1) ผู้ติดเชื้อจ่อแตะ 22,900,000 คน เสียชีวิตเกือบ 8 แสนคน
ณ วันที่ 21 ส.ค.2563 Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 22,888,548 คน และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 797,601 คน
สหรัฐอเมริกา มี ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก (5,746,534 คน) รองลงมาคือบราซิล (3,505,097 คน) อินเดีย (2,910,032 คน) รัสเซีย (946,976 คน) แอฟริกาใต้ (599,940 คน) และเปรู (567,059 คน)
นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดในโลก (177,438 คน) ตามมาด้วยบราซิล (112,423 คน ) เม็กซิโก (59,106 คน) อินเดีย (55,002 คน) และอังกฤษ (41,403 คน)
2) รัฐแคลิฟอร์เนียครองแชมป์ผู้ติดเชื้อมากที่สุดในสหรัฐ
แคลิฟอร์เนีย เป็นรัฐที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่จำนวน 653,264 คน ขณะที่รัฐเท็กซัสตามมาเป็นที่ 2 โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อ 590,638 คน ส่วนรัฐฟลอริดามีผู้ติดเชื้อ 588,602 ราย และรัฐนิวยอร์กมีผู้ติดเชื้อ 458,279 ราย
อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รัฐนิวยอร์ก ยังคงครองยอดผู้เสียชีวิตสูงที่สุดในสหรัฐอเมริกาที่จำนวน 32,937 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศบค.เผยความคืบหน้า "การพัฒนา-ผลิตวัคซีนโควิด-19"
3) ฟิลิปปินส์ ยอดผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดในอาเซียน
กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์เปิดเผย (21 ส.ค.) ว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีจำนวน 4,786 คน ส่งผลให้ขณะนี้ฟิลิปปินส์มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมอยู่ที่ 182,365 คน นับเป็นจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งมีสมาชิก 10 ประเทศด้วยกัน รวมทั้งไทย
ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์มีผู้เสียชีวิตรายใหม่จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ณ วันศุกร์ (21 ส.ค.) จำนวน 59 คน ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมรวม 2,940 คน นับตั้งแต่ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดจนถึงปัจจุบัน
4) อันดับหนึ่ง ยอดผู้เสียชีวิตสูงสุดของอาเซียนอยู่ที่ “อินโดนีเซีย”
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงที่สุดในอาเซียน โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตรวม 6,500 คน ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อมีจำนวนทิ้งสิ้น 149,408 คน
5) ชี้ “ไทย” ยังไม่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง
นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีการตรวจพบปริมาณชิ้นส่วนไวรัส (ซากเชื้อ) ในหญิงไทย 2 รายที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศว่า ไม่น่าจะถือเป็นการระบาดระลอกสอง เพราะไม่ใช่การติดเชื้อภายในประเทศ เชื่อว่าเป็นการติดเชื้อในต่างประเทศและหายป่วยก่อนเดินทางเข้ามา
"สถานการณ์ขณะนี้ไม่ถือเป็นการระบาดระลอกสอง เพราะไม่ใช่การติดเชื้อภายในประเทศ" นพ.ยง กล่าวว่า การระบาดระลอก 2 หมายถึง มีการแพร่กระจายเชื้อภายในประเทศและติดเชื้อมากกว่า 3 คนขึ้นไปและเป็นกลุ่มก้อน แต่หากมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศเพียง 1 ราย จะไม่ถือว่าเป็นการระบาด เป็นเพียงการพบผู้ป่วยรายใหม่เท่านั้น
ณ วันที่ 21 ส.ค.2563 ไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย (มาจากสิงคโปร์) และไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมมีจำนวนรวม 3,390 คน (จัดเป็นอันดับที่ 115 ของโลก) เสียชีวิตรวม 58 คน ทั้งนี้ ไทยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวม 3,219 คน และเป็นผู้ป่วยกำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 113 คน
6) ญี่ปุ่น-อินเดีย อาการน่าเป็นห่วง
ในชั่วเวลาเพียง 24 ชั่วโมง ญี่ปุ่น มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 1,034 คน ส่งผลให้ยอดติดเชื้อสะสมทั่วประเทศทะลุ 61,000 คน ( ณ 21 ส.ค. และรวมผู้ติดเชื้อ 700 คนจากเรือสำราญไดมอนด์ พรินเซสที่ถูกกักตัวอยู่ในเมืองโยโกฮามาเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา) ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตทั่วประเทศอยู่ที่ 1,188 คน
สถานการณ์ในกรุงโตเกียวไม่ดีนัก โดยนางยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว เปิดเผยว่า อาจมีการประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกครั้ง ทั้งนี้ ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในเมืองหลวงของญี่ปุ่นมีจำนวน 258 คน (21 ส.ค.) ซึ่งสูงกว่าตัวเลขค่าเฉลี่ย 7 วันที่ระดับ 256.6 ขณะที่มีผู้ติดเชื้อสะสม 18,685 คน
ส่วน อินเดีย กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีจำนวน 68,898 คน ส่งผลให้ขณะนี้อินเดียมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมที่ 2,905,823 คน ซึ่งเป็นจำนวน “สูงที่สุดในเอเชีย” และสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและบราซิล
นอกจากนี้ อินเดียยังมีผู้เสียชีวิตรายใหม่จากโควิด-19 จำนวน 983 คน ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมทั่วประเทศอยู่ที่ 54,849 คน
7) WHO ให้ความหวัง โควิด-19 ระบาดไม่เกิน 2 ปี
นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวที่สำนักงานใหญ่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ วันที่ 21 ส.ค. ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยาวนานไม่เกิน 2 ปีถ้าหากโลกร่วมมือกันและประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน
และถ้าหากเป็นเช่นนั้น ก็จะถือว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ยาวนานไปกว่า โรคไข้หวัดสเปน ที่อุบัติขึ้นในปี ค.ศ. 1918 (พ.ศ.2461) และแพร่ระบาดอยู่เป็นเวลา 2 ปีก่อนจะถูกควบคุมได้ในที่สุด
“สถานการณ์ในตอนนี้คือเรามีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าเมื่อในอดีต ทำให้มีการเดินทางเชื่อมโยงกันมากขึ้นซึ่งทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายได้มากขึ้นและเร็วขึ้น แต่ขณะเดียวกันเราก็มีความรู้และเทคโนโลยีที่ดีขึ้นในการที่จะหยุดยั้งมัน กล่าวได้ว่า โลกเราในยุคนี้มีข้อด้อยของโลกาภิวัตน์ และการเชื่อมโยงทั้งโลกให้ใกล้ชิดกัน แต่ก็มีข้อดีของเทคโนโลยีที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน เราจึงหวังว่าโรคระบาดครั้งนี้จะยุติลงได้ในเวลาไม่เกิน 2 ปี”