รัฐบาลไต้หวันอนุมัติเงินช่วยเหลือมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ไต้หวันให้กับบริษัทขนส่งสินค้าทางเรือที่ประสบปัญหาขาดทุน หวั่นเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยบริษัท ฮันจินชิปปิ้ง ของเกาหลีใต้
เดอะวอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า แผนการช่วยเหลือบริษัทผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือประมาณ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่รัฐบาลไต้หวันอนุมัติในสัปดาห์นี้ ประกอบไปด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยมีเป้าหมายหลักในการช่วยเหลือบริษัท เอเวอร์กรีน มารีนคอร์ป และบริษัท หยางหมิง มารีนทรานสปอร์ต ซึ่งต่างเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ของโลก
นายหวัง โกว-ไจ่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงขนส่งและสื่อสารของไต้หวัน กล่าวว่า "ไต้หวันพึ่งพาบริษัทขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศในการขนส่งสินค้าที่เข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเรา" พร้อมกับเสริมว่า ผลกระทบจากการล้มละลายของบริษัท ฮันจินชิปปิ้ง ของเกาหลีใต้เมื่อเดือนสิงหาคม สร้างความปั่นป่วนให้กับซัพพลายเชนทั่วโลก โดยมีสินค้ามูลค่ามากถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตกค้างอยู่ในทะเลเป็นเวลาหลายเดือน
"สถานการณ์ของฮันจินแสดงให้เราเห็นว่ารัฐบาลต้องให้การสนับสนุนกับอุตสาหกรรมเดินเรือก่อนที่ความเสียหายจะรุนแรงเกินควบคุม" นายหวังกล่าว
เรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทำหน้าที่ขนส่งสินค้าจากอุตสาหกรรมการผลิตประมาณ 98% ของทั่วโลก อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมเดินเรือขนส่งสินค้าทางทะเลกำลังเผชิญกับภาวะตกต่ำอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี เนื่องจากผลกระทบของการค้าโลกที่ชะลอตัว และกำลังการขนส่งที่ล้นเกินความต้องการ ส่งผลให้ราคาค่าขนส่งสินค้าลดต่ำลงจนแทบจะไม่คุ้มทุน
การชะลอตัวของธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือข้ามประเทศส่งผลให้ผู้เล่นรายใหญ่จำนวนหนึ่งจำเป็นต้องควบรวมกิจการ หรือตั้งกลุ่มพันธมิตรขึ้นเพื่อรักษาความคุ้มทุนทางการเงิน อาทิ 3 บริษัทชิปปิ้งรายใหญ่ของญี่ปุ่ คือ นิปปอน ยูเซน, มิตซุย โอ.เอส.เค. ไลน์, และคาวาซากิ ไคเซน ไคชา กล่าวเมื่อเดือนก่อนว่าจะควบรวมธุรกิจขนส่งตู้สินค้าทางเรือด้วยกัน เพื่อต่อสู้กับภาวะธุรกิจชะลอตัวด้วยซินเนอร์จี
องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) คาดการณ์การค้าโลกในปีนี้เติบโตเพียง 1.7% นับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2551
อัตราค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางเรือในเส้นทางเอเชียถึงยุโรปอยู่ในระดับเฉลี่ยเพียงไม่ถึง 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตู้ต่อเดือน ในขณะที่จุดคุ้มทุนอยู่ที่ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ผู้บริหารบริษัทขนส่งสินค้าทางเรือประเมินว่า ผู้ให้บริการรายใหญ่ 20 อันดับแรกของโลกจะขาดทุนรวมกันมากถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้
สำหรับแผนการให้ความช่วยเหลือนั้น กระทรวงขนส่งและสื่อสารของไต้หวันกำหนดว่า บริษัทผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือใดๆ ที่ขาดทุนสุทธิเป็นระยะเวลา 4 ไตรมาสติดต่อกัน มีสิทธิยื่นขอรับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งในช่วง 4 ไตรมาสที่ผ่านมา เอเวอร์กรีนขาดทุนสุทธิสะสม 8.91 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน และหยางหมิง มารีน ขาดทุนสุทธิสะสม 1.68 หมื่นล้านดอลลาร์ไต้หวัน
"นี่เป็นช่วงเวลาที่อันตรายสำหรับบริษัทชิปปิ้ง และรัฐบาลต้องการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุด 2 รายของประเทศอย่างเพียงพอ เพื่อไม่ให้พวกเขาขาดเงินในมือถ้าเกิดปัญหา" ลาร์ส เจนเซ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทที่ปรึกษา ซี อินเทลลิเจนซ์ ให้ความเห็น
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,211 วันที่ 20 - 23 พฤศจิกายน 2559