สิงห์เขียวโพล ครั้งที่ 1 หรือ โพลสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ เรื่อง “การเลือกตั้ง 2566” ครั้งที่ 1 โดย ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (PSAKU Poll) ร่วมกับ สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย (OPPS) ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 2,897 คน ระหว่างวันที่ 18-28 เมษายน 2566
ผลการสำรวจพบว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยม เป็นอันดับ 1 ได้แก่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร 28.6% อันดับที่ 2 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 21.7% ที่น่าสนใจคือ อันดับ 3 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ 12.7 % คะแนนนิยมนำ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อยู่ในอันดับ 4 คิดเป็น 9.0 % และ อีก 8.1% ตอบว่ายังตัดสินใจไม่ได้หรือยังไม่ได้ตัดสินใจ
สำหรับความตั้งใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ผลสำรวจอันดับ 1 ตอบว่าเลือกพรรคเพื่อไทย 33.2% รองลงมาเป็นพรรคก้าวไกล 24.5% และพรรคพลังประชารัฐ 13.6% อันดับ 4 เป็นของพรรครวมไทยสร้างชาติ 9% โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจยังตัดสินใจไม่ได้ หรือยังไม่ได้ตัดสินใจอีก 7.7%
ผลสำรวจถึงความตั้งใจ ลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครแบบแบ่งเขต อันดับ 1 ตอบว่าพรรคเพื่อไทย 34.4% อันดับ 2 พรรคก้าวไกล 24.0% อันดับ 3 พรรคพลังประชารัฐ 13.35% และอันดับ 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ 8.2% ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์อีกราว 7.4% ตอบว่า ยังตัดสินใจไม่ได้หรือยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครในระบบเขตของพรรคการเมืองใด
ผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ เจน Z (อายุ 18-27 ปี) ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ขณะที่ เจน Y (อายุ 28-42 ปี) และ เจน X (อายุ 43-57 ปี) ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย
สำหรับ เจน Baby Boomer (อายุ 58-76 ปี) ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรครวมไทยสร้างชาติ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ เจน Z เป็นกลุ่มที่ยังตัดสินใจไม่ได้หรือยังไม่ได้ตัดสินใจ ว่าจะสนับสนุนใคร เป็นสัดส่วนที่มากที่สุด ถึง 15.83% ขณะที่ เจน Y, เจน X และ เจน Baby Boomer มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5.80, 5.34 และ 3.59 ตามลำดับ ในขณะที่ เจน Builder ตัดสินใจว่าจะสนับสนุนใครไปแล้วทั้งหมด
ความชัดเจนและแนวโน้มของผลการเลือกตั้ง ณ วันนี้ พบว่า 3 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย ยังคงได้รับความนิยมและการสนับสนุนทางการเมืองสูงที่สุด โดยพรรคก้าวไกล ได้รับความนิยมและการสนับสนุนทางการเมืองสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นขู่แค่งสำคัญที่เข้ามา “ตัดคะแนนกันเอง” ถือเป็นอุปสรรคต่อยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย นำมาสู่ “รัฐบาลผสม” หลังเลือกตั้ง
แนวโน้มที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ พรรคพลังประชารัฐ เริ่มกลับมาได้รับความนิยม และการสนับสนุนทางการเมืองสูงขึ้นอีกครั้ง สูงกว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ กลับมาเป็นแกนนำของกลุ่มอนุรักษ์นิยมอ่อนๆ ค่อนมาทางเป็นกลาง ด้วยการนำเสนอนโยบาย “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” อย่างต่อเนื่อง