ญี่ปุ่นสู้โควิด อัดฉีดเพิ่ม 200 ล้านล้านเยน

26 พ.ค. 2563 | 01:24 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2563 | 08:32 น.

รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมอนุมัติเพิ่มวงเงินเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 รอบสอง ในระดับ 200 ล้านล้านเยน ซึ่งเทียบเท่ากับ 40% ของจีดีพี นับเป็นวงเงินที่สูงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

 

สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีกล่าวในวันนี้ (26 พ.ค.)ว่า รัฐบาลจะเพิ่มวงเงินเป็น 2 เท่าในมาตรการชุดที่ 2 เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยจะอยู่ที่ระดับ 200 ล้านล้านเยน ขณะที่มาตรการชุดปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 117.1 ล้านล้านเยน

ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

คณะรัฐมนตรีกำลังพิจารณาจะอนุมัติงบประมาณฉบับที่ 2 ของปีงบประมาณ 2563 เพื่อเยียวยาธุรกิจขนาดย่อม รวมทั้งคนงานและนักศึกษา "วงเงินในมาตรการดังกล่าวจะสูงอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน และมีสัดส่วนเทียบเท่ากับ 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)" นายอาเบะกล่าว

นอกจากนั้น ในวันนี้ (26 พ.ค.) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังได้ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินในเขตโตเกียวและฮอกไกโด ซึ่งเป็นเขตสุดท้ายที่ยังคงอยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉิน ส่งผลให้ญี่ปุ่นได้ยกเลิกภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศแล้ว อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางสหพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น หรือไคดันเรน ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของญี่ปุ่น ได้ออกมาเรียกร้องให้บริษัทที่เป็นสมาชิก ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นในการกระตุ้นอุปสงค์เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์โควิด-19 แทนที่จะรอให้เศรษฐกิจดีดตัวขึ้น

ญี่ปุ่นสู้โควิด อัดฉีดเพิ่ม 200 ล้านล้านเยน

นายฮิโรเอกิ นากานิชิ ประธานไคดันเรน กล่าวว่า บริษัทต่าง ๆ ของญี่ปุ่นไม่ควรลดการ์ดลงในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 แม้ว่ารัฐบาลได้ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศในวันนี้แล้วก็ตาม

ญี่ปุ่นสู้โควิด อัดฉีดเพิ่ม 200 ล้านล้านเยน

ด้านสมาคมบริการอาหารญี่ปุ่นเปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินในเดือนเม.ย. และมีการสั่งปิดร้านอาหารและบาร์ (ส่วนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ให้บริการเดลิเวอรี่ยังคงเปิดทำการได้) ส่งผลให้ยอดขายร้านอาหารในญี่ปุ่นดิ่งลง 39.6% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการทรุดตัวลง “มากที่สุด” นับตั้งแต่มีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2537 ขณะที่ยอดขายของร้านฟาสต์ฟู้ดลดลง 15.6%

 

ทางสมาคมฯ คาดว่า สถานการณ์จะยังคงย่ำแย่ต่อไป และคงจะต้องใช้เวลา “อีกระยะหนึ่ง” กว่าที่จำนวนลูกค้าจะเพิ่มมากขึ้น