สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต. / ทูตพาณิชย์) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น รายงานอ้างอิงข้อมูลสื่อญี่ปุ่นว่า จากที่นายชินโซะ อาเบะ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 28 สิงหาม 2563 เนื่องจากโรคประจำตัว คือ โรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) กำเริบอีกครั้ง โดยนายชินโซะฯ และคณะรัฐมนตรีจะรักษาการไปจนกว่าการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้วเสร็จ
โดยสรุปประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. กำหนดการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ พรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบามีกำหนดเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่เพื่อเสนอที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายชินโซะฯ ให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนกันยายน ศกนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ญี่ปุ่นสามารถดำเนินนโยบายเร่งด่วนได้โดยเร็ว นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นยังมีกำหนดการเข้าร่วมประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญต่าง ๆ ด้วย (การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญระหว่างวันที่ 15-30 กันยายน 2563) ทั้งนี้คาดว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะปฏิบัติหน้าที่ถึงเดือนกันยายน 2564 ก่อนการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค LDP คนใหม่ตามกำหนดการในข้อบังคับพรรคดังกล่าว
2.แนวโน้มนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ปัจจุบันยังไม่ปรากฏตัวเก็งผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นอย่างชัดเจน แต่มีการคาดการณ์ถึงนักการเมืองสำคัญที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น เช่น นายโยชิฮิเดะ สุกะ (หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งน่าจะสานต่อนโยบายของนายชินโซะฯ) นายชิเกรุ อิชิบะ (อดีตรัฐมนตรีด้านฟื้นฟูภูมิภาค) และนายฟุมิโอะ คิชิดะ (อดีตรัฐมนตรีการต่างประเทศ) เป็นต้น
ชินโซะ อาเบะ
3. ผลงานที่สำคัญของนายชินโซะฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น
3.1 นโยบาย Abenomics ((1)มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (2)มาตรการเชิงรุกทางการคลัง และ (3) ยุทธศาสตร์การเติบโตทางเศรษฐกิจ) ส่งผลให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นขยายตัวต่อเนื่อง มูลค่าตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า (เปรียบเทียบกับช่วงเข้ารับตำแหน่ง) และหากไม่รวมผลกระทบจากโควิด-19 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่นได้เพิ่มสูงขึ้นกว่า 540 ล้านล้านเยน
3.2 การผลักดันนโยบายการค้าเสรีเพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการส่งออก โดยได้จัดทำความตกลงการค้าเสรีหลายฉบับ เช่น CPTPP Japan-EU EPA และข้อตกลงทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ เป็นต้น
3.3 การส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การผ่อนคลายมาตรการตรวจลงตราวีซ่าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศจากต่างชาติ การสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้ ประมง และอาหารของญี่ปุ่น และการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นจำนวนมากยอมรับผลงานทางเศรษฐกิจของนายชินโซะฯ เนื่องจากเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในภาพรวมขยายตัว โดยที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรทางธุรกิจเป็นไปด้วยดี มีการแลกเปลี่ยนข้อเรียกร้องเชิงนโยบายจากภาคธุรกิจควบคู่กับการให้ความร่วมมือดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ แต่ก็มีหลายฝ่ายที่เห็นว่านโยบายต่าง ๆ ของนายชินโซะฯ ยังไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ประกาศไว้
สคต. ณ กรุงโตเกียว มีบทวิเคราะห์ถึงการลาออกของนายชินโซะฯต่อผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยว่า ในระยะสั้น คาดว่าการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจการค้าต่อประเทศไทย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นจะเน้นการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจถดถอยจากโรคระบาดดังกล่าว
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นอาจจะผลักดันเรื่องการผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของกลุ่มนักธุรกิจและการกระจายฐานการผลิตสินค้าต่าง ๆ นอกเหนือจากประเทศจีนต่อไป ซึ่งจะส่งผลดีต่อการกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และสร้างโอกาสขยายการส่งออกสินค้าในฐานะฐานการผลิต/ห่วงโซ่อุปทานทดแทนระหว่างประเทศของไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง