การเมืองไทยยังลุ้นระทึก การตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศยังไร้ทางออก หลังนักการเมืองมีการแบ่งขั้วแบ่งข้าง ชิงไหวชิงพริบในการจัดตั้งรัฐบาลแบบไม่มีใครยอมใคร เพิ่มความเสี่ยงการจัดตั้งรัฐบาลมีความยืดเยื้อไม่เป็นไปตามไทม์ไลน์ อย่างไรก็ดีหากยึดตามหลักการ ณ ปัจจุบัน หากพรรคเพื่อไทย (พท.) แกนนำจัดตั้งรัฐบาลสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แน่นอนว่านโยบายของว่าที่รัฐบาลใหม่ส่วนใหญ่จะอยู่ใน 70 นโยบายหลัก จากนโยบาย 12 ด้านของพรรคเพื่อไทยที่เคยประกาศไปก่อนหน้านี้จะถูกนำมาใช้ในการขับเคลื่อนประเทศ เบื้องต้นจะใช้งบประมาณมากกว่า 1.8 ล้านล้านบาท
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวถึงกรณีนโยบายจัดเก็บค่าโดยสายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของพรรคเพื่อไทย ว่า หากจะดำเนินการก็สามารถทำได้ แต่ภาครัฐจะต้องช่วยอุดหนุนงบประมาณด้วย เพราะต้นทุนคงเกินราคา 20 บาทอยู่แล้ว ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดหากจะจัดเก็บค่าโดยสารในราคาดังกล่าว จะเป็นการจัดเก็บเฉพาะบางเส้นทางหรือตลอดสาย
“นโยบายจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสามารถดำเนินการได้ในราคา 20 บาทจะต้องแก้สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าหรือไม่นั้น มองว่าไม่จำเป็น สามารถดำเนินการได้ หากมีค่าส่วนต่างที่นอกเหนือจากนี้ ซึ่งภาครัฐจะต้องเจรจาร่วมกับเอกชนว่าจะดำเนินการอย่างไร”
นายธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวถึง นโยบายการจัดทำหวยบำเหน็จของพรรคเพื่อไทย โดยสนับสนุนให้ประชาชนออมผ่านกลไกการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ลุ้นเงินรางวัล และได้รับเงินทุกบาททุกสตางค์ คืนตอนอายุ 60 ปีนั้น เบื้องต้นประเมินว่าอาจจะเป็นรูปแบบคล้ายกับการซื้อสลากออมทรัพย์ หรือการสะสมเงินไว้เข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือการสะสมเงินเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นต้น หากสะสมเท่าใดก็จะได้ลุ้นรางวัลจากสลากด้วย และเมื่อครบอายุการสะสมก็ได้เงินคืน ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว แต่หากต้องการใช้กลไกผ่านสลากกินแบ่งรัฐบาล สนง.สลากฯ ก็พร้อมรับนโยบาย
นายธนวรรธน์ ในฐานะอธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังให้ความเห็นถึง การตั้งเป้าเศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ย 5% ต่อปีของพรรคเพื่อไทยว่า สามารถทำได้หากมีการขยายนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 40 ล้านคน เป็น 60 ล้านคน รวมทั้งต้องผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และศูนย์กลางโลจิสติกส์ และส่งเสริมอุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่มสูง ตามฐาน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หากสามารถผลักดันในส่วนต่างๆ เหล่านี้ได้ เป้าหมายก็มีความเป็นไปได้
ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลที่จะใช้งบกว่า 5.6 แสนล้านบาท หากจ่ายเงินดิจิทัลรายละ 10,000 บาท สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ในส่วนนี้มองว่า ระยะสั้นเป็นนโยบายที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ก็มีโครงการอื่นที่มีประโยชน์กว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคจะต้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวถึง นโยบายพักหนี้เกษตรกร 3 ปีว่า หากทำได้จริงต้องทั้งพักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เพราะหากพักเฉพาะเงินต้น แต่ดอกเบี้ยยังเดินต่อก็เหมือนไม่ได้พักหนี้ อย่างไรก็ดีสิ่งที่เกษตรต้องการคือความยั่งยืนของการประกอบอาชีพและคุณภาพชีวิต โดยต้องการให้รัฐบาลใหม่แก้ไขปัญหาในเรื่องภาระหนี้สิน การพัฒนาแหล่งน้ำ การลดต้นทุนการผลิต (ปุ๋ย,ยา) การจัดหาเมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพให้ผลผลิตสูง และมีสวัสดิการให้กับชาวนาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
“ต้องการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็ว เพราะถ้ายิ่งช้าจะทำให้เสียโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะเป็นใคร ชาวนาเราไม่ยึดติด ที่ห่วงมากเวลานี้จากเอลนีโญมีความสุ่มเสี่ยงเรื่องภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไม่มีน้ำในการทำการเกษตร ดังนั้นจึงต้องการรัฐบาลมาดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เร่งด่วน”
นายสุภัค ลายเลิศ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) กล่าวว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยดิจิทัลเหมือนกัน ทั้งสินทรัพย์ดิจิทัล สตาร์ทอัพ แตกต่างกันที่การใช้คำที่พูดเท่านั้น อย่างไรก็ตามมองว่าการนำนโยบายไปปฎิบัตินั้นพรรคก้าวไกล อาจมีความได้เปรียบเรื่องชุมชนนักพัฒนา เพราะมีความคุ้นเคยมากกว่า และเติบโตมาจากนักพัฒนา และโซเชียลมีเดีย
ส่วนนโยบายของพรรคเพื่อไทย เรื่องการแจกแท็บเล็ตนักเรียนนั้น ส่วนตัวไม่ค่อยเห็นด้วยกับการแจกอุปกรณ์ มองว่าควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และหลักสูตรการเรียนออนไลน์ให้มีความพร้อมมากกว่า โดยในเมืองอาจมีความพร้อม แต่ต่างจังหวัดยังขาดโครงสร้างพื้นฐาน
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายในปี 2570 ของพรรคเพื่อไทย แม้จะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่การปรับเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากณ ปัจจุบันถือว่าค่อนข้างสูง ซึ่งการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละช่วง ควรจะนำปัจจัยและสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้นมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจด้วย อย่างธุรกิจท่องเที่ยวขณะนี้เพิ่งจะฟื้นตัว ยังมีปัญหาขาดทุนสะสมมานานกว่า 3 ปี ทั้งยังมีต้นทุนพลังงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น
ประกอบกับธุรกิจโรงแรมค่อนข้างมีความเหลื่อมล้ำมาก ระหว่างโรงแรม 2-3 ดาวกับ 4-5 ดาว โรงแรมในเมืองหลัก และเมืองรอง โดยโรงแรมเล็กธุรกิจยังไม่ค่อยดีนัก การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นภาระเกินไปหากจำเป็นต้องปรับขึ้นจริงๆ ควรพิจารณาตามพื้นที่และศักยภาพของผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่
สำหรับนโยบายด้านการท่องเที่ยวของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการจัดงานเทศกาลระดับโลก เป็นสิ่งที่ดี เพราะทุกครั้งที่มีอีเว้นท์ระดับโลกผู้ประกอบการโรงแรมในแต่ละพื้นที่ก็จะได้ประโยชน์ หรือนโยบายส่งเสริมแลนด์มาร์คการท่องเที่ยวด้านการแพทย์และสุขภาพ ก็เป็นหัวใจในการดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพสูงเข้าไทย ส่วนนโยบายเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาทต่อปีของพรรคเพื่อไทย หากกระจายการท่องเที่ยวสู่เมืองรองได้จะเป็นสิ่งที่ดีมาก ไม่ใช่กระจุกตัวเฉพาะเมืองหลัก
ขณะที่นโยบายการยกระดับหนังสือเดินทาง โดยเพิ่มจำนวนประเทศที่เดินทางเข้าระหว่าง 2 ประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ในองค์รวมด้านการท่องเที่ยวถือว่าดีมาก เป็นการแก้ปัญหาคอขวดในการเดินทางเข้าท่องเที่ยวได้สะดวกขึ้น ก็จะเป็นมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวที่รวดเร็ว ในภาวะที่นักท่องเที่ยวจีนชลอตัว แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือการบริหารจัดการเรื่องของสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ความมั่นคง การกระจายการท่องเที่ยวสู่เมืองรอง ทุนสีเทา ที่ต้องบังคับใช้กม.ให้มีประสิทธิภาพควบคู่กันไปด้วย
สุดท้ายคือนโยบายศูนย์กลางด้านการขนส่งของภูมิภาค โดยยกระดับคมนาคมของประเทศทั้งระบบบก น้ำ อากาศ โดยเฉพาะการยกระดับสนามบินสุวรรณภูมิ แต่สิ่งที่อยากให้มองเพิ่มเติมคือการแก้ปัญหาแรงงานที่ให้บริการในสนามบินขาดแคลน เป็นอุปสรรคทำให้การรองรับเที่ยวบินมีข้อจำกัด รวมถึงการโฟกัสการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเมืองรองด้านการท่องเที่ยว อาทิ การขยายเที่ยวบินระหว่างเมืองรองของไทยกับเมืองรองของต่างประเทศ อาทิ ปูซาน-อู่ตะเภา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อหลังเดินทางออกจากสนามบินเมืองรอง เพื่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ก็ควรต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ ตั้งรัฐฐาลวันที่ 27 – 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2566