ม.ดังสิงคโปร์ดันใช้ “วันสิ้นสุดโควิด” กำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุก

29 เม.ย. 2563 | 06:28 น.

“เจี้ยนซี หลัว” นักวิจัยของมหาวิยาลัยชื่อดังในสิงคโปร์ ผู้จัดทำตาราง "พยากรณ์วันสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโควิด-19" ในแต่ละประเทศ เปิดเผยว่า ตารางดังกล่าวสามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับการวางแผนและตัดสินใจ ทำให้สามารถดำเนินการในเชิงป้องกันหรือเชิงรุกได้ดีขึ้น แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคร้ายนั้นมีพัฒนาการตลอดเวลา และรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ก็มีการปรับเปลี่ยนนโยบายที่ใช้ควบคุมโรค ทำให้จำเป็นต้องนำปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงรายวันมาประกอบการพิจารณาด้วย และไม่ควรมองบวกเกินไป เพราะการปลดล็อกมาตรการควบคุมโรคเร็วเกินไปอาจส่งผลร้ายตามมา

 

เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและการออกแบบแห่งสิงคโปร์ (เอสยูทีดี) ได้จัดทำเว็บเพจ https://ddi.sutd.edu.sg/when-will-covid-19- end/ เพื่อประมวลข้อมูลและพยากรณ์ถึงพัฒนาการตลอดจนช่วงเวลาสิ้นสุดของโรคระบาด “โควิด-19” ในประเทศต่าง ๆ 131 ประเทศทั่วโลก โดยมีการอัพเดตการพยากรณ์ทุก ๆ วันตามข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในแต่ละประเทศ

 

หลังการเปิดตัวเว็บเพจจนถึงวันที่ 26 เมษายน มีผู้เข้าเยี่ยมชมแล้วมากกว่า 1 ล้านคนจากทั่วโลก และมีการกล่าวถึงต่อ ๆ กันเป็นอย่างมากในโซเชียลมีเดีย

 

ปลัดสธ.ย้ำ ต้องตรวจและควบคุมต่อเนื่องอีกระยะ

ทั้งนี้ เอสยูทีดีประเมินวงจรการเกิดโรคระบาดในแต่ละประเทศด้วยข้อมูลจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งข้อมูลในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้เห็นถึง “จุดหักเห” ของสถานการณ์และระยะที่คาดว่าการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวจะสิ้นสุดลง (ซึ่งหมายถึงการมีผู้ติดเชื้อคนสุดท้าย) การพยากรณ์ดังกล่าวจัดทำโดย นาย เจี้ยนซี หลัว (Jianxi Luo) ผู้ทำการวิจัยของเอสยูทีดี ซึ่งเริ่มต้นการวิจัยด้วยข้อสงสัยว่าโรคระบาดโควิด-19 ในสิงคโปร์จะยุติลงเมื่อใด ซึ่งจากข้อมูลที่ประมวลเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา พบว่า สิงคโปร์เพิ่งอยู่ในช่วงต้นที่การติดเชื้อกำลังเร่งขยายตัวหรือเป็นกราฟขาขึ้น ขณะที่สหรัฐอเมริกาและอิตาลีผ่านพ้นช่วงจุดหักเหไปแล้วและกราฟกำลังเข้าสู่ทิศทางขาลง (ของกราฟทรงระฆังคว่ำ) ใกล้ถึงระยะสิ้นสุดการแพร่ระบาด

 

ในส่วนของประเทศไทยนั้น เอสยูทีดีพยากรณ์จุดสิ้นสุดของการระบาดของโควิด -19 เอาไว้เป็นระยะ ๆ ดังนี้ คือ คาดว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ 97% (หรือตรวจพบผู้ติดเชื้อถึงระดับ 97% ของทั้งหมด) เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา และจะคุมได้ 99% ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ก่อนจะสิ้นสุดการแพร่ระบาดหรือมีผู้ติดเชื้อคนสุดท้าย (100%) 11 มิถุนายนนี้ 

