การเมืองไทยมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้ง แรงกดดันถูกส่งผ่านไปอยู่ที่พรรคเพื่อไทยที่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และอยู่ระหว่างหาทางเร่งจัดตั้งรัฐบาล โดยมีความเป็นไปได้สูงที่จะเชิญพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางสังคมจับตาพรรคก้าวไกลจะถูกผลักไปเป็นฝ่ายค้านหรือไม่
การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ถูกแรงกดดันจากทุกสารทิศว่าหากมีความล่าช้าไม่เป็นไปตามไทม์ไลน์จะส่งผลกระทบตามมามหาศาล ทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพของประชาชน การผลักดันการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว แก้ปัญหาเอสเอ็มอี ฯลฯ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งดูแลภาคธุรกิจจากหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงมุมมองทิศทางการเมืองในเวลานี้ว่า ถึง ณ เวลานี้ เอกชนมองว่ายังเร็วเกินไปที่จะประเมินและกระแสต่าง ๆ ที่ออกมา เนื่องจากข้อมูลจากการพูดคุยของแต่ละพรรคเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นอยากให้ทุกฝ่ายมองทีละขั้นตอน
สำหรับภาคเอกชนสิ่งที่โฟกัสตอนนี้คือจะทำอย่างไรให้ได้รัฐบาลใหม่ที่รวดเร็วที่สุด ซึ่งเป็นโจทย์ที่จะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง วันนี้ยังเห็นว่าทั้ง 8 พรรคยังคงเดินหน้าจับมือกันอยู่ และไม่ว่าพรรคเพื่อไทยที่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะทำสำเร็จภายใต้ระบบของประชาธิปไตยหรือไม่ อย่างไร แต่ในที่ผ่านมาภาคเอกชนไทยมีความเข้มแข็งและพร้อมให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับรัฐบาลใหม่อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด
สำหรับการชุมนุมของกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลที่ออกมาเคลื่อนไหวในเวลานี้ มองว่าการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองที่เกิดขึ้น ถือเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่สามารถทำได้ หากอยู่บนพื้นฐานของความสงบเรียบร้อยก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ
ส่วนกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดคิดหรือมีการแสดงออกทางการเมืองจนนำไปสู่ความรุนแรง ก็คงจะกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตได้ดี หลายครั้งที่จะเห็นสถานทูตหรือรัฐบาลแต่ละประเทศออกคำเตือนนักท่องเที่ยวในการเข้าออกประเทศที่กำลังเกิดสถานการณ์รุนแรง ซึ่งส่วนนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง เอกชนจึงหวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้และการจัดตั้งรัฐบาลน่าจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ต่อข้อถามที่ว่า อย่างช้าสุดควรได้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดใหม่ภายในเมื่อใด ที่จะไม่กระทบกับเศรษฐกิจไทยมากเกินไปนัก นายสนั่นกล่าวว่า หอการค้าฯ มองว่าการเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงการจัดตั้ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) ควรจะแล้วเสร็จในระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน ซึ่งยังเป็นช่วงเวลาที่ไม่ถือว่าช้าเกินไป โดยหวังว่าหลังจากนี้ทุกฝ่ายจะมีการหารือและทำความเข้าใจร่วมกันโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อเนื่อง
สำหรับเรื่องที่ภาคเอกชนห่วงมากที่สุด หากมีการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าไปจากไทม์ไลน์ มีอย่างน้อย 5 เรื่องสำคัญได้แก่ 1.ปัญหาปากท้องประชาชนของประชาชน โดยเฉพาะนโยบายมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ หากรัฐบาลใหม่ล่าช้า กระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนที่จะลดลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังรอมาตรการช่วยเหลือเรื่องแหล่งเงินทุนจะได้รับผลกระทบ เพราะยังไม่มีความชัดเจนของชุดมาตรการใหม่ ๆ ที่จะออกมาช่วยเหลือ หากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้ามาก SMEs บางรายอาจจะหยุดกิจการ หรือ ปรับลดการจ้างงาน ซึ่งจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
2.ขณะนี้ภาคเกษตรไทยยังสามารถเติบโตได้ดี แต่ปัญหาภัยแล้ง ปีนี้สัญญาณจากเอลนีโญมีความชัดเจน หากไม่มีแผนรับมืออย่างเร่งด่วนและจริงจัง จะกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร 3.การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ยังค้างท่อและการจัดงบประมาณประเทศล่าช้า แม้จะสามารถใช้งบประมาณในตัวเลขเดิมได้ แต่ประเทศต้องการฝ่ายบริหารเข้ามาการตัดสินใจและการวางมาตรการเยียวยาหรือกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ที่เหมาะสมกับสถาการณ์เศรษฐกิจประเทศในช่วงเวลานี้
4.ปัญหาค่าพลังงานงานสูง ต้นทุนต่าง ๆ ยังคงอยู่ระดับสูง ซึ่งส่งผลกับค่าครองชีพของประชาชน 5.ความชัดเจนของนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ที่แต่ละพรรคเสนอไว้หากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า นักลงทุนต่างชาติก็ยังคงต้องติดตามทิศทางและความชัดเจน ซึ่งทำให้ประเทศเสียโอกาสในการดึงดูดเม็ดเงินใหม่ ๆ เข้ามา