ธุรกิจ SMEs จีนนับล้านจ่อล่ม สังเวยไวรัสโคโรนา

25 ก.พ. 2563 | 09:17 น.

 

บริษัทเอกชนรายย่อยของจีนนับล้านรายทั่วประเทศกำลังเผชิญภาวะวิกฤตที่ทำให้อาจจะต้องปิดกิจการตามๆกัน หากไม่ได้รับเงินกู้จากธนาคารหรือความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลเป็นการเร่งด่วน  ทั้งนี้ เป็นผลกระทบสืบเนื่องที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” ในจีนที่ทำให้ทั้งลูกค้าและรายได้ของสถานประกอบการลดวูบ บางรายยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติ และหลายรายก็ประสบอุปสรรคในการขนส่งสินค้า ขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งการเข้าถึงวัตถุดิบเนื่องจากรัฐบาลยังคงมาตรการเข้มงวดควบคุมการเข้า-ออกพื้นที่เสี่ยง

ธุรกิจ SMEs จีนนับล้านจ่อล่ม สังเวยไวรัสโคโรนา

ผู้อำนวยการบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของจีนที่ไม่ประสงค์ออกนาม เปิดเผยกับสื่อใหญ่บลูมเบิร์กว่า บริษัทมีสาขา 100 แห่งทั่วประเทศ มีพนักงานรวม 10,000 คน แต่ต้องปิดบริการมาร่วม 1 เดือนแล้วนับตั้งแต่ที่เชื้อไวรัสได้แพร่ระบาดไปทั่ว สถานการณ์ดังกล่าวทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องเงินสด และอีกไม่กี่เดือนหุ้นกู้มูลค่าหลายพันล้านหยวนของบริษัทก็จะครบระยะไถ่ถอนแล้ว ถ้าหากธนาคารไม่ยืดเวลาออกไปให้ บริษัทก็จะต้องผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายมากๆ

 

สภาพคล่องเงินสดเหือดแห้ง

จากการสำรวจบริษัทเอกชนขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของจีนจำนวนรวม 6,422 รายในเดือนก.พ.นี้ จัดทำโดย สมาคมเอสเอ็มอีจีน (Chinese Association of Small and Medium Enterprises) พบว่า 1 ใน 3 หรือราว 33.7% ของบริษัทที่ตอบคำถามการสำรวจ มีเงินสดเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนคงที่อีกเพียง 1 เดือนเท่านั้น ขณะที่อีก 1 ใน 3 (ราว 32.8%) มีเงินสดเพียงพอสำหรับ 2 เดือน นอกจากนี้ มีบริษัท SMEs เพียง 30% ที่สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติ เพราะนอกนั้นเจออุปสรรคใหญ่หลายด้าน ทั้งมาตรการคุมเข้มของรัฐบาลท้องถิ่น การขาดแคลนแรงงาน และแหล่งเงินทุน   

ธุรกิจ SMEs จีนนับล้านจ่อล่ม สังเวยไวรัสโคโรนา

แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามช่วย ด้วยการปรับลดดอกเบี้ย  ออกคำสั่งให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และผ่อนปรนกฎระเบียบเพื่อให้ผู้ประกอบการดำเนินงานได้สะดวกขึ้น แต่บริษัทเอกชนเป็นจำนวนมากแสดงความคิดเห็นว่า พวกเขายังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนตามที่ต้องการแม้ว่ากำหนดชำระหนี้(หุ้นกู้)จะใกล้เข้ามามากแล้วก็ตาม  ไหนยังจะต้องหาเงินมาจ่ายค่าจ้างพนักงาน ถ้าหากไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินมากกว่าที่เป็นอยู่ หรือหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่พลิกฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็ว ก็เชื่อได้เลยว่าหลายรายจะต้องปิดกิจการไป

 

 