 

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสมชาย แสวงการ  สมาชิกวุฒิสภา  (ส.ว.) ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา  ได้โพสต์แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า นับเป็นข่าวที่น่ายินดีที่สุด โดยติดแฮชแท็ก #ข่าวน่ายินดีสุดๆครับ เช่นเดียวกับนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดสาธารณสุข ที่โพสต์เฟซบุ๊กบอกฝากมายังคนไทยทั้งประเทศว่า ประเทศไทยจะต้องร่วมมือกัน ช่วยกันให้เกิด New Normal โดยการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) และต้องทำ test and tracing (การตรวจหาเชื้อและย้อนรอยบุคคลที่ผู้ป่วยติดต่อด้วยเพื่อกักตัวเฝ้าระวังอาการ) เพื่อจำกัดการเกิดผู้ป่วยรายใหม่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

 

ขณะที่โลกจะต้องเผชิญโควิด-19 ยาวนานกว่านั้น แต่ก็คาดว่าจะสิ้นสุดการแพร่ระบาดในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 (ตัวเลขพยากรณ์ทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น เป็นข้อมูล ณ วันที่ 26 เมษายน แต่หลังจากนั้นจะมีการอัพเดตทุกวันและมีการเปลี่ยนแปลงได้)

ข้อมูลใหม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน

การพยากรณ์ว่าโรคระบาดโควิด-19 จะสิ้นสุดลงเมื่อใด เป็นเรื่องยากเพราะอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน แต่กระนั้น เนื่องจากมีการเก็บข้อมูลรูปแบบการแพร่ระบาดของโรคเมื่อในอดีตเอาไว้ ประกอบเข้ากับข้อมูลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันที่มีการเก็บอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะนำข้อมูลเข้าสู่สูตรการคำนวณเพื่อประมวลออกมาว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดลงเมื่อใด นอกจากนี้ เมื่อมีข้อมูลเข้ามาเพิ่มขึ้นทุกวัน ก็จะมีการปรับการพยากรณ์ทุกวันตามการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลที่เข้ามา

ม.ดังสิงคโปร์ดันใช้ “วันสิ้นสุดโควิด” กำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุก

การเฝ้าติดตามพยากรณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคต เช่น การพยากรณ์จุดสิ้นสุดของโรคระบาด โดยใช้ข้อมูลล่าสุดในแต่ละช่วงเวลา ทำให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ รวมทั้งองค์กรธุรกิจสามารถวางแผน ตัดสินใจ และมีความรู้สึกหรือการกระทำอย่าง “มีข้อมูลสำหรับอนาคต” มากขึ้น ทำให้สามารถดำเนินการในเชิงป้องกันหรือเชิงรุกได้ดีขึ้น

 

ในทางตรงข้าม การติดตามสถานการณ์ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เป็นเพียงการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด การหายป่วย และการเสียชีวิต ตามที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละวัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายหรือมาตรการเชิงรับ เช่นมาตรการล็อกดาวน์ที่ถูกนำมาใช้เมื่อมีการรายงานการติดเชื้อจำนวนมาก

 

