รายงานศูนย์วิจัยกสิกรไทย : ความสัมพันธ์เชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อนระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ที่เริ่มขึ้นนับตั้งแต่อินเดียและปากีสถานได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2490 โดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งเพื่ออ้างสิทธิเหนือพื้นที่แคชเมียร์ที่เริ่มขึ้นในปีนั้น และดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีความรุนแรงและเกิดปฏิบัติการทางทหารที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นระยะ เช่น ในปี 2508 ปี 2532 และในปี 2542 แต่สถานการณ์รุนแรงดังกล่าวก็สามารถยุติลงได้ในที่สุด ซึ่งก็น่าจะเหมือนกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน เพราะทั้ง 2 ประเทศ ต่างต้องพึ่งพากันในเชิงเศรษฐกิจอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความตึงเครียดที่ร้อนแรงขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จนกระทั่งนำมาสู่การปิดน่านฟ้าของปากีสถานและอินเดียตอนเหนือบางส่วน ในเบื้องต้น น่าจะส่งผลค่อนข้างจำกัด ทั้งด้านการค้าระหว่างไทยกับอินเดียและด้านการท่องเที่ยว ดังนี้
⁍ การค้าระหว่างไทยกับอินเดียและปากีสถานไม่ได้รับผลกระทบ หากไม่ลุกลามไปสู่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ภายใต้การคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่เชื่อว่า จากประสบการณ์ในอดีต ที่ไม่ว่าจะเกิดความตึงเครียดระหว่างอินเดียกับปากีสถานรุนแรงแค่ไหน ก็ส่งผลกระทบจำกัดอยู่แค่พื้นที่โดยรอบเท่านั้น ไม่ส่งผลลุกลามมายังเศรษฐกิจมากนัก และในที่สุด ทั้งคู่ก็สามารถกลับมาอยู่ในจุดที่อยู่ร่วมกันได้ แต่เรื่องสิทธิเหนือพื้นที่แคชเมียร์เป็นเรื่องที่ซับซ้อน จึงมีโอกาสที่จะหวนกลับมาเป็นประเด็นได้อีกในระยะข้างหน้า
ดังนั้น ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างอินเดียกับปากีสถานครั้งนี้ จึงแทบจะไม่ส่งผลต่อการค้าของไทยในปี 2562 เพราะน่าจะคลี่คลายลงได้ หรือไม่ยกระดับรุนแรงไปกว่านี้ อีกทั้งสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ก็ค่อนข้างมีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งปลายทางสินค้าไทยส่วนใหญ่ไปยังเมืองท่าที่อยู่ตอนใต้ของประเทศปากีสถานอย่างเมืองการาจี และเมืองท่าของอินเดียอย่างเมืองมุมไบและเชนไน จากนั้นจึงกระจายต่อไปยังพื้นที่ส่วนอื่นต่อไป ซึ่งการปิดน่านฟ้าตอนบนของทั้ง 2 ประเทศ จึงไม่ส่งผลต่อการค้าของไทย
อนึ่ง ทั้งอินเดียและปากีสถาน ก็นับว่าเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยในลำดับต้น ๆ ของภูมิภาคเอเชียใต้ ที่ประกอบด้วย อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย มัลดีฟส์ เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา ที่ในปี 2561 ไทยส่งออกไปยังเอเชียใต้ รวมมีมูลค่าประมาณ 10,957 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 4.4% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นการส่งสินค้าไปยังตลาดอินเดียถึง 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ ปากีสถาน ซึ่งเป็นคู่ค้าในลำดับถัดมา มีมูลค่าเพียง 1,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกสำคัญเป็นสินค้าที่ไทยส่งไปทั้ง 2 ประเทศ ล้วนมีศักยภาพโดดเด่นอยู่แล้ว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยานยนต์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องยนต์ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
ปัจจุบัน อินเดียใช้ปากีสถานเป็นหนึ่งในเส้นทางขนส่งสินค้าไปยังตะวันออกกลาง และทั้งสองต่างพึ่งพาการค้ากันด้วยอานิสงส์ภายใต้กรอบ การค้าเสรีเอเชียใต้ (South Asian FTA : SAFTA) ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่า ความตึงเครียดระหว่างอินเดียและปากีสถานจะสามารถปรับเข้าสู่สถานะปกติได้ นำไปสู่การจำกัดพื้นที่ความขัดแย้ง และจะสามารถเปิดเส้นทางบินทางอากาศได้โดยเร็ว โดยจะไม่ลุกลามออกไปเป็นความขัดแย้งที่กระทบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และไม่ส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปอินเดียที่เป็นตลาดศักยภาพของไทย โดยคาดว่า การส่งออกของไทยไปอินเดียในปี 2562 จะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ที่ 3.3-5.3% มีมูลค่าส่งออกรวม 7,850-8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ถ้าหากความขัดแย้งลุกลามจนมีผลต่อนโยบายเศรษฐกิจและทิศทางการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีอินเดียที่กำลังจะจัดขึ้นในเดือน เม.ย. - พ.ค. 2562 การส่งออกของไทยในปี 2562 ก็อาจจะเติบโตต่ำกว่าที่คาดได้
