นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ความว่า ต้นเหตุแห่งความวุ่นวายทางการเมืองจนเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนรอบใหม่ เกิดจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ฝ่ายเผด็จการใช้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ ผู้ที่สมควรถูกประณามคือหัวหน้าคสช. กับพวกและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ยอมรับใช้เผด็จการจนปฏิเสธความถูกต้องทำให้คนในชาติเกิดความขัดแย้ง
สาเหตุสำคัญที่สมาชิกรัฐสภาใช้เป็นข้ออ้าง ในการปฏิเสธไม่ให้ความเห็นชอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากนายพิธาและพรรคก้าวไกลมีนโยบายที่จะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งตามร่างที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอต่อสภามีลักษณะไม่เป็นการปกป้อง หรือพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันอาจนำมาซึ่งความไม่มั่นคงของรัฐและกระทบถึงความสงบเรียบร้อยของประชาชน
แม้พรรคก้าวไกลและฝ่ายสนับสนุนจะเห็นว่าประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 เป็นเพียงข้ออ้าง แท้จริงแล้วฝ่ายที่ต้องการสืบทอดอำนาจไม่ต้องการให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล แต่หากพิจารณาจากจำนวน สส. ที่มาจากการเลือกตั้ง จะเห็นว่ามีเพียงพรรคก้าวไกลที่มี สส. 151 คน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ที่ต้องการแก้ไข
ในขณะที่ ส.ส. ที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 70 ไม่ต้องการแก้ไข มาตรา 112 ซึ่งสมาคมทนายความฯ เห็นว่า การแก้ไขประเด็นดังกล่าวจะนำมาซึ่งความขัดแย้งในสังคมไทย พรรคก้าวไกลจึงควรเคารพเจตจำนงของประชาชนที่แสดงผ่าน สส. ส่วนใหญ่ด้วยการเสียสละประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
สมาคมทนายความฯ เห็นว่า หากพรรคก้าวไกลแถลงถึงความชัดเจนในการสละประเด็นการแก้ไขกฎหมายที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งของคนในชาติแล้ว สว. ย่อมไม่มีเหตุอันชอบธรรมที่จะปฏิเสธไม่ให้ความเห็นชอบกับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงข้างมากเป็นนายกรัฐมนตรี หาก สว. ปฏิเสธไม่ให้ความเห็นชอบอันเป็นการฝืนมติของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งแล้ว
ประชาชนจะอยู่ข้างพรรคก้าวไกลกับพวก และจะกดดัน สว. ให้ลงมติให้กับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลก็ตาม แต่พรรคก้าวไกลจะต้องเสียสละประโยชน์ของพรรคเพื่อรักษาประโยชน์ที่เหนือกว่าคือ “ประโยชน์ของประเทศชาติ”