สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเมียนมา เป็นเรื่องที่ประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่มีแนวชายแดนติดต่อกันจำเป็นต้องให้ความสำคัญและยื่นมือเข้าร่วมช่วยเหลือในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา หนึ่งในนักธุรกิจที่คุ้นเคยกับเมียนมามายาวนานกว่า 30 ปี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สถานการณ์ในเมียนมานั้น น่าเป็นห่วงในหลายแง่มุม
ประการแรกคือ ปัจจุบันนี้มีผู้ติดเชื้อสะสม (ตัวเลขทางการของเมียนมา ณ วันที่ 25 ก.ย.) 9,112 คน เสียชีวิตสะสม 174 คน รักษาหาย 2517 คน ซึ่งเป็นตัวเลขเพิ่มขึ้นจากวันที่ 18 ก.ย. ที่มีผู้ติดเชื้อสะสมเพียง 340 คน เสียชีวิตสะสม 6 คน รักษาหาย 273 คน จะเห็นได้ว่า ยอดผู้ติดเชื้อนั้นก้าวกระโดดมากถึง 26.8 เท่า หรือ 2,680% แม้ทางการเมียนมาได้มีคำสั่งล็อกดาวน์เมืองย่างกุ้งไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา และจะไปสิ้นสุดในวันที่ 7 ต.ค. แต่จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ก็ยังเป็นหลักพันคนต่อวันติดต่อกันมาสองวันแล้ว ไม่ได้ลดลงไปเลย
ประการต่อมาคือ สาเหตุหลักของการติดเชื้อโควิด-19 ระลอกสองของประเทศเมียนมาครั้งนี้ เกิดจากที่เมียนมามีชายแดนติดกับบังคลาเทศและอินเดีย ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่กำลังเกิดการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง จึงคาดว่าจะมีการแพร่ระบาดข้ามชายแดนเข้ามาจากทางด้านรัฐยะไข่ ทางฝั่งตะวันตกของประเทศ ประกอบกับในระยะก่อนหน้านั้น มีการปะทะกันระหว่างกองกำลังอาระกันกับกองทัพเมียนมา ทำให้ผู้คนหนีตายเข้ามายังค่ายอพยพที่เมืองชิตต่วย (หรือ ซิตตเว) เมืองหลวงของรัฐยะไข่ จึงเชื่อได้ว่า การแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 จะเกิดขึ้น ณ จุดนั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สถานการณ์อันย่ำแย่ในประเทศเมียนมา
เพิ่มไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ COVID ระลอกสอง
“ประเทศไทยมีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมายาวถึงสองพันสี่ร้อยกว่ากิโลเมตร หากมีการเล็ดลอดเข้ามาของผู้ติดเชื้อ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมาก ก็จะทำให้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง (ในไทย)เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย” นี่เป็นสาเหตุประการสำคัญที่ไทยควรให้ความช่วยเหลือเมียนมาในการควบคุมการแพร่ระบาดโดยเร็วที่สุด กริชให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “เพราะการคมนาคมหรือการเดินทาง ในประเทศไทยเราไม่มีการตรวจสอบอย่างละเอียดเพียงพอ ประกอบกับสถานการณ์ในประเทศเราคลี่คลาย ทำให้คนไทยในเขตเมืองเริ่มการ์ดตกลงไปมาก หากมีผู้ติดเชื้อจากเมียนมาเล็ดลอดเข้ามาจริงตามสมมุติฐานเบื้องต้น โอกาสที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกสองในไทยย่อมเกิดขึ้นง่ายมาก”
ปัจจุบัน ทางการเมียนมาประกาศใช้กฎหมายเคอร์ฟิวเข้ามาจัดการสถานการณ์โควิด-19 ในเมืองย่างกุ้งแล้ว ผู้ที่ฝ่าฝืนจะต้องถูกลงโทษจำคุก 3-6 เดือน ปรับเป็นเงิน 10,000 จ๊าด หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนเมืองอื่น ๆเช่น มัณฑะเลย์ ก็เริ่มจะมีการระบาดเกิดขึ้นแล้วเช่นกัน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบสาธารณสุขพื้นฐานของประเทศเมียนมายังไม่ดีพอ ทำให้การตรวจสอบผู้ติดเชื้ออาจจะยังไม่ทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ ดังนั้น จึงยังตอบไม่ได้ว่า ตัวเลขที่แท้จริงของผู้ติดเชื้อสะสมจะมีมากเพียงใดและที่เมืองใดบ้าง
