บทความพิเศษโดย:เอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก
นับตั้งแต่ปี 2533 ภายหลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ เช็กนับเป็นประเทศที่ถูกมองว่า มีแนวคิดเสรีในเรื่องการใช้กัญชาและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และรัฐบาลได้อนุญาตให้ประชาชนสามารถมีกัญชาไว้ในครอบครองได้
(ในจำนวนที่กำหนด) โดยไม่ผิดกฎหมายเช่นเดียวกับ ลัตเวีย อิตาลี บัลแกเรีย สเปน และอีกหลายประเทศในยุโรป และจากสถิติพบว่า ในปัจจุบันมีชาวเช็กประมาณ 15% ใช้กัญชาและสารสกัดจากกัญชาในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสถิติดังกล่าวถือว่าสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก แต่ในขณะเดียวกันพบว่า อัตราการเสียชีวิตของประชากรจากการใช้ยาเสพติดอื่น ๆ รวมทั้งกัญชายังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคยุโรป
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556 เช็กได้ออกกฎหมายให้มีการนำกัญชาและสารสกัดจากกัญชามาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์โดยอยู่ภายใต้ข้อกำหนดและการควบคุมอย่างเคร่งครัดเป็นครั้งแรก สาระสำคัญของปริมาณกัญชาที่อนุญาตให้มีไว้ในครอบครองได้ มีดังนี้ (1) บุคคลทั่วไปสามารถถือครองกัญชาแห้งได้ไม่เกิน 10 กรัม (2) การซื้อ-ขายกัญชาและสารสกัดจากกัญชายกเว้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย (3) การจัดหากัญชาเกิน จำนวน 15 กรัม เป็นความผิดตามกฎหมายยกเว้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ (4) บุคคลทั่วไปสามารถปลูกต้นกัญชาได้ไม่เกิน 5 ต้นต่อคน ยกเว้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ โดยผู้ได้รับอนุญาตจะได้รับโควต้าในการปลูกในจำนวนที่มากขึ้น และการสูบกัญชาในพื้นที่สาธารณะ เช่น ร้านอาหาร ผับ และร้านกาแฟยังเป็นความผิดตามกฎหมาย ผู้ฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษตั้งแต่ปรับจนถึงจำคุก ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณกัญชาที่อยู่ในครอบครองและพฤติกรรมการใช้กัญชาของแต่ละบุคคล
แม้รัฐบาลเช็กจะยอมให้มีการนำกัญชาและสารสกัดจากกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แต่ในปีแรกของการเริ่มใช้กฎหมายดังกล่าวรัฐบาลยังอนุญาตให้ใช้กัญชาและสารสกัดจากกัญชาที่นำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยด้านมาตรฐานและคุณภาพของผลิตภัณฑ์กัญชา และในระยะเริ่มต้นเช็กยังคงประสบปัญหาการปลูกและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาเพื่อการแพทย์ และการควบคุมมาตรฐานการผลิตสินค้าจากกัญชา จึงต้องพึ่งการนำเข้าจากบริษัท Bedrocan ของเนเธอร์แลนด์เป็นหลักโดยในปี 2556 บริษัท Elkoplast Slusovice เป็นบริษัทเช็กเพียงแห่งเดียวที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขในการเป็นผู้นำเข้ากัญชาและสารสกัดจากกัญชาจากเนเธอร์แลนด์ และนำเข้าครั้งแรกในจำนวน 3.175 กิโลกรัม ต่อมาในปี 2559 เช็กเริ่มพัฒนาการเพาะปลูกกัญชาในสายพันธุ์ที่จะนำมาใช้ในการรักษาโรคซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่นำเข้าจากบริษัท Bedrocan ที่มีสัดส่วนของสาร THC : CBD เท่ากับ 22 : 1 และเริ่มออกใบอนุญาตการปลูกกัญชาให้กับเกษตรกรชาวเช็กมากขึ้นตามลำดับ โดยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2561 สารสกัดจากกัญชาที่ผลิตจากกัญชาที่ปลูกภายในประเทศ ได้ถูกวางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในร้านขายยาแต่ยังคงมีราคาสูงกว่าสารสกัดจากกัญชาที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยมีราคาอยู่ที่ประมาณ 270 บาท/กรัม
ในปัจจุบันเช็กได้นำกัญชาและสารสกัดจากกัญชามาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ ผู้ป่วยต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ต้องเป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรคเอดส์ มะเร็ง หลอดเลือดตีบ และพาร์กินสันเท่านั้น และต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ที่ได้รับอนุญาตให้จ่ายยาจากกัญชาและสารสกัดจากกัญชาได้เท่านั้น อย่างไรก็ดี การใช้กัญชาเพื่อรักษาผู้ป่วยยังคงไม่เป็นที่แพร่หลายในปัจจุบันเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง และบริษัทประกันสุขภาพยังไม่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลด้วยกัญชาและสารสกัดจากกัญชา จึงทำให้มีผู้ป่วยจำนวนไม่มากนักที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว
การใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ภายในเช็กได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องแม้ไม่อยู่ในอัตราก้าวกระโดดแต่รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อพัฒนามาตรฐานและคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากกัญชาเพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์มาโดยตลอด รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลและนักวิจัยในสาขา life science และ Biomedicine ซึ่งจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยสารสกัดจากกัญชาในปี 2561 มีทั้งหมด 447 ราย (เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปี 2560) ในขณะที่แพทย์ผู้ได้รับอนุญาตให้รักษาและสั่งยาที่มีส่วนประกอบของสารสกัดจากกัญชามีจำนวน
57 ราย และมีร้านขายยาที่ได้รับใบอนุญาตให้ขายสารสกัดจากกัญชาตามการสั่งยาของแพทย์ทั้งหมด 41 แห่ง
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งในศักยภาพด้านกัญชาของเช็กคือ ปัจจุบันกรุงปรากเป็นที่ตั้งของสถาบัน International Cannabis and Cannabinoids Institute (ICCI) ซึ่งเป็นสถาบันความเป็นเลิศในสาขาการวิจัยและพัฒนาด้านกัญชาและสารสกัดจากกัญชาแห่งแรกในภูมิภาคยุโรปกลาง โดยเป็นความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์ องค์กรผู้ป่วย และการลงทุนของภาคเอกชนโดยบริษัท Dioscorides Global Holdings (DGH) บริษัทเงินทุนสัญชาติอเมริกันที่มุ่งลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาคุณภาพของกัญชาและสารสกัดจากกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และสถาบัน ICCI ยังได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในด้าน life science และbiomedicine ของเช็ก เช่น Charles University และ Czech University of Life Science ในกรุงปราก และ Masaryk University และ Mendel University ในเมือง Brno และยังได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจากนอกประเทศกว่า 40 แห่ง เช่น Hebrew University ของอิสราเอล รวมทั้งการสนับสนุนจาก UN หน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
ICCI มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความร่วมมือและสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการนำสารสกัดจากกัญชาไปใช้ในการรักษาโรคแบบองค์รวม (multidisciplinary approach) โดยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ มุ่งศึกษาการนำสารสกัดจากกัญชาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ที่หลากหลาย การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่าง ผู้เชี่ยวชาญในการรักษา เทคนิคและขั้นตอนการสกัดกัญชา รวมถึงการร่วมมือกับ Patient Focus Certification (PFC) ในการให้บริการประเมินคุณสมบัติของกัญชาในแต่ละประเภท ภายใต้การกำกับดูแลของ Department of Food Analysis and Nutrition, University of Chemistry and Technology Prague (VSCHT) ประเด็นสำคัญที่ ICCI ได้ทำการศึกษาคือ เรื่องของคุณภาพและความบริสุทธิ์ของสารสกัดและน้ำมันกัญชา และการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในผลิตภัณฑ์จากกัญชา (quality and authenticity of used oil and the possible content of environmental contaminants) และจากการศึกษาพบว่า ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังคงมีปัญหาในเรื่องของข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับความเป็นจริง ความไม่ถูกต้องของระดับสาร THC และ CBD ในผลิตภัณฑ์ และการปนเปื้อนของสาร Polycyclic aromatic hydrocarbons (PAUs) ซึ่งเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งในผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกัญชาประเภทต่าง ๆ
การที่รัฐบาลเช็กให้ความสำคัญกับการพัฒนาการใช้สารสกัดจากกัญชาในการรักษาโรคอย่างเป็นระบบโดยให้ความสำคัญทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างบุคลากรทางการแพทย์และด้านสาธารณสุขที่มีความเชี่ยวชาญในด้านดังกล่าว การเปิดรับความร่วมมือจากต่างประเทศและการเสนอที่จะให้บริการในการประเมินคุณภาพของผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกัญชาและพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาในเรื่องดังกล่าวกับประเทศต่าง ๆ นับว่าเป็นโอกาสดีสำหรับประเทศไทยซึ่งอยู่ระหว่างการกำหนดนโยบาย การพัฒนาเทคโนโลยี ควบคู่กับการพิจารณาออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้
การลงนาม MOU ระหว่าง ICCI และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการใช้สารสกัดจากกัญชาในการรักษาและการพัฒนาโครงการวิจัยด้านกัญชาและสารสกัดจากกัญชาเมื่อเดือนตุลาคม 2562 นับเป็นความร่วมมือระหว่างICCI กับประเทศในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก และนับเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศของ ICCI กับประเทศ นอกภูมิภาคยุโรป และโดยที่การแพทย์ของไทยได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงในระดับระหว่างประเทศอยู่แล้ว ไทยจึงควรใช้โอกาสจากจุดนี้ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเช็ก รวมทั้งการใช้ประโยชน์และโอกาสจากความร่วมมือระหว่างเช็กกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคยุโรปในการพัฒนาศักยภาพของไทยในการนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์เพื่อให้การรักษาพยาบาลด้วยสารสกัดจากกัญชาของไทยมีความปลอดภัย มีมาตรฐานตามแบบสากล และเป็นที่ยอมรับในเวทีโลกอีกสาขาหนึ่งของการแพทย์ไทย และยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีศักยภาพในการรักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศต่อไป