นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ครั้งถัดไปในสัปดาห์หน้า (27 ก.ค.) ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนว่าจะเป็นในลักษณะใด แต่สิ่งที่เป็นภาพชัดเจนแล้วขณะนี้ คือ การเสนอชื่อโหวตนายกรัฐมนตรีสามารถทำได้เพียงครั้งเดียว และไม่สามารถจะใช้ญัตติเดิมในการเสนอชื่อคนเดิมได้ ซึ่งหมายความว่าหมดสิทธิ์ที่จะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซ้ำ
หลังจากนี้คงเป็นไปตามแนวทางที่พรรคก้าวไกลเสนอให้พรรคอันดับ 2 คือพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยสามารถวิเคราะห์ได้ 2 กรณีที่อาจจะเกิดขึ้น
1.กรณี ส.ว. ยืนยันไม่โหวตหากมีพรรคก้าวไกลเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ทั้ง 8 พรรคร่วมเดิม ยังจับมือเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล โดยเสนอแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยขึ้นมาแทน ก็จะต้องมาพิจารณาว่าสมาชิกรัฐสภาจะให้การสนับสนุนถึง 375 เสียงได้หรือไม่
2.กรณี ทั้ง 8 พรรคร่วม สลายขั้วเพื่อเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยเป็นอิสระในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคใดก็ได้ ซึ่งจะมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเสนอชื่อนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร หรือนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตามเงื่อนไขนี้ต้องเป็นไปตามความตกลงของพรรคร่วมอีกที
ที่ผ่านมาภาคเอกชนไทยมีความเข้มแข็งและพร้อมให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับรัฐบาลใหม่อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด และมองว่าหากพรรคเพื่อไทย ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จภายใต้ระบบของประชาธิปไตยก็จะได้คนที่มีประสบการณ์เข้ามาขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจ ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็มีคณะทำงานในด้านนี้อยู่แล้วและเคยได้พิสูจน์ให้เห็นในครั้งที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอดูพัฒนาการต่อไปจนกว่าจะถึงวันโหวตว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร ซึ่งการที่รัฐสภาชี้แจ้งว่าการเสนอชื่อโหวตนายกรัฐมนตรีสามารถทำได้เพียงครั้งเดียวนั้น ชี้ให้เห็นว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีจะทำได้ในวงจำกัดเพียงไม่กี่รอบ หากในวันที่ 27 ก.ค. นี้ไม่ผ่านครั้งต่อไปน่าจะเป็นต้นเดือนสิงหาคม ดังนั้น การคัดสรรชื่อต้องเป็นที่ยอมรับในทางรัฐสภา ซึ่งโอกาสในการได้รัฐบาลใหม่ในเดือนสิงหาคม หรือช้าสุดในเดือนกันยายน ก็จะสามารถเกิดขึ้นได้และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศ