เมื่อยักษ์ใหญ่เสิร์ชเอนจิ้น “ไป่ตู้” ของจีน รุกขยายไลน์ธุรกิจสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 

15 ธ.ค. 2563 | 21:00 น.

“ไป่ตู้” (Baidu) ยักษ์ใหญ่เสิร์ชเอนจิ้นของจีน รุกขยายไลน์ธุรกิจเข้าสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์อัจฉริยะขับเคลื่อนอัตโนมัติ รองรับแนวโน้มยานยนต์แห่งอนาคตและสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ 

 

บริษัทไป่ตู้ อิงค์ ซึ่งเป็น ผู้นำธุรกิจเสิร์ชเอนจิ้นของจีน มีแผนจะดำเนิน การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โดยไป่ตู้ได้เจรจากับบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ของจีนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ดังกล่าว ซึ่งความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ได้บ่งชี้ว่า บรรดาบริษัทเทคโนโลยีได้เริ่มแข่งขันกันเพื่อพัฒนารถยนต์อัจฉริยะที่ได้ชื่อว่าเป็นยานยนต์แห่งอนาคต  

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ไป่ตู้ ซึ่งกำลังพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (ไร้คนขับ) และโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตนั้น กำลังพิจารณาเรื่องการผลิตแบบทำสัญญา หรือจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับผู้ผลิตรถยนต์รายต่าง ๆ โดยไป่ตู้จะถือหุ้นส่วนใหญ่

 

ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับภายใต้แบรนด์ "อพอลโล" ของไป่ตู้

โครงการริเริ่มดังกล่าวถือเป็นย่างก้าวที่นำหน้าคู่แข่งรายอื่น ๆ ในธุรกิจอินเทอร์เน็ตระดับโลก เช่น เทนเซนท์ โฮลดิ้ง, แอมะซอนดอทคอม และอัลฟาเบท ซึ่งต่างก็กำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ หรือลงทุนในสตาร์ทอัพรถยนต์อัจฉริยะ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิกฤติโควิดโอกาสทองของยานยนต์ไฟฟ้า

นโยบาย EV รอบใหม่ช่วยไทยหนีห่างจากคู่แข่ง

เปิดเหตุผลทำไมยานยนต์ไฟฟ้าปี 64 เติบโต

 

แหล่งข่าวระบุว่า ไป่ตู้ได้หารือในเบื้องต้นกับบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งรวมถึงบริษัทเจ้อเจียง จีลี่ โฮลดิ้ง (Zhejiang Geely Holding) บริษัทกวางโจว ออโตโมบิล กรุ๊ป (Guangzhou Automobile Group) และบริษัทหงฉี (Hongqi) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของไชน่า เอฟเอดับเบิลยู กรุ๊ป (China FAW Group) เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน

ในปