กรณีสาวไทยวัย 25 ลักลอบกลับเข้าประเทศ โดยใช้ช่องทางธรรมชาติจาก จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาเมื่อช่วงปลายเดือนพ.ย. แล้วมาตรวจพบภายหลังว่าติดเชื้อไวรัสโคโรน่า “โควิด-19” หลังจากที่ได้ไปปรากฏตัวในสถานที่หลายแห่ง ซึ่งรวมถึงสถานบันเทิง 2 แห่งที่จังหวัดพิจิตร มีประเด็นน่าสนใจที่เจ้าของสถานบันเทิงออกมายืนยันว่าได้มีการตรวจวัดอุณหภูมิแขกที่มาเที่ยว และสาวไทยคนนี้ผ่านเกณฑ์การคัดกรองเบื้องต้นทุกอย่าง ประเด็นดังกล่าว ทำให้สังคมต้องตระหนักอีกครั้งว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาจจะไม่แสดงอาการใด ๆเลย แต่ตัวเขาเองก็สามารถแพร่กระจายเชื้อสู่คนอื่น ๆได้
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐอเมริการะบุว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ในสหรัฐจำนวนถึง 40% (ข้อมูล ณ เดือนก.ค. 2563) เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้สังคมต้องตระหนักว่า การป้องกันตัวเองจากโควิด-19 เมื่อออกไปสู่ที่สาธารณะนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ แม้ไม่ใช่ที่สาธารณะที่มีผู้คนมากมาย แค่เป็นการพบปะกับบุคคลเพียงคนเดียวหรือมากกว่า 1 คน แต่เราเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงจะเป็นพาหะนำโรคหรือไม่ เพราะดูด้วยสายตาก็ไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรจะต้องทำตัวอย่างไรเพื่อให้ปลอดภัยจากโควิด-19
เว็บไซต์ของ องค์การอนามัยโลก (WHO) มีคำตอบในเรื่องนี้ แต่ก่อนอื่น เราควรต้องรู้ก่อนว่า
โรคโควิด-19 แพร่ระบาดได้อย่างไร
โรคนี้สามารถแพร่จากคนสู่คนผ่านทางละอองน้ำมูก น้ำลายจากจมูกหรือปากซึ่งออกมาเมื่อผู้ป่วยโรคโควิด- 19 ไอ จาม หรือพูด ละอองเหล่านี้ค่อนข้างหนัก ไปไม่ได้ไกล และจะตกลงสู่พื้นอย่างรวดเร็ว เรารับเชื้อโรคโควิด-19 ได้จากการหายใจเอาละอองเข้าไปจากผู้ป่วย เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะรักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร ละอองเหล่านี้ยังตกลงสู่วัตถุและพื้นผิวต่าง ๆ เช่น โต๊ะ ลูกบิดประตู ราวจับ และเมื่อคนเอามือไปจับพื้นผิวเหล่านั้นแล้วมาจับตา จมูกหรือปาก ก็จะมีเชื้อโรค นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลถูมือ
เราจะสามารถติดเชื้อโควิด-19 จากผู้ป่วยที่ไม่มีอาการได้หรือไม่
โรคโควิด-19 แพร่ทางละอองจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยเมื่อผู้ป่วยไอ หรือมีอาการอื่นเช่นไข้หรืออ่อนเพลีย ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมากมีอาการเพียงเล็กน้อยโดยเฉพาะในระยะเริ่มแรก ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่เราจะติดเชื้อโควิด-19 จากผู้ป่วยที่ไอเล็กน้อยและไม่รู้สึกป่วยเลย
มีรายงานบางฉบับระบุว่าผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการใด ๆ เลยก็สามารถแพร่เชื้อได้ ซึ่งยังไม่เป็นที่ทราบกันว่ากรณีเช่นนี้เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด
เราจะป้องกันตัวเองและคนที่เรารักได้อย่างไร หากไม่รู้ว่าใครมีเชื้อบ้าง
การรักษาสุขอนามัยของมือ และมารยาทในการไอ/จามเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำตลอดเวลา และเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันตัวเองและคนที่เรารัก
เมื่อเป็นไปได้ รักษาระยะอย่างน้อย 1 เมตรจากผู้อื่น โดยเฉพาะเมื่อยืนใกล้คนที่กำลังไอหรือจาม เนื่องจากผู้ติดเชื้อบางรายอาจยังไม่แสดงอาการ การเว้นระยะห่างจากทุกคนก็ยังเป็นความคิดที่ดีหากคุณอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19
การสังเกตผู้ติดเชื้อโควิด19 ที่แสดงอาการ พวกเขามีอาการอย่างไรบ้าง
