คลัง จ่อขยายเพดานหนี้ กู้แจกเงินดิจิทัล

01 ก.ย. 2566 | 06:20 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ย. 2566 | 07:08 น.

“เศรษฐา” เครื่องร้อนสั่งเตรียมพร้อมเร่งอัดฉีดนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ “คลัง” จ่อใช้มาตรการกึ่งการคลัง ขยายเพดานก่อหนี้ แจกเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้าน แลกวินัยการเงินการคลัง

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เชิญหน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจ ทั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง เข้ามาหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในการเร่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และแถลงนโยบายต่อรัฐบาล

ประเด็นสำคัญที่นายเศรษฐา ขอให้สภาพัฒน์ และกระทรวงการคลังพิจารณาคือการจัดสรรงบประมาณมาใช้ในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล วงเงิน 560,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ นโยบายพรรคเพื่อไทย ได้ระบุแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินโครงการมาจากบริหารระบบงบประมาณและระบบภาษี คือ ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 จำนวน 260,000 ล้านบาท ภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 100,000 ล้านบาท การบริหารจัดการงบประมาณ 100,000 ล้านบาท และการปรับลดงบประมาณสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการติดตามนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่มีการประกาศว่าจะมีนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท สำหรับผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป คาดว่าจะใช้งบประมาณสูงถึง 5.6 แสนล้านบาทนั้น หากพิจารณาจากงบประมาณรายจ่าย ปีงบประมาณ 2567 ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดวงเงินไว้ 3,350,000 ล้านบาท คงจะไม่เพียงพอ

แม้ว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะมีการปรับปรุงกรอบงบประมาณก็ไม่เพียงพอกับเงินที่จะนำมาดำเนินโครงการ เพราะในส่วนของงบกลาง หรือเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ก็มีข้อจำกัดในการใช้งาน เนื่องจากจะต้องสำรองไว้ใช้หากมีความจำเป็นหรือกรณีเกิดภัยพิบัติ เพื่อดูแลประชาชนเพิ่มเติม

ดังนั้น เงินที่จะนำมาดำเนินโครงการได้ ส่วนหนึ่งจะต้องมาจากนโยบายกึ่งการคลัง ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่ให้สถาบันการเงินของรัฐออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการไปก่อนแล้วรัฐบาลจะทยอยตั้งงบประมาณชดเชยให้ภายหลัง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังมีความกังวลเรื่องวินัยการเงิน การคลัง และความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 ปัจจุบัน เหลือประมาณ 18,000 ล้านบาท ก็จะเต็มกรอบเพดานการใช้จ่ายตามมาตรา 28 ที่กำหนดให้ก่อหนี้สูงสุดไม่เกิน 1.01 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 32%ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท

 

ขณะที่งบประมาณ 2567 ที่กำหนดกรอบวงเงินไว้ 3.35 ล้านล้านบาท จะมีพื้นที่การดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง มาตรา 28 ก่อหนี้ได้สูงสุดไม่เกิน 1.07 ล้านล้านบาท หากขยายเพดานมาตรา 28 กลับไปสู่ที่ระดับ 35% ของงบประมาณรายจ่าย เหมือนปี 2564 จะทำให้มีพื้นที่ในมาตรา 28 เพิ่มขึ้น ประมาณ 2 แสนล้านบาท

หากใช้ช่องทางมาตรา 28 ในการดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องขยายเพดานการก่อหนี้มาตรา 28 สูงกว่า 35% แต่ยังมองว่าเป็นการใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล และจะเป็นข้อจำกัดหากต้องการใช้วงเงินจากมาตรา 28 ไปดูแลประชาชนผ่านโครงการอื่นๆ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

สิ่งที่กระทรวงการคลังเป็นห่วงคือ ภาระผูกพันจากการดำเนินโครงการนโยบายของรัฐบาลตามมาตรา 28 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 ภาระผูกพันดังกล่าวมีจำนวนรวมอยู่ที่ 1,039,920 ล้านบาท คิดเป็น 33.35% ของงบประมาณรายจ่ายปี 2565 แบ่งเป็น ภาระผูกพันที่นับรวมอยู่ในหนี้สาธารณะแล้ว จำนวน 206,049 ล้านบาท ลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาล จำนวน 601,512 ล้านบาท และประมาณการภาระผูกพันที่ยังไม่มีการรับรู้ จำนวน 232,359 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลมีการอนุมัติโครงการใหม่ตามมาตรา 28 จำนวนทั้งสิ้น 210,039 ล้านบาท แบ่งเป็น มาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 186,217 ล้านบาท, ช่วยผู้ประกอบการรายย่อย 16,764 ล้านบาท, และผู้มีรายได้น้อย 7,059 ล้านบาท ฉะนั้น การดำเนินโครงการตามมาตรา 28 อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการคลังในอนาคตและสร้างภาระให้กับหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากหน่วยงานจากรัฐต้องสำรองจ่ายเงินตนเองไปก่อน

“รัฐบาลควรดำเนินโครงการตามมาตรา 28 เท่าที่จำเป็น ซึ่งต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ และผลักดันโครงการที่มีการดำเนินการเป็นประจำทุกปี ควรวางแผนล่วงหน้าได้ให้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณจากกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นลำดับแรก อีกทั้ง จะต้องมีการพิจารณาปรับลดกรอบเพดานมาตรา 28 ให้กลับสู่ระดับปกติ ที่ระดับ 30%ของงบประมาณรายจ่าย”