⁍ สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอินเดียและปากีสถาน ส่งผลจำกัด โดยคาดว่ายังไม่กระทบต่อแนวโน้มตลาดนักท่องเที่ยวอินเดียเที่ยวไทยในปี 2562
สำหรับประเด็นปัญหาระหว่างอินเดียและปากีสถานที่อาจจะมีผลต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ณ ขณะนี้ ปัจจัยดังกล่าวน่าจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวอินเดียเที่ยวไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวอินเดียที่เดินทางมาเที่ยวไทยจะมาจากในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ดังนั้น ปัญหาการปิดน่านฟ้าของปากีสถานและบางส่วนของอินเดีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการที่สายการบินต้องมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางการบิน มองว่า น่าจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการท่องเที่ยวไทย แต่ก็คงต้องติดตามพัฒนาการของปัญหาต่อไปอีกระยะ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางของตลาดนักท่องเที่ยวอินเดียเที่ยวไทยในปี 2562 น่าจะยังรักษาระดับการเติบโตที่ดีต่อเนื่องได้ โดยมีแรงหนุนส่วนหนึ่งมาจากมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival ที่ช่วยหนุนการเติบโตของนักท่องเที่ยวอินเดียเที่ยวไทยมาตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2561 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2562 นักท่องเที่ยวอินเดียเที่ยวไทยน่าจะมีจำนวนประมาณ 1.70-1.74 ล้านคน ขยายตัว 6.7- 8.7% และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวอินเดียเที่ยวไทย คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 76,680-78,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.2-9.2% อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปีนี้ นอกจากต้องติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอินเดียและปากีสถานแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องติดตาม อาทิ เศรษฐกิจและค่าเงินรูเปียของอินเดีย การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ซึ่งในปีนี้หลายประเทศได้ให้ความสำคัญในการจับกลุ่มนักท่องเที่ยวอินเดียเช่นกัน
อนึ่ง บทบาทของอินเดียต่อเศรษฐกิจไทยในด้านของภาคบริการการท่องเที่ยว นับว่ามีความสำคัญ โดยไทยถือเป็นจุดหมายที่นักท่องเที่ยวอินเดียให้ความสนใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งนักท่องเที่ยวอินเดียที่ท่องเที่ยวในไทยมีความหลากหลาย ทั้งกลุ่มที่เดินทางมาเพื่อการพักผ่อน กลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวในรูปแบบสัมมนา และการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อจัดงานแต่งงานในไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ขณะที่ ในปี 2561 นักท่องเที่ยวอินเดียเที่ยวไทยมีจำนวน 1.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12.8% สูงเป็นอันดับที่ 6 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งหมด และในเดือน ม.ค. 2562 นักท่องเที่ยวอินเดิยเที่ยวไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่องราว 24.9% สำหรับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวอินเดียเที่ยวไทยในปี 2561 มีมูลค่าประมาณ 71,511 ล้านบาท เติบโตถึง 30.6%
กล่าวโดยสรุป อินเดียยังคงเป็นตลาดการค้าและตลาดนักท่องเที่ยวที่น่าสนใจที่มีศักยภาพในการเติบโตตลอดปี 2562 นี้ ซึ่งความขัดแย้งในครั้งนี้คาดว่า น่าจะเป็นเพียงความเสี่ยงระยะสั้น ขณะที่ ปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของอินเดียกับปากีสถาน เป็นเรื่องที่จะยังเป็นประเด็นอ่อนไหวต่อไป แต่ทั้ง 2 ประเทศ ก็สามารถรับมือได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์หลังจากนี้ ว่า ทางออกร่วมกันของอินเดียและปากีสถานจะเป็นไปในทิศทางใด โดยเฉพาะทางฝั่งอินเดีย ซึ่งถ้าหากบทสรุปไม่เป็นไปในลักษณะที่เอื้อต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและการลงทุน อาจทำให้ความพยายามของรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศและดึงดูด FDI ให้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียไม่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งอาจส่งผลทางอ้อมมายังการค้ากับไทยและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวอินเดียที่ต้องติดตามต่อไป