อาการทั่วไปของโรคโควิด-19 พี่พบมากที่สุดคือ มีไข้ ไอ และอ่อนเพลีย อาการที่พบน้อยกว่าแต่อาจมีผลต่อผู้ป่วยบางรายคือปวดเมื่อย คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ท้องเสีย ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่น หรือผื่นตามผิวหนัง หรือสีผิวเปลี่ยนตามนิ้วมือนิ้วเท้า อาการเหล่านี้มักจะไม่รุนแรงนักและค่อยๆเริ่มทีละน้อย บางรายติดเชื้อแต่มีอาการไม่รุนแรง
ผู้ป่วยส่วนมาก (80%) หายป่วยได้โดยไม่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ติดเชื้อโควิด- 19 มีอาการหนักและหายใจลำบาก ผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวเช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือมะเร็งมีแนวโน้มที่จะมีอาการป่วยรุนแรงกว่า อย่างไรก็ตามทุกคนสามารถติดโรคโควิด- 19 ได้และอาจป่วยรุนแรง คนทุกเพศทุกวัยที่มีอาการไข้ และ/หรือไอร่วมกับอาการหายใจลำบาก/ติดขัด เจ็บหน้าอก เสียงหาย หรือเคลื่อนไหวไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์ทันที หากเป็นไปได้ แนะนำให้โทรไปล่วงหน้า เพื่อสถานพยาบาลจะได้ให้คำแนะนำ
หากไม่มีอาการอะไร แต่คิดว่าเราอาจไปสัมผัสเชื้อโควิด 19 มา แปลว่าต้องกักตัวเองหรือไม่
การกักตัวเองคือการแยกตัวเองจากผู้อื่นเพราะเราไปสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 มา แม้ว่าเราจะไม่มีอาการเลย ช่วงการกักตัวนี้เราต้องสังเกตอาการตัวเอง จุดประสงค์ของการกักตัวคือป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ผู้ป่วยโควิด- 19 สามารถแพร่เชื้อได้ในทันที ดังนั้น การกักตัวจึงเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ
ในกรณีนี้
ควรทำอย่างไร หากเราไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด 19
หากคุณไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 คุณก็อาจจะติดเชื้อได้
การสัมผัสใกล้ชิดหมายถึงอาศัยอยู่ด้วยกันหรืออยู่ใกล้กันภายในระยะ 1 เมตรกับผู้ป่วย ในกรณีเหล่านี้ ควรกักตัวอยู่บ้าน
หากมีอาการป่วย แม้เพียงอาการไม่รุนแรง ให้แยกตัวเอง
แม้คุณจะคิดว่าไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ แต่มีอาการ ก็ควรจะแยกกักตัวเองและสังเกตอาการ
คุณมีแนวโน้มมากกว่าที่จะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นในระยะเริ่มแรกที่อาการไม่รุนแรง เพราะฉะนั้น การรีบแยกกักตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
หากคุณไม่มีอาการใดแต่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ให้แยกกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน
หากคุณเป็นผู้ป่วยโรคโควิด-19 (ยืนยันโดยการตรวจ) ให้แยกตัวเองต่อ 14 วันแม้อาการจะหมดไปแล้วเพื่อเป็นการระมัดระวัง ขณะนี้ยังไม่แน่นอนว่าคนยังสามารถแพร่เชื้อต่อได้เป็นเวลาเท่าใดหลังจากหายแล้ว ให้ทำตามคำแนะนำของทางการเรื่องการแยกตัวอย่างเคร่งครัด
ความแตกต่างระหว่างการแยกตัว การกักตัว และการเว้นระยะ คืออะไร
การกักตัว คือการจำกัดกิจกรรมต่าง ๆ หรือการแยกผู้ที่ไม่ป่วย แต่อาจมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 จุดประสงค์คือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในห้วงเวลาที่คนเริ่มมีอาการ
การแยกตัว หมายถึงการแยกผู้ป่วยที่มีอาการของโรคโควิด-19 และอาจแพร่เชื้อได้ จึงทำเพื่อป้องการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
การเว้นระยะ คือการอยู่ห่างกันและกัน องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เว้นระยะอย่างน้อย 1 เมตรจากผู้อื่น ส่วนนี้เป็นมาตรการทั่วไปที่ทุกคนควรทำถึงแม้ว่าจะแข็งแรงดีและไม่มีประวัติสัมผัสโรคโควิด-19 เลยก็ตาม
สุดท้าย เราสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือการแพร่เชื้อได้ด้วยการทำตามข้อควรระวัง ดังนี้
เพียงเท่านี้ ก็จะช่วยให้เราห่างไกลจากโควิด19 และโปรดอย่าลืมว่า สามัญสำนึกและการตระหนักรับผิดชอบต่อสังคม มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะสิ่งนี้จะเป็นทั้งเกราะป้องกันตัวเราและช่วยให้คนอื่น ๆในสังคมปลอดภัยจากโรคร้ายนี้ด้วย