แต่ผลกระทบทางสังคมในเบื้องต้นนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า วันนี้ในเมืองย่างกุ้งได้เกิดการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้ต้องมีการระดมพล เรียกตัวบุคลากรทางการแพทย์จากรัฐต่าง ๆ ให้เข้ามายังเมืองย่างกุ้ง เพื่อช่วยเหลือเป็นการด่วน อุปกรณ์ทางการแพทย์ก็เริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการ โรงพยาบาลสนามที่สนามกีฬาตูวันน่า ที่ได้สร้างขึ้นมารองรับผู้ป่วยเป็นการชั่วคราว 400 เตียง ได้ใช้อย่างที่เต็มแล้วไม่สามารถรับผู้ป่วยได้อีก โรงพยาบาลของรัฐบาลต่างก็ใช้เต็มพิกัดแล้วเช่นเดียวกัน ทางการเมียนมาได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการใช้แฟลตที่ทางการสร้างให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในเขตเมี้ยวตะโก่ง นำมาดัดแปลงเป็นสถานกักกันและรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่เวชภัณฑ์ที่ใช้ในการรักษาและอุปกรณ์การแพทย์ก็ยังคงขาดแคลนหนักมาก
ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจ คาดว่ามาตรการล็อกดาวน์ที่จำกัดการเดินทางของประชาชนและมีการสั่งปิดชั่วคราวร้านค้าหลายประเภท จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของเมียนมาอย่างรุนแรง ทั้งนี้ ก่อนเกิดปัญหาโควิด-19 ระลอกสอง ทางธนาคารโลกคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเมียนมา (จีดีพี) จะเติบโตประมาณ 6.8% “แต่หลังเกิดเหตุการครั้งนี้ ผมคาดการณ์เองว่า จีดีพีเมียนมาอาจจะต้องลดลงมากถึง 4-5% แต่ตัวเลขยังอาจจะเป็นตัวดำอยู่ (ยังมีการขยายตัวอยู่) เพราะยังมีการลงทุนของรัฐบาลในด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่มาก อีกทั้งยังมีการประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 8 พ.ย. ตามเดิม ไม่ได้มีกำหนดใหม่หรือเลื่อนออกไป แต่การจับจ่ายใช้สอยภาคเอกชนก็ลดลงไปมากอย่างเห็นได้ชัด”
ในฐานะประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กริชเห็นว่า ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ เป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้แสดงน้ำใจให้ประจักษ์ถึงความเป็นมิตร ขณะเดียวกันไทยเองก็จะสามารถลดอัตราการเสี่ยงต่อการเล็ดลอดของผู้ติดเชื้อที่จะทะลักเข้ามาทางชายแดนฝั่งตะวันตกของประเทศ
ขณะนี้ทางสภาธุรกิจไทย-เมียนมา จึงได้ร่วมกับพันธมิตรหลายหน่วยงาน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลอดจนสื่อต่าง ๆ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ บีอีซี-เทโร และอัมรินทร์กรุ๊ป อีกทั้งองค์กรเอกชน เช่น สายการบินนกแอร์ ซีเอ็ดฯ กลุ่มบริษัท EUI และบริษัท เฮงโกลบอล เมียนมา เป็นต้น ในการช่วยกันระดมเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ เงินทุนเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ เพื่อนำไปช่วยเหลือประเทศเมียนมาต่อไป
ผู้ที่ต้องการร่วมสู้ภัยโควิด-19 ในเมียนมาร่วมกับปฏิบัติการของสภาธุรกิจไทย-เมียนมาในครั้งนี้ สามารถทำได้หลายช่องทาง เช่น กรณีบริจาคอุปกรณ์เวชภัณฑ์ สามารถส่งมอบให้แก่ทางสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ผ่านทางร้านหนังสือซีเอ็ดทุก ๆ สาขาทั่วประเทศ และที่เคาน์เตอร์ของสายการบินนกแอร์ทุกสาขา หรือส่งตรงมาที่สภาธุรกิจไทย-เมียนมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในเวลาทำการ (โทร 02-345-1151 หรือ 02-3451-233)
สามารถร่วมบริจาคโดยการโอนเงินเข้าบัญชี ธนาคารกรุงไทย สาขาไทยเบฟ ควอเตอร์ ชื่อบัญชี “มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรม” ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หมายเลขบัญชี 009-1-71583-0 (หากต้องการใบเสร็จเพื่อลดหย่อนภาษี สามารถติดต่อที่สภาธุรกิจไทย-เมียนมา เบอร์โทร 02-345-1131 หรือ 02-345-1151)
“ผมเชื่อว่าการทำบุญบริจาคสิ่งของใด ๆ ถ้าผู้รับบริจาคกำลังต้องการ และเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ จะมีความหมายมากกว่าการบริจาคที่เขาไม่ได้มีความจำเป็น บุญกุศุลก็จะบังเกิดมากขึ้นเป็นร้อยเท่าทวีคูณเลยครับ วันนี้ประเทศเมียนมาที่เป็นเพื่อนบ้านเรา กำลังประสบภัยพิบัติอย่างหนักหน่วง เราจึงควรจะแสดงความมีน้ำใจในการช่วยเหลือเขาในตอนนี้ เพราะจะเป็นสิ่งที่เขาจะประทับใจเราไม่รู้ลืมครับ” กริชกล่าวทิ้งท้าย