สื่อเทศมองไทย “ทักษิณกลับบ้าน” เติมเชื้อไฟการเมืองร้อนหนักกว่าเก่า

30 ก.ค. 2566 | 03:51 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ค. 2566 | 03:51 น.

สื่อต่างชาติเกาะติดการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งของไทย เชื่อข่าว “ทักษิณกลับบ้าน” เป็นส่วนหนึ่งของ “ซูเปอร์ดีล” ในการจัดตั้งรัฐบาลที่จะโดดเดี่ยวก้าวไกล และยิ่งเติมไฟให้อุณหภูมิการเมืองไทยร้อนหนักยิ่งขึ้น

 

สื่อต่างประเทศหลายสำนัก รายงานข่าว การกลับไทย ของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หนีคดีอยู่ในต่างแดนเป็นเวลาถึง 15 ปี และประกาศจะกลับบ้านเกิดเมืองนอนในเดือนสิงหาคมนี้ ว่าดูเหมือนจะยิ่งเพิ่มความปั่นป่วนให้กับสถานการณ์ การเมืองของไทย ที่วุ่นวายอยู่แล้วตั้งแต่หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา

จากการบอกเล่าผ่านอินสตาแกรมของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กซึ่งปัจจุบันเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่กำลังเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล อดีตนายกฯทักษิณที่เพิ่งฉลองวันเกิดครบรอบปีที่ 74 เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา จะกลับสู่ประเทศไทยในวันที่ 10 สิงหาคมนี้

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุในบทความ Thaksin to Return From Exile Amid Thai Post-Election Chaos ว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อดีตนายกฯผู้นี้ ประกาศว่าจะกลับบ้านเกิดเมืองนอนที่เขาต้องจากมา หลังเกิดการรัฐประหารในปี 2006 (พ.ศ.2549) ก่อนหน้านี้ครั้งหลังสุดเมื่อเดือนพ.ค. เขาเคยกล่าวว่าจะกลับไทยก่อนวันเกิดเพื่อจะกลับมาเลี้ยงหลานทั้ง 7 คน แต่ก็ยังไม่ได้กลับ

อย่างไรก็ตาม แพทองธารกล่าวว่า ครั้งนี้จะแตกต่างไปจากครั้งก่อนๆ เพราะมีการเตรียมการต้อนรับการกลับมาของพ่อแล้ว

“การประกาศกลับไทยของนายทักษิณเป็นการส่งสัญญาณว่ากำลังมีการทำข้อตกลงระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆในฝั่งอนุรักษ์”

บลูมเบิร์กระบุว่า ช่วงเวลาการประกาศกลับเมืองไทยของนายทักษิณช่างตรงกับช่วงเวลาที่พรรคเพื่อไทยกำลังพยายามระดมเสียงสนับสนุนในการจัดตั้งรัฐบาลจากฟากฝั่งพรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยมในสภาผู้แทนราษฎร(สส.) รวมทั้งเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ที่มีอำนาจในมือในการสนับสนุนผู้ที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

แม้ว่า 8 พรรคพันธมิตรฝ่ายประชาธิปไตยที่มีข้อตกลงร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยรวมอยู่ด้วยนั้น จะมีจำนวนสส.เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกฯของกลุ่มพันธมิตร 8 พรรค ให้ผ่านโหวตเลือกนายกฯในการประชุมร่วมสองสภาทั้งสองครั้งไปได้

ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลส่งผลต่อตลาดหลักทรัพย์ของไทยและความมั่นใจของนักลงทุน สะท้อนออกมาในรูปของเงินทุนไหลออกมากกว่า 3,500 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปีมา แม้ว่ากระแสการเทขายจะเริ่มทุเลาเมื่อมีข่าวพรรคเพื่อไทยกลายมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกล แต่ก็ยังมีแรงต้านอย่างมากในการโหวตนายกฯรอบที่สาม (กำหนดมีขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคมนี้) ตราบใดที่ยังมีชื่อพรรคก้าวไกลรวมอยู่ในสูตรการจัดตั้งรัฐบาล

การประกาศกลับไทยของนายทักษิณเป็นการส่งสัญญาณว่ากำลังมีการทำข้อตกลงระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆในฝั่งอนุรักษ์” ปีเตอร์ มัมฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากบริษัทที่ปรึกษา ยูเรเชีย กรุ๊ป ให้ความเห็น และว่า ยังน่าสงสัยอยู่ว่า นายทักษิณจะทำจริงในสิ่งที่พูดไว้หรือไม่ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาประกาศจะกลับไทย และก็ไม่มีสัญญาณใดๆที่ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆในฝั่งอนุรักษ์นิยมจะได้ข้อตกลงร่วมกันแล้ว

จริงหรือไม่ ที่พรรคก้าวไกลและนายพิธา กำลังจะถูกโดดเดี่ยวและเขี่ยให้กระเด็นไปเป็นฝ่ายค้าน

ด้าน สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐ นำเสนอพาดหัว Thaksin's Return Set to Heat Up Thai Politics สะท้อนมุมมองในทิศทางเดียวกันว่า การกลับไทยของนายทักษิณน่าจะทำให้การเมืองไทยร้อนระอุยิ่งขึ้นไปอีก เพราะความเคลื่อนไหวในครั้งนี้อาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มองว่า นายทักษิณเป็นตัวการสร้างความแตกแยกในบ้านเมืองด้วยการใช้เงิน เกมการเมือง และการทุจริตคอร์รัปชัน แต่ขณะนี้พรรคเพื่อไทยซึ่งได้จำนวนสส.ในสภามากเป็นอันดับสอง (รองจากพรรคก้าวไกล) ก็กำลังเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

