จากการเข้ามาถือหุ้นของกลุ่มล่ำซำ
ต่อมา บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) "SIRI" ได้ถือกำเนิดขึ้นหลัง เข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2539 พร้อมจัดตั้งบริษัทในเครืออย่าง บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ทำหน้าที่ในการจัดหาโครงการอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจนายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
โดยจากจุดนี้เริ่มเห็นชื่อของ นายเศรษฐา เข้ามาเป็นกรรมการ แม้จะไม่ชัดเจนว่าเข้าทำงานกับแสนสิริ ระดับสูงในตอนไหน แต่ตรงนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้น ก่อนจะก้าวสู่การเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) จนถึงปัจจุบัน
"แสนสิริ" ภายใต้การนำทัพของ เศรษฐา ทวีสิน ที่สร้างทั้งความแตกต่าง และความฮือฮาด้วยการเปิดตัวโครงการ แฟลกชิปคอนโดมิเนียม "98 ไวร์เลส" บนถนนวิทยุ มูลค่ากว่า 8,500 ล้านบาท ในช่วงปี 2559 ด้วยราคาขายตารางเมตรละ 600,000 - 900,000 บาท
ต่อมาในปี 2563 ยังได้ซื้อที่ดินที่แพงที่สุดในประเทศไทยราคา 3.9 ล้านบาทต่อตารางวา ที่หัวมุมบนถนนสารสิน ใกล้กับสวนลุมพินี ซึ่งเป็นอาคาร MBK Life เนื้อที่กว่า 1 ไร่เศษ
รวมทั้งยังได้เข้าซื้อหุ้น 15% ของ บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XSpring ขยายธุรกิจสู่โลกการเงิน และหลักทรัพย์ เพราะเห็นโอกาสเติบโตของธุรกิจการเงินโลกดิจิตอลที่จะนำมาเชื่อมต่อกับโลกการเงินปัจจุบัน และนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินในรูปแบบใหม่
ด้านการเติบโตทางธุรกิจของ แสนสิริ ภายใต้การคุมทัพ เศรษฐา ทวีสิน
ปี 2563 มีรายได้อยู่ที่ 34,891.03 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,673.09 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 4.18%
ปี 2564 มีรายได้อยู่ที่ 29,747.52 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2017.28 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 6.52%
ปี 2565 มีรายได้อยู่ที่ 34,973.59 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,279.88 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 12.23%
ถือได้ว่าการบริหารงานของ เศรษฐา ทวีสิน ผลักดันให้ แสนสิริ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะผ่านช่วงปัญหาวิกฤติ โควิด-19 ที่ผ่านมาก็ตาม แต่ยังคงเติบโตได้
ถือได้ว่าเป็นผลงานที่พิสูจน์ด้านการทำงานในธุรกิจ ที่ประสบความสำเร็จจนเป็นที่ยอมรับ แต่ส่วนบทบาทการเมืองและการบริหารประเทศนั้น
คงต้องมารอลุ้นกันว่าหากได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แล้วผลงานจะออกมาสวยงามเหมือนธุรกิจที่เคยทำมาหรือไม่คงต้องมาติดตามกัน
ข้อมูล/ภาพ : บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) "SIRI"