โพลสำรวจของรอยเตอร์ อิปซอส สำนักโพลชื่อดัง ซึ่งสำรวจกลุ่มตัวอย่างคนอเมริกันในช่วงวันจันทร์และอังคารที่ผ่านมา (1-2 มิ.ย.) พบว่า ชาวอเมริกัน 64% บอกว่ารู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้ที่ออกมาประท้วง ในขณะที่ 27% บอกว่าไม่รู้สึกเห็นใจ
นอกจากนี้ มากกว่า 55% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า “ไม่เห็นด้วย” กับวิธีการรับมือการประท้วงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งในกลุ่มดังกล่าวมีถึง 40% ที่บอกว่า “ไม่เห็นด้วยอย่างมาก” โดยมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เห็นด้วยกับวิธีการรับมือของเขา ขณะที่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงอิสระ (ไม่ได้ฝักใฝ่พรรคการเมืองพรรคใดเป็นพิเศษ) ที่ตอบว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีการรับมือของนายทรัมป์ มีเพิ่มขึ้นสองเท่า
และเมื่อเจาะไปในกลุ่มของผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน มีผู้สนับสนุนราว 67% ที่บอกว่า เห็นด้วยกับการรับมือการประท้วงของนายทรัมป์ ซึ่งก็ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำเมื่อเทียบกับ 82% ในคะแนนนิยมภาพรวม
ด้าน นายโจ ไบเดน ว่าที่ผู้ลงสมัครประธานาธิบดีสหรัฐฯจากพรรคเดโมแครต มีคะแนนนิยมนำเหนือนายทรัมป์ราว 10% ซึ่งเป็นคะแนนห่างที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา
ขณะที่โพลของมหาวิทยาลัยมอนเมาท์ ที่จัดทำต้นสัปดาห์นี้พบว่า ชาวอเมริกัน 74% มองว่าขณะนี้ประเทศกำลังเดินไปผิดทาง และคะแนนนิยมของนายทรัมป์ลดลงเหลือ 42% จากเดิม 46% เมื่อเดือนมีนาคม
ผลการสำรวจดังกล่าวถือว่าไม่เป็นผลดีต่อประธานาธิบดีทรัมป์เท่าไหร่นัก เพราะสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงทางการเมืองของเขาหลังประกาศใช้มาตรการแข็งกร้าวจัดการกับการประท้วง และขู่ที่จะนำกองทัพสหรัฐเข้ามาควบคุมสถานการณ์
ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า แนวทางการรับมือการประท้วงของทรัมป์กำลังสั่นสะเทือนแผนการชนะเลือกตั้งสมัยที่สองของเขา ทั้งนี้ การกระทำของทรัมป์ในตอนนี้ ดูเหมือนจะผิดที่ผิดทางจากความคาดหวังของประชาชน เช่น กรณีที่เขาเดินออกจากทำเนียบขาวไปยืนถ่ายรูปที่โบสถ์เซนต์จอห์นซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงทำเนียบขาว เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ถึงความแข็งแกร่งและให้คำมั่นว่าเขาจะฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยกลับคืนมา แต่กลับกลายเป็นว่า เขาถูกบรรดาผู้นำศาสนาหลายคนกล่าวโจมตี รวมไปถึงพรรคเดโมแครตและสมาชิกพรรครีพับลิกันบางส่วน เพราะปรากฎภาพของตำรวจยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมเพื่อเคลียร์พื้นที่ก่อนที่ทรัมป์จะออกมาเดินไปยังโบสถ์
นอกจากนี้ ยังไม่มีผู้ว่าการรัฐสายรีพับลิกันคนไหนกล้าตอบรับคำประกาศของนายทรัมป์อย่างโจ่งแจ้งเรื่องการยินยอมให้กองทัพเข้าไปรักษาความสงบ เช่น ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส ได้แถลงข่าวยืนยันว่า “คนเท็กซัสสามารถดูแลคนเท็กซัสด้วยกันเองได้”
ดูเหมือนว่าการรับมือวิกฤติประท้วงของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ส่งเสริมการใช้กำลัง จะส่งผลดีต่อนายไบเดน ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของเขา เมื่อบรรดาผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต พากันทุ่มเงินบริจาคไปให้กับแคมเปญหาเสียงของนายไบเดน เพราะผลงานของทรัมป์ถูกวิจารณ์อย่างหนัก และยังมีปัญหากับผู้ว่าการรัฐต่าง ๆ
โดยเฉพาะล่าสุด การประกาศเตรียมให้กองทัพจากส่วนกลางเข้าควบคุมสถานการณ์ ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของผู้นำสหรัฐฯในการเรียกฟื้นความสามัคคีของคนในชาติ เพราะประเทศกำลังเผชิญวิกฤติสองเหตุการณ์พร้อมกัน จึงทำให้กลุ่มผู้บริจาครู้สึกฮึกเหิมในการทุ่มเงินสนับสนุนการหาเสียงของนายไบเดนเพิ่มขึ้น เพราะพวกเขามองว่า ถ้าประธานาธิบดีทรัมป์รับมือวิกฤตินี้ไม่ได้ วิธีที่ดีที่สุด คือต้องไม่ทำให้เขาชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง
นายไบเดนเองก็เข้าใจว่า การก้าวพลาดของคู่แข่ง คือโอกาสที่ดีที่สุดของเขา และมีการแถลงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า เขาจะไม่เติมเชื้อไฟของความเกลียดชังในสถานการณ์ประท้วงครั้งนี้และหากเขาได้รับการเลือกตั้งมาเป็นประธานาธิบดี เขาจะรักษาบาดแผลจากการเหยียดสีผิวซึ่งเกิดขึ้นมานานในประเทศนี้ด้วย
อ่านเพิ่มเติม
เพิ่มโทษ 4 อดีตตำรวจคดีฆ่า “จอร์จ ฟลอยด์”
“ทรัมป์”ขู่ใช้กฎหมาย 200 ปี สยบการจลาจลในสหรัฐ
“เคอร์ฟิว” เมืองใหญ่สหรัฐ ขอกองกำลังควบคุมสถานการณ์
“เทย์เลอร์ สวิฟต์” เปิดศึก “ทรัมป์” คนนับล้านกดไลค์
ประท้วง "สหรัฐ" ม็อบเดือดลามทั่ว ทวง “ความเป็นธรรม” แด่คนผิวสี
เทย์เลอร์ สวิฟต์ ทวีตเดือด ขู่โหวตไล่ “ทรัมป์” พ้นตำแหน่งพ.ย.นี้