ข่าวการกลับไทยของอดีตนายกฯทักษิณสร้างความปีติยินดีให้กับกลุ่มผู้ที่สนับสนุนเขา รวมทั้ง “คนเสื้อแดง” คนหนึ่งซึ่งให้สัมภาษณ์วีโอเอว่า ประเทศไทยเป็นบ้านเกิดของนายทักษิณ เขาควรได้กลับบ้าน และเชื่อว่าจะเป็นการกลับมาอย่างสง่างาม

แต่เรื่องนี้อาจจะแตกต่างไปบ้างจากมุมมองของฝ่ายตรงข้าม เพราะนายทักษิณนั้นมีคดีติดตัวอยู่และโทษถึงขั้นจำคุกมากกว่า 10 ปี ตำรวจยืนยันแล้วว่าถ้าเขามาจริง ก็จะถูกควบคุมตัวในทันทีที่มาถึง “ถ้าทักษิณกลับมา เขาจะก้าวเข้าสู่แผ่นดินไทยท่ามกลางวิกฤตการเมืองครั้งใหม่” วีโอเอระบุ

เซาธ์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ สื่อใหญ่ของฮ่องกง พาดหัว Thailand’s Thaksin plans a return amid rumours of a ‘super-deal’ placing Move Forward in opposition ระบุแผนการกลับไทยของนายทักษิณเกิดขึ้นท่ามกลางข่าวลือที่สะพัดว่า พรรคเพื่อไทยของเขากำลังทำข้อตกลงใหญ่ระดับ Super Deal กับพรรคอื่นๆในฝั่งอนุรักษ์นิยมซึ่งรวมทั้งพรรคที่มีกองทัพหนุนหลัง ไม่ว่าจะเป็นพลังประชารัฐ(พปชร.) หรือรวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เพื่อขอเสียงสนับสนุนในการโหวตนายกฯรอบสาม ซึ่งครั้งนี้เพื่อไทยจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของทางพรรคเอง แม้นั่นอาจหมายความถึงการเขี่ยพรรคก้าวไกลออกไปเป็นฝ่ายค้าน

สื่อฮ่องกงระบุ แม้การทำเช่นนั้นจะทำให้เพื่อไทยสามารถผ่าทางตันในการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ แต่ก็จะทำให้ทางพรรคสูญเสียภาพลักษณ์ความเป็นประชาธิปไตย และตระบัดสัตย์ที่เคยให้ไว้กับประชาชนในช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า จะไม่ร่วมเป็นรัฐบาลผสมกับพรรคการเมืองที่มีกองทัพสนับสนุนหรือมีส่วนร่วมในการทำรัฐประหาร

ข่าวลือสะพัดว่า การกลับไทยของทักษิณ เป็นส่วนหนึ่งของ Super Deal ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคอื่นๆในฝั่งอนุรักษ์นิยมซึ่งรวมทั้งพรรคที่มีกองทัพหนุนหลัง

เดอะ การ์เดียน สื่ออังกฤษรายงานว่า พรรคเพื่อไทยกำลังพยายามอย่างหนักที่จะรวบรวมเสียงสนับสนุนให้ได้มากพอสำหรับการโหวตนายกฯรอบสามซึ่งจะเป็นแคนดิเดตของทางพรรคเพื่อไทยเอง นั่นหมายถึงการเจรจาขอเสียงสนับสนุนจากพรรคที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพที่มีส่วนในการทำรัฐประหารและทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯของพรรคเพื่อไทย ต้องถูกยึดอำนาจ

ขณะที่ รอยเตอร์ รายงานว่า รัฐธรรมนูญไทยที่ร่างภายใต้รัฐบาลทหารในขณะนั้น กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากการประชุมร่วมของทั้งสองสภา (ทั้งสส.และสว.) ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการให้อำนาจแก่สว.ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของกองทัพในการสกัดกั้นการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคใดก็ตาม แม้ว่าพรรคนั้นจะได้จำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนฯมากที่สุด เช่นกรณีที่กำลังเกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกล ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งจึงมองว่า พรรคเพื่อไทยที่พลิกมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทนก้าวไกล จำเป็นต้องทำ “ข้อตกลง” กับพรรคที่มีทหารหนุนหลัง เพื่อฝ่าด่านการโหวตนายกฯไปให้ได้

รอยเตอร์อ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของ ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การกลับไทยของนายทักษิณน่าจะเป็นสัญญาณว่า พรรคเพื่อไทยได้พบสูตรการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว แต่การทำเช่นนั้นอาจทำให้ต้องบาดหมางกับก้าวไกล โดยเชื่อว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองพรรคคงต้องแตกหัก เพราะเพื่อไทยต้องการร่วมรัฐบาลและจำเป็นต้องโดดเดี่ยวก้าวไกล เชื่อว่าการกลับไทยของอดีตนายกฯทักษิณเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลในรูปแบบดังกล่าว

ข้อมูลอ้างอิง