2 ใน 3 ของ SMEs เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน

นายลู่ ฉางชุน นักวิเคราะห์จากบริษัท ปักกิ่ง จงเหอ อิงไถ แมเนจเมนท์ คอนซัลแทนท์ เปิดเผยว่า ถ้าจีนไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาภายในไตรมาสแรกนี้ ก็เชื่อว่าบริษัท SMEs ที่ต้องปิดกิจการจะมีเป็นจำนวนมาก  จากสถิติของ สถาบันการเงินและการพัฒนาแห่งชาติของจีน (China’s National Institution for Finance & Development) พบว่า บริษัทเอกชนของจีนเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 60% และเป็นแหล่งจ้างงานถึง 80% แต่ข้อเท็จจริงก็คือ บริษัทเอกชนจำนวนมากเป็นผู้ประกอบการรายเล็กๆ  ผู้ประกอบการขนาดเล็กของจีนมีจำนวนราว 80 ล้านรายทั่วประเทศ และในจำนวนนี้ประมาณ 2 ใน 3 ของทั้งหมดยังขาดแคลนแหล่งเงินทุน หลายรายเป็นร้านโชห่วยเล็กๆในชุมชน ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้  อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤติไวรัสโคโรนา รัฐบาลจีนได้ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจสู้ไวรัส  และหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือก็คือการปลดล๊อคให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยกู้ได้มากขึ้น และเร่งสร้างการจ้างงานด้วยการเดินหน้าโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆทั่วประเทศ

ธุรกิจ SMEs จีนนับล้านจ่อล่ม สังเวยไวรัสโคโรนา

แต่ปัญหาส่วนหนึ่งก็คือ ความช่วยเหลือของรัฐบาลในช่วงเวลานี้มุ่งเน้นไปที่บริษัทที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรคระบาดมากเกินไป ขณะที่จำนวนบริษัท SMEs ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม อาจถูกมองข้ามหรือไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทั้งที่พวกเขาเองก็ดำเนินธุรกิจได้อย่างยากลำบากมากในสถานการณ์เช่นนี้ ส่วนหนึ่งนั้นเผชิญความยากลำบากมาก่อนแล้วตั้งแต่ช่วงที่จีนยังเปิดสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา และการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ชะลอลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ (ปี 2562 เศรษฐกิจจีนขยายตัวที่อัตราเฉลี่ย 6.1%)  พอสงครามการค้าสงบลงได้ไม่นาน ก็มาถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ธุรกิจ SMEs จีนนับล้านจ่อล่ม สังเวยไวรัสโคโรนา

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากที่สุดคือ ธุรกิจบริการที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยวและการโรงแรม ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจศูนย์การค้าและห้างร้านค้าปลีก  ด้านธุรกิจธนาคารพาณิชย์เองก็ประสบปัญหาเช่นกัน บางรายกำลังดิ้นรนเพิ่มทุนใหม่หลังจากที่ต้องเผชิญปัญหาหนี้เสียและการผิดนัดชำระหนี้ในระดับสูงตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา  บริษัท เอสแอนด์พี โกลบัล ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน ประมาณการว่า หากสถานการณ์โรคระบาดยืดเยื้อออกไป ระบบธนาคารของจีนอาจต้องเผชิญสัดส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าเป็นราวๆ 6.3% หรือเพิ่มขึ้น 5.6 ล้านล้านหยวน

 

นายหวู ไห่ เจ้าของเชนร้านคาราโอเกะ เหมย เคทีวี (Mei KTV) ที่มีจำนวน 100 สาขาทั่วประเทศจีน ยอมรับว่า ธุรกิจกำลังประสบปัญหา เขาเล่าสถานการณ์ผ่านระบบโซเชียลมีเดีย “วีแชท” ว่า ตั้งแต่ไวรัสแพร่ระบาด ร้านสาขาของเขาทุกสาขาก็ถูกปิดชั่วคราวตามคำขอของรัฐบาล ทำให้เขาต้องขาดสภาพคล่องเงินสด และแม้ทางการจะปล่อยเงินกู้พิเศษช่วยเหลือก็ช่วยต่อลมหายใจได้เพียงน้อยนิด หากต้องการเงินกู้มากกว่านี้ก็จะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือสภาพคล่องเงินสดที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ส่วนตัวเขาเองเชื่อว่า หากไม่ได้รับความช่วยเหลือ ก็คงต้องปิดกิจการภายใน 2 เดือนข้างหน้า