รัฐบาลมาเลเซียชุบชีวิตโครงการก่อสร้างทางรถไฟ “อีสต์โคสต์เรลลิงก์” หรือ โครงการ ECRL เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 โดยโครงการดังกล่าวเป็นการก่อสร้างเส้นทางรถไฟระยะทาง 640 กิโลเมตร พาดผ่านเมืองโกตาบารูในรัฐกลันตันด้านชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก สู่ท่าเรือเมืองแคลงในรัฐเซลังงอร์ที่อยู่ทางด้านตะวันตกของประเทศและเป็นเมืองท่าสำคัญในช่องแคบมะละกา โดยจะมีสถานีรายทางจำนวนทั้งสิ้น 20 สถานี
เส้นทางรถไฟสายนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างจีนและมาเลเซีย ทั้งยังเป็นโครงการในยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (บีอาร์ไอ) หรือเส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน มูลค่าการลงทุน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หลังจากที่มาเลเซียมีการเลือกตั้ง และ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โครงการดังกล่าวก็ถูกสั่งระงับการก่อสร้างเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 หลังจากที่มีการดำเนินงานก่อสร้างมาแล้วระยะหนึ่ง (ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560) โดยรัฐบาลใหม่ของมาเลเซียเห็นว่าเม็ดเงินการลงทุนเดิมนั้นสูงเกินไป
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการระงับโครงการจะทำให้มาเลเซียต้องจ่ายค่าปรับให้กับรัฐบาลจีนถึง 21,780 ล้านริงกิต ดังนั้น ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จึงรื้อฟื้นการเจรจาโครงการขึ้นมาใหม่ มีการเจรจาทั้งในส่วนของภาครัฐและบริษัทก่อสร้างจีนเป็นเวลาหลายเดือน ในที่สุดทั้ง 2 ฝ่ายก็บรรลุข้อตกลงกันได้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา (2562) โดยจีนยอมลดงบก่อสร้างโครงการนี้ลงเหลือ 44,000 ล้านริงกิต หรือประมาณ 330,331 ล้านบาท จากงบเดิม 65,500 ล้านริงกิต และยังได้ปรับเปลี่ยนเส้นทางรถไฟโดยกำหนดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2569 มีบริษัทก่อสร้างหลักของโครงการ ได้แก่ บริษัท ไชน่า คอมมูนิเคชั่นส์ คอนสตรัคชั่นฯ
นายแอนโทนี โล้ก รัฐมนตรีคมนาคมมาเลเซีย กล่าวในพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการครั้งใหม่เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ซึ่งพิธีดังกล่าวมีขึ้นบริเวณพื้นที่ก่อสร้างอุโมงค์รถไฟ ที่อำเภอดูงุน รัฐตรังกานู ว่า ทางรถไฟสายนี้จะช่วยปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนในเขตชนบท โดยเฉพาะชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรมาเลเซีย ส่วนงบก่อสร้างโครงการนี้ 85% จะเป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า หรือ เอ็กซิมแบงก์ของจีน และเนื่องจากต้นทุนก่อสร้างลดลง ดังนั้นภาระดอกเบี้ยเงินกู้ก็จะลดลงมาอยู่ที่ 24,000 ล้านริงกิต
ด้านนายไป๋ เทียน เอกอัครราชทูตจีนประจำมาเลเซีย กล่าวในพิธีเดียวกันว่า เส้นทางรถไฟสายนี้จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนมายังประเทศมาเลเซียมากยิ่งขึ้น เขาเชื่อว่าเมื่อทางรถไฟสายนี้สร้างเสร็จ จะมีนักท่องเที่ยวจากจีนมาเยือนมาเลเซียเพิ่มขึ้น 2 เท่าหรือมากกว่านั้น จากปีที่แล้วคนจีนมาเที่ยวมาเลเซีย 3 ล้านคน
ทั้งนี้ หลังจากที่รัฐบาลได้พลิกฟื้นโครงการกลับคืนมา งานก่อสร้างได้เริ่มขึ้นอีกครั้งโดยเฉพาะในบริเวณที่ต้องมีการขุดอุโมงค์ เช่นอุโมงค์ดูงุนความยาว 871 เมตร อุโมงค์พากา 1.1 กิโลเมตร และอุโมงค์กวนตัน 2.8 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังมีการเร่งเคลียร์พื้นที่บริเวณเมืองชายฝั่งหลายแห่งในรัฐตรังกานู เพื่อเดินหน้าโครงการเต็มกำลังและมุ่งหวังให้การก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเวลา 7 ปีตามที่กำหนดไว้
ภายใต้ข้อตกลงฉบับปรับปรุงใหม่นี้ มาเลเซียและจีนจะลงทุนในบริษัทร่วมทุนที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะฝ่ายละ 50% และจะมีการใช้แรงงานในพื้นที่ 70% เป้าหมายการก่อสร้างแล้วเสร็จคือเดือนธันวาคม 2569 ผู้โดยสารจากเมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์จะสามารถเดินทางถึงเมืองโกตาบารูทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมง ขณะนี้การก่อสร้างทั้งโครงการเดินหน้ามาแล้วประมาณ 10%
หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3492 ระหว่างวันที่ 1 - 3 สิงหาคม 2562