บริษัทสเปซเอ็กซ์ () ผู้ผลิตยานอวกาศเอกชนของสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการส่งจรวดพร้อมนักบินอวกาศ 4 คนของ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ (นาซา) ขึ้นอยู่ห้วงอวกาศในวันอาทิตย์ (15 พ.ย.) ตามเวลาสหรัฐ โดย แคปซูลอวกาศ “ดรากอน” (Dragon) หรือ “มังกรอวกาศ” ที่อยู่บนหัวจรวดนั้นมีกำหนดการเดินทางถึง สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ในวันจันทร์ (16 พ.ย.) ตามเวลาสหรัฐ และจะประจำการอยู่ที่สถานีอวกาศจนถึงฤดูใบไม้ผลิ
รายงานข่าวระบุว่า จรวดที่ถูกส่งนั้นมีชื่อว่า “ฟอลคอน” (Falcon) ส่วนแคปซูลอวกาศตรงส่วนหัวชื่อ "ดรากอน" (Dragon) โดยสเปซเอ็กซ์ได้ปล่อยขึ้นฟ้าจากศูนย์อวกาศเคนเนดี ในรัฐฟลอริดา พร้อมนักบินอวกาศ 4 คน เป็นชาวอเมริกัน 3 คน และชาวญี่ปุ่น 1 คน ซึ่งเป็นทีมนักบินอวกาศทีมที่ 2 ที่สเปซเอ็กซ์ได้ส่งขึ้นอวกาศ
ด้านนายอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ไม่ได้อยู่เป็นสักขีพยานที่จุดปล่อยจรวด เนื่องจากเขามีผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นบวก และทางนาซากำหนดไว้ว่าผู้ที่มีผลตรวจโควิดเป็นบวกนั้นต้องกักตัว ซึ่งทำให้นายมัสก์ต้องชมการปล่อยจรวดจากที่อื่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นาซา-สเปซเอกซ์' จ่อส่ง 'ยานครูว์ ดรากอน' ขึ้นสถานีอวกาศนานาชาติ
ส่วนนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเป็นประธานสภาอวกาศแห่งชาติ ได้เป็นสักขีพยานการปล่อยจรวดครั้งนี้ด้วย
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน นาซาและสเปซเอ็กซ์ประสบความสำเร็จในการส่งจรวดพร้อมนักบินอวกาศ 2 คนของนาซาขึ้นอยู่ห้วงอวกาศ ซี่งเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีที่มีการส่งจรวดพร้อมลูกเรือจากแผ่นดินสหรัฐขึ้นสู่อวกาศ นับตั้งแต่ภารกิจ Space Shuttle ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2554
ยานอวกาศของสเปซเอ็กซ์ลำนี้ได้สร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นยานอวกาศเชิงพาณิชย์ลำแรกที่นำมนุษย์ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งนาซาระบุว่า ภารกิจครั้งนี้จะเป็นการบุกเบิกยุคใหม่แห่งการให้บริการเที่ยวบินอวกาศเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้มีมนุษย์จำนวนมากขึ้นสามารถเดินทางไปยังอวกาศได้ในราคาที่ถูกลง
อนึ่ง นับตั้งแต่โครงการ Space Shuttle ของนาซาได้ยุติลงในปี 2554 หลังจากที่ดำเนินการมา 30 ปี สหรัฐได้หันไปใช้บริการยานอวกาศ Soyuz ของรัสเซีย เพื่อนำนักบินอวกาศของสหรัฐขึ้นไปยังสถานี ISS