จีน-สหรัฐฯพักศึกการค้า แต่แคนาดาจับผู้บริหารหัวเว่ย งานนี้ต้องเคลียร์

07 ธ.ค. 2561 | 04:15 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2561 | 11:21 น.
ตำรวจแคนาดาควบคุมตัว “เมิ่ง หวันโจว” บุตรสาวผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากประเทศจีน ที่เมืองแวนคูเวอร์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561 และเตรียมส่งตัวเธอไปยังสหรัฐอเมริกา โดยกระทรวงยุติธรรมแคนาดาเป็นผู้แถลงเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ขณะที่สถานทูตจีนในแคนาดาได้ออกมาแสดงท่าทีคัดค้านการจับกุมดังกล่าวและเรียกร้องให้ทางการแคนาดาปล่อยตัวเธอในทันที

[caption id="attachment_358057" align="aligncenter" width="503"] เมิ่ง หวันโจว ซีเอฟโอของหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ เมิ่ง หวันโจว ซีเอฟโอของหัวเว่ย เทคโนโลยีส์[/caption]

ปัจจุบันเมิ่งดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน หรือ ซีเอฟโอของบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ และยังเป็นหนึ่งในรองประธานบริษัท บิดาของเธอคือ เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ยฯ เธอถูกจับกุมตามคำขอของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ประสานมายังแคนาดา และจะต้องถูกนำส่งขึ้นศาลแคนาดาในวันศุกร์นี้ (7 ธ.ค.) แหล่งข่าววงในที่ไม่ประสงค์ออกนามเผยว่า เมิ่งถูกคุมตัวด้วยข้อกล่าวหาละเมิดมติคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา โดยก่อนหน้านี้ หน่วยงานของสหรัฐฯ ได้สอบสวนและจับตาการดำเนินธุรกิจของหัวเว่ย ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยสงสัยว่านับตั้งแต่ปี 2559 เป็นอย่างน้อย หัวเว่ยได้ส่งออกสินค้าซึ่งเป็นอุปกรณ์โทรคมนาคมจากสหรัฐอเมริกาไปยังอิหร่านและประเทศอื่นๆที่ถูกสหรัฐฯประกาศคว่ำบาตร การกระทำของหัวเว่ยจึงเข้าข่ายละเมิดกฎหมายว่าด้วยการส่งออกและคว่ำบาตรของสหรัฐฯ

แถลงการณ์ของหัวเว่ยฯ ยืนยันว่ามีการจับกุมตัวซีเอฟโอของบริษัทจริงขณะที่เธอกำลังเปลี่ยนเครื่องบินที่ประเทศแคนาดา แต่บริษัทไม่ได้รับข้อมูลมากนักเกี่ยวกับข้อกล่าวหาและไม่รู้ว่าผู้บริหารของบริษัทได้กระทำผิดกฎหมายอย่างไร

หัวเว่ยเสี่ยงถูกคว่ำบาตรเหมือนแซดทีอี

การจับกุมตัวผู้บริหารของหัวเว่ย ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมอันดับหนึ่งของโลกแล้วยังเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับสองของโลก อาจจะนำมาซึ่งการคว่ำบาตรการทำธุรกิจของบริษัทโดยสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ยิ่งสร้างความยากลำบากให้กับความพยายามที่จะคลี่คลายสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา นักวิเคราะห์กล่าวว่านี่คือจังหวะเวลาที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เพิ่งจะตกลงใจกลับสู่โต๊ะการเจรจาโดยให้เวลาคณะเจรจาร่วมกันหาทางคลี่คลายประเด็นขัดแย้งทางการค้าภายใน 90 วัน โดยสหรัฐฯจะยังไม่ขึ้นภาษีสินค้าจีนในอัตราใหม่ที่เดิมกำหนดไว้ว่าจะขึ้นภาษีในวันที่ 1 มกราคม 2562 นี้ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยังไม่ได้ออกมาแถลงหรือให้ความเห็นใดๆเกี่ยวกับการจับกุมตัวผู้บริหารหัวเว่ยในแคนาดา แต่เหตุการณ์นี้ทำให้ราคาหุ้นของหัวเว่ยฯ รวมทั้งบรรดาซัพพลายเออร์ของหัวเว่ยฯ อาทิ บริษัทควอลคอม และอินเทล พลอยร่วงตามกันลงมา เนื่องจากมีการคาดหมายว่า รัฐบาลสหรัฐฯอาจประกาศคว่ำบาตรไม่ให้บริษัทอเมริกันทำธุรกรรมการค้าใดๆกับหัวเว่ย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเทคโนโลยีในภาพรวม

