จีนผงาดผลิตเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ผลิตในจีนลำแรกขึ้นบินเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2560 ส่งให้จีนก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องบินขนาดใหญ่รายล่าสุดต่อจากมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และรัสเซีย
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เครื่องบินรุ่น ซี919 ที่ผลิตในประเทศจีน ขึ้นบินเป็นครั้งแรกเป็นเวลา 90 นาที โดยผ่านการทดสอบด้านเทคนิคและความปลอดภัยต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยหลังจากเริ่มต้นผลิตในปี 2558 ด้วยงบประมาณการพัฒนาประมาณ 8.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่สื่อท้องถิ่นของจีนระบุว่า การขึ้นบินของซี919 ในครั้งนี้หมายความว่าจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ชั้นนำของโลก
“ซี919 บรรทุกความมุ่งมั่นของรัฐบาล ความฝันของประเทศจีน และความคาดหวังของชาวจีน” นายจินซวงหลง ประธานบริษัท คอมเมอร์เชียลแอร์คราฟท์คอร์เปอเรชัน ออฟ ไชน่า (COMAC) ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลจีน กล่าว
เครื่องบินรุ่นซี919 มี 168 ที่นั่ง และมีระยะทางในการบิน 3,000 ไมล์ ซึ่งเป็นเซกเมนต์ในตลาดที่มีผู้เล่นหลัก คือ โบอิ้ง 737 และแอร์บัส เอ320 โดยเครื่องบินรุ่นดังกล่าวใช้เวลาพัฒนามาราว 7 ปี
นายเดเร็ก เลอวีน ผู้เขียนหนังสือชื่อ “The Dragon Takes Fight” ซึ่งติดตามความพยายามในการสร้างเครื่องบินซี919 ของจีน กล่าวว่า จีนต้องการสร้างเครื่องบินพาณิชย์ของตนเอง เพื่อจะได้ไม่ต้องแบ่งส่วนตลาดเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่และมูลค่าสูงของประเทศให้กับบริษัทต่างชาติ อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวเป็นเรื่องของความรักชาติมากกว่าเจตนาในเชิงธุรกิจ โดยนายเลอวีนประเมินว่ามีชิ้นส่วนเพียง 30% เท่านั้นที่ผลิตในจีน และชิ้นส่วนหลักๆ ส่วนใหญ่มาจากการผลิตของบริษัทอเมริกัน
แม้ว่าจีนจะตามหลังชาติตะวันตกในเรื่องของการผลิตเครื่องบิน แต่จีนถือเป็นตลาดการบินที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก และในอนาคตมีแนวโน้มจะแซงสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นตลาดอันดับ 1 ของโลก โบอิ้งคาดการณ์ว่า ชนชั้นกลางของจีนที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วจะทำให้ตลาดการเดินทางทางอากาศเติบโตขึ้นเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นแห่งแรกของโลก และมีความต้องการเครื่องบินอีก 7,000 ลำภายในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า หรือประมาณ 30% ของความต้องการทั้งหมดทั่วโลก
นายเลอวีนกล่าวว่า จีนสามารถโน้มน้าวให้สายการบินที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐซื้อเครื่องบินซี919 หรือเครื่องบินขนาดเล็กกว่าที่ผลิตภายในประเทศได้โดยให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยเวลานี้มีคำสั่งซื้อเครื่องบินซี919 แล้ว 566 ลำ ด้าน COMAC คาดการณ์ยอดขายซี919 มากกว่า 2,000 ลำในช่วง 20 ปีข้างหน้า
ด้านโบอิ้งได้เข้ามาเปิดศูนย์ประกอบในจีนเป็นแห่งแรกเมื่อเดือนมีนาคมปีก่อน หลังจากแอร์บัสเปิดโรงงานประกอบของตนเองในปี 2551 “โบอิ้งมียุทธศาสตร์ระยะยาวสำหรับตลาดจีน เราเป็นทั้งซัพพลายเออร์ ลูกค้า ผู้แข่งขัน และหุ้นส่วนทางธุรกิจในอุตสาหกรรมการบินของจีน” นายจอห์น เบิร์นส์ ประธานโบอิ้ง ไชน่า กล่าว
นายเบิร์นส์ยังกล่าวด้วยกว่า COMAC เป็นบริษัทที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และผลิตภัณฑ์จะออกมาแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินระดับโลก “เราจะเป็นทั้งคู่แข่งขันและร่วมมือกัน” ขณะที่ตัวแทนของแอร์บัสในจีนกล่าวว่า แอร์บัสยินดีต้อนรับการแข่งขันจากซี919 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน
อย่างไรก็ดี เลอวีนกล่าวว่า เครื่องบินซี919 จะไม่เป็นภัยคุกคามต่อโบอิ้งหรือแอร์บัส เนื่องจากเมื่อถึงเวลาที่ซี919 เปิดบินในเชิงพาณิชย์ ก็จะล้าหลังเครื่องบินใหม่จากผู้ผลิตชาติตะวันตกทั้ง 2 รายออยู่ประมาณ 15 ปี นอกจากนี้ องค์การบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ (เอฟเอเอ) ยังไม่ให้การรับรองเครื่องบินรุ่นดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการจำกัดการเข้าถึงตลาดในต่างประเทศ
สอดคล้องกับนายเกา หยวนหยาง ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเป่ยหาง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการบินและอวกาศของจีน ที่ยอมรับว่าซี919 จะไม่กระทบต่อการครอบครองตลาดของโบอิ้งและแอร์บัส แต่เชื่อว่าตลาดยังมีพื้นที่ให้กับเครื่องบินที่ผลิตจากจีนที่จะสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดมาได้ อย่างน้อยก็ในตลาดจีนเอง
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,260 วันที่ 11 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2560