นโยบายภาครัฐมีผลต่อจุดสิ้นสุดกราฟ

ทั้งนี้ ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีรูปแบบ มีวงจรชีวิตตั้งแต่จุดแรกเริ่มการแพร่ระบาด ช่วงขยายลุกลาม ช่วงที่เป็นจุดหักเห ระยะชะลอการแพร่เชื้อ และสุดท้ายก็เป็นระยะที่การแพร่กระจายของโรคสิ้นสุดลง ซึ่งวงจรดังกล่าวเป็นผลมาจากพฤติกรรมปรับตัวและรับมือทั้งในระดับปัจเจกบุคคล (เช่น การไม่สัมผัสตัวกัน หรือเว้นระยะห่างจากกัน) ไปจนถึงระดับรัฐบาล ( เช่น การประกาศมาตรการล็อกดาวน์ เป็นเมืองๆไป หรือแต่ละรัฐ) รวมไปถึงปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดตามธรรมชาติ  แต่ละประเทศจะมีวงจรของการแพร่ระบาดแตกต่างกันไป อยู่ในขั้นที่แตกต่าง ทำให้ระยะเวลาการสิ้นสุดแตกต่างกันไป เช่น เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ขยายระยะเวลาการล็อกดาวน์ไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายนหลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่พุ่งสูงขึ้น ในวันเดียวกันนั้น นายจูเซปเป คอนเต นายกรัฐมนตรีอิตาลี ประกาศแผนจะคลายมาตรการล็อกดาวน์และมีแผนจะเปิดเศรษฐกิจของประเทศอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม เป็นต้นไป

 

นักวิจัยกล่าวว่า การตัดสินใจและการวางแผนเช่นนี้ จะมีเหตุผลและหลักการรองรับก็ด้วยการตระหนักรู้ว่า ประเทศของตัวเองนั้น(และของโลกในภาพรวมด้วย) อยู่ในขั้นไหน ระยะไหน ของวงจรการแพร่ระบาดของโรค จะถึงจุดหักเหเมื่อไหร่ และที่สำคัญคือ จะถึงจุดสิ้นสุดเมื่อไหร่

 

รูปแบบการแพร่กระจายของโรคเมื่อเขียนเป็นกราฟมักจะเป็นรูปตัวเอส S หลังจากที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลการติดเชื้อมาได้ระยะเวลาหนึ่ง หรือเทียบเท่ารูประฆังคว่ำ (ซึ่งยอดสูงสุดของระฆังคือจุดหักเห หรือ inflection point เมื่อยอดผู้ป่วยติดเชื้อขึ้นไปสูงสุดและเริ่มทิศทางลดลง) ทั้งนี้ การพยากรณ์คำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น ข้อมูลประชากร การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ     

 

เตือนอย่าปลดล๊อคมาตรการเร็วเกินไป

การอ่านพยากรณ์ของแต่ละประเทศในตารางของเอสยูทีดีนี้ ต้องพิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ประกอบควบคู่ไปด้วย ยกตัวอย่างในเดือนเมษายน รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศเพิ่มมาตรการควบคุมเข้มงวดมากขึ้น จึงทำให้อาจขึ้นถึงจุดหักเหเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า  ขณะเดียวกัน การรีบประกาศคลายมาตรการล็อกดาวน์ในบางประเทศเช่น อิตาลี และสหรัฐอเมริกา ก็อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการติดเชื้อและส่งผลให้จุดสิ้นสุดของโควิด-19 ในประเทศนั้น ๆ ต้องล่าช้าออกไปจากวันที่ที่พยากรณ์เอาไว้

 

ผู้วิจัยจึงย้ำว่า ตารางพยากรณ์นี้เป็นเพียงแนวทาง ต้องพิจารณาสถานการณ์จริงในแต่ละวันประกอบ เนื่องจากโรคระบาดมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงก็มักจะส่งผลต่อการควบคุมโรค ทำให้ต้องมีการอัพเดตการพยากรณ์กันรายวัน ตารางนี้สามารถใช้ประกอบการวางแผน กำหนดนโยบาย และประกอบการตัดสินใจ  ซึ่งน่าจะช่วยลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ขอให้รอบคอบระมัดระวัง และอย่ามองในแง่บวกจนเกินไปเพราะจะเป็นอันตราย หากมีการผ่อนปรนหรือปลดล็อกมาตรการที่ใช้ควบคุมโรคเร็วเกินไป       

ตารางพยากรณ์วันสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศต่างๆ ที่จัดทำโดยเอสยูทีดี

คลิกดูภาพตารางขยายในข้อมูลอ้างอิง 

ข้อมูลอ้างอิง

When Will COVID-19 End? Data-Driven Prediction