สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2563 จะเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเราไปจากเดิม และความเปลี่ยนแปลงบางอย่างน่าจะคงอยู่ต่อไปในระยะยาว นั่นหมายถึง พฤติกรรมการเลือกอุปโภคบริโภคของคนเราก็จะต่างออกไปด้วย
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต.) ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา รายงานว่า วิถีการใช้ชีวิตของชาวแคนาดา ทั้งรูปแบบการทำงาน การเดินทางและพฤติกรรมการจับจ่ายสินค้าที่ต่างออกไปจากเดิม หลายครอบครัวหันมาใช้ชีวิตในที่พักอาศัยกันมากขึ้นจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อยังยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ดังนั้นจากการที่ต้องออกไปทำงานหรือธุระนอกบ้านก็กลายเป็นมาทำงานที่บ้านมากขึ้น ส่งให้หลายคนลดความสำคัญของเลือกการแต่งกายที่พิถีพิถัน จนกลับกลายเป็นเรื่องง่ายที่มักจะใส่เสื้อยืด กางเกงวอร์ม หรือชุดนอนแทนชุดยูนิฟอร์มทำงาน
เริ่มจาก Ms. Hayley Elsaesser แฟชั่นดีไซน์เนอร์ชาวโทรอนโต ได้มองอุตสาหกรรมธุรกิจแฟชั่นว่าก็ได้รับ ผลกระทบจากโควิด-19 เหมือนธุรกิจอื่น โดยคาดว่าหลังจากเหตุการณ์นี้ผู้บริโภคจะมองหาเสื้อผ้าลำลองสวมใส่ สบายและใช้งานได้หลากหลายโอกาสมากขึ้น ไม่เน้นเสื้อผ้าสไตล์ทางการ โดยเฉพาะผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่มีการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างไม่สามารถสวมใส่เสื้อผ้าขนาดเดิมได้ จึงอาจมองหาเสื้อผ้าลำลองใหม่ ๆ มาแทนที่ Ms. Elsaesser มองว่า เสื้อผ้าประเภท loungewear หรือ ชุดลำลองสำหรับใส่ในบ้านที่ครบจบในเซ็ตเดียวที่มีการ ผสมผสานกับแพทเทิร์นและโครงสร้างเสื้อผ้าที่ดีน่าจะตอบโจทย์ของผู้บริโภคชาวแคนาดาได้ดีหลังโควิด-19
สอดคล้องกับ Ms. Mery Young ดีไซน์เนอร์ชุดชั้นในและ loungewear ชาวโทรอนโต ดีไซน์เนอร์อีกราย เห็นว่า แฟชั่นหลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จะอยู่ในสไตล์เสื้อผ้าลำลอง สวมใส่สบาย แต่จะมีลูกเล่นด้านสีและลายของเสื้อผ้าที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล ซึ่งในปีที่ผ่านมาแฟชั่นยุค 90 หรือ เทรนด์ Athleisure เสื้อผ้าสวมใส่สบายอย่างเสื้อยืดและรองเท้าผ้าใบ หรือกางเกง oversized ได้กลับมาฮิตอีกครั้ง ดังนั้นแล้วแฟชั่นเสื้อผ้าลุคสปอร์ตแบบสบายที่เหมาะกับการสวมใส่ในบ้าน และสามารถใส่ออกนอนบ้านได้น่าจะได้รับความนิยมต่อเนื่องไป
ด้าน Ms. Alison Matthews David ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์แฟชั่นและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Ryerson กล่าวว่า น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านแฟชั่นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ก็ไม่แน่ชัดว่าจะเป็นทิศทางใด ดังเช่นในอดีตที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ อาทิ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) สงครามโลกครั้งที่ 2 หรือไข้หวัดใหญ่สเปนปี 1918 เพราะด้วยปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจหรือ ข้อจำกัดด้านซัพพลายเชนของวัตถุดิบ ทำให้ต่างก็มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของแฟชั่นหลังเหตุการณ์นั้น ๆ ซึ่งครั้งนี้เท่าที่คาดเดาได้ว่า ชาวแคนาดาน่าจะมีความต้องการที่เสื้อผ้าเทรนด์ Athleisure เพื่อสวมใส่ใน ชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยมีความยืดหยุ่น เน้นการแต่งการแบบลำลองมากขึ้น และแฟชั่นหลังยุคโควิด-19 น่าจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะผู้บริโภคเน้นการรีไซเคิลเสื้อผ้า และมีการยืดหยุ่นกับการใช้งานมากขึ้น
ขณะที่จากการสำรวจข้อมูลของมหาวิทยาลัย McMaster เมือง Hamiton รัฐออนทาริโอ พบว่าชาวแคนาดาร้อยละ 58 มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคก่อนหน้าที่องค์การสาธารณสุขในประเทศจะรณรงค์ให้มีการใส่แมสกัน หากมองในอุตสาหกรรมแฟชั่นมองว่า จะเริ่มเห็นผู้คนใช้หน้ากากโดยถือเป็นเครื่องแต่งกายแฟชั่นอีกชิ้นหนึ่ง บางรายจะเลือกรูปแบบและลวดลายที่เข้ากับการแต่งกายหรือเครื่องประดับที่สวมใส่ และเชื่อว่าแนวโน้มการสวมใส่หน้ากากนี้ยังคงต่อเนื่องไปอีกสักพักในระยะหลังโควิด-19
ส่วน Ms. Young เห็นว่า แบรนด์เสื้อผ้าในท้องถิ่นน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีเพราะผู้บริโภคจะให้ความสำคัญ กับแหล่งที่มาของสินค้ามากขึ้น และผู้บริโภคเองจะมองหาเสื้อผ้าที่ใช้งานได้หลากหลายโอกาส ท้ายสุดนี้ ดีไซน์เนอร์ทั้งสองรายยังเห็นตรงกันว่า ชาวแคนาดาเริ่มที่จะเย็บเสื้อผ้าใช้เอง (DIY) มากขึ้น เริ่มจากการเย็บ หน้ากากผ้าและกลายเป็นเสื้อผ้าสไตล์ loungewear เพราะส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง และวิกฤติครั้งนี้ที่ ทำให้เรารู้ว่าอะไรที่มีความจำเป็นในชีวิตและอะไรเป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ดังนั้นการเลือกซื้อเสื้อผ้าจะเน้นที่ความคุ้มค่ามากกว่าความสวยงามและราคาที่เกินจริง