สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า สายการบินแอร์เอเชีย เจแปน (AirAsia Japan)ได้ยื่นฟ้องล้มละลายต่อศาลแขวงโตเกียวแล้ว เมื่อวันที่14พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่าจะปิดกิจการสายการบิน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ตามแถลงการณ์ระบุว่า "เนื่องจากฐานะทางการเงินในปัจจุบันของแอร์เอเชีย เจแปน ( AirAsia Japan) เราเสียใจที่จะต้องแจ้งให้ทราบว่า แอร์เอเชีย เจแปน ไม่สามารถชำระเงินคืนที่ค้างชำระได้ในขณะนี้ เราขออภัยอย่างยิ่งในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นกับลูกค้าที่ใช้บริการหรือจองเที่ยวบินของ แอร์เอเชีย เจแปน"
ขณะนี้แอร์เอเชีย เจแปนได้ยกเลิกเที่ยวบิน ทั้งหมดแล้วรวมถึงเที่ยวบินระหว่างนาโกยาและไทเป แต่เที่ยวบินที่เดินทางไปยังญี่ปุ่นโดยสารการบินอื่นๆ ของแอร์เอเชียในประเทศต่างๆ เช่น ไทย และฟิลิปปินส์ จะไม่ได้รับผลกระทบ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
โควิดพ่นพิษ "แอร์เอเชีย" เตรียมปิดธุรกิจในญี่ปุ่น
"แอร์เอเชียกรุ๊ป" จ่อปลดพนักงาน 30%
แอร์เอเชีย ปั้น "airasia.com" ลุย แพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์ ขายทุกอย่างสู้โควิด
ทั้งนี้ แอร์เอเชีย รายงานการสูญเสียมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย. โดยได้รับแรงกดดันอย่างมากในปีนี้เนื่องจากโควิด-19 ส่งผล กระทบต่ออุตสาหกรรมการบิน
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากเมื่อเดือนก่อน แอร์เอเชีย เจแปน ได้ประกาศว่า หยุดการดำเนินงานทั้งหมด และยกเลิกเส้นทางการบินทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่น โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคมนี้
เนื่องจาก ความต้องการเดินทางของผู้โดยสารลดลงอย่างหนัก ทำให้สายการบินมีหนี้สินประมาณ 207 ล้านดอลลาร์ (หรือคิดเป็นเงินไทยมากกว่า 6,200 ล้านบาท)
สายการบิน แอร์เอเชีย เจแปน เป็นการร่วมทุนระหว่างแอร์เอเชีย กรุ๊ป ในมาเลเซีย และบริษัทพันธมิตรในญี่ปุ่น ที่เริ่มดำเนินการในปี 2560 หรือเมื่อ 3 ปีก่อนเท่านั้น โดย แอร์เอเชีย เจแปน เป็นผู้ให้บริการเส้นทางภายในประเทศญี่ปุ่น 3 เส้นทาง และเที่ยวบินจากญี่ปุ่นไปยังกรุงไทเปของไต้หวัน
โดยเที่ยวบินแอร์เอเชีย เจแปน มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ กรุงโตเกียว, เมืองนาโกยา, ซัปโปโร, ฟุกุโอกะ, โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น กรุงโซล และปูซาน ประเทศเกาหลี และนครไทเป
สายการบินแอร์เอเชีย ถือเป็นหนึ่งในสายการบินที่ได้รับผลกระทบหนัก โดยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) "แอร์เอเชีย กรุ๊ป" ได้เปิดเผยว่า บริษัทกำลังพิจารณาคืนเครื่องบินให้แก่ผู้ให้เช่าอย่างน้อย 22 ลำ จากเครื่องบินทั้งหมด 245 ลำของสายการบิน และตั้งเป้าจะลดขนาดฝูงบินลง เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19