จากกรณีที่เริ่มมีการพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งปกปิดข้อมูลการเดินทางไปต่างประเทศในพื้นที่เสี่ยงต่อสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาตัว จนทำให้สถานพยาบาลแห่งนั้นต้องรีบตรวจสุขภาพของบุคลากรในสถานพยาบาลครั้งใหญ่ รวมทั้งทำให้สังคมโดยรวมกังวลกับพฤติกรรมดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก
“ฐานเศรษฐกิจ” ได้ตรวจสอบบทลงโทษ ในกรณีที่จงใจปิดบังข้อมูลประวัติการเดินทางจากประเทศเสี่ยง จาก “พระราชบัญญัติโรคติดต่อแห่งชาติ พ.ศ.2558” ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 6 มีนาคม 2559 เป็นต้นไป
มาตรา 49 ระบุว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และมาตรา 52 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดยแหล่งข่าวจากกรมควบคุมโรค อธิบายว่า โทษจำคุกและปรับดังกล่าว หากผู้ป่วยจงใจปิดบังข้อมูลการเดินทางยังประเทศเสี่ยงไวรัสโคโรนา หรือไม่ยอมเข้ารับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายฉบับนี้จะมีโทษทางกฎหมาย ทั้งจำทั้งปรับ