[caption id="attachment_358059" align="aligncenter" width="503"] เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เพิ่งจะตกลงใจกลับสู่โต๊ะการเจรจาโดยให้เวลาคณะเจรจาร่วมกันหาทางคลี่คลายประเด็นขัดแย้งทางการค้าภายใน 90 วัน เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เพิ่งจะตกลงใจกลับสู่โต๊ะการเจรจาอีกครั้ง โดยให้เวลาคณะเจรจาร่วมกันหาทางคลี่คลายประเด็นขัดแย้งทางการค้าภายใน 90 วัน[/caption]

สื่อจีนอัดหนัก โหมไฟขัดแย้ง

สื่อจีนเองในขณะนี้ได้โหมกระพือไฟความขัดแย้งโดยส่วนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ว่า บริษัทอเมริกันแข่งขันสู้บริษัทจีนไม่ได้ในตลาด รัฐบาลสหรัฐฯจึงต้องหันมาใช้แผนชั่วร้ายเช่นนี้ ในเว็บโซเชียลมีเดียชื่อดังของจีนอย่างเว่ยโป( Weibo) ก็มีชาวจีนออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างเผ็ดร้อน โดยบางส่วนเรียกร้องให้ชาวจีนร่วมกันต่อต้านสินค้าอเมริกัน และให้คว่ำบาตรสินค้าไฮเทคของอเมริกัน เช่นผลิตภัณฑ์ของบริษัท แอปเปิ้ล แล้วหันมาสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยแทน นายเจีย เหวินชาน นักวิชาการและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย แชปแมน ในรัฐแคลิฟอร์เนียให้ความเห็นว่า การจับกุมตัวซีเอฟโอของหัวเว่ยในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่นำมาใช้กับจีน แต่เห็นได้ชัดว่า การเดินหมากเกมนี้ของสหรัฐฯสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะทำให้ความพยายามกลับคืนสู่โต๊ะเจรจาทางการค้าต้องล้มคว่ำไม่เป็นท่า

ZTE

กรณีที่หัวเว่ยกำลังเผชิญอยู่นี้คล้ายกับสิ่งที่เคยเกิดกับบริษัท แซดทีอี ของจีน ซึ่งถูกสอบพบในปี 2560 ว่ามีความผิดฐานละเมิดมติคว่ำบาตรของสหรัฐฯโดยบริษัทลักลอบขายสินค้าเทคโนโลยีที่บริษัทผลิตในสหรัฐฯ ส่งออกให้แก่ประเทศอิหร่านที่ถูกสหรัฐฯคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอยู่   รัฐบาลสหรัฐฯลงโทษแซดทีอีด้วยการคว่ำบาตรไม่ให้บริษัทอเมริกันทำธุรกรรมการค้าใดๆกับแซดทีอี มีผลกระทบรุนแรงต่อห่วงโซ่การผลิตของบริษัทจนต้องปิดโรงงานและสายการผลิต กิจการซวนเซหนัก จนสุดท้ายสหรัฐฯยอมผ่อนปรนและต่อชีวิตธุรกิจให้แซดทีอีด้วยการยกเลิกคำสั่งคว่ำบาตร แต่แซดทีอีต้องจ่ายค่าปรับให้สหรัฐฯถึง 1,000 ล้านดอลลาร์

นายเดวิด มัลโรนีย์ อดีตเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศจีน ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่แคนาดาจะถูกจีนตอบโต้ทางใดทางหนึ่ง เนื่องจากการจับกุมตัวผู้บริหารบริษัทเอกชนจีนรายใหญ่ครั้งนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับจีนเป็นอย่างมาก  ขณะเดียวกันนายเกิ้ง ชวง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้ออกมาแถลงว่า ทั้งแคนาดาและสหรัฐอเมริกา ยังไม่มีประเทศใดออกมาแสดงท่าทีตอบรับต่อความกังวลใจของจีนในเรื่องนี้ “การจับกุมตัวบุคคลโดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนเป็นการคุกคามสิทธิมนุษยชนของเธออย่างแน่นอน” เรื่องนี้หากสหรัฐฯไม่รีบออกมาเคลียร์ การเจรจาสงบศึกการค้า 90 วันที่ตกลงไว้กับจีนก็คงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว

090861-1927-9-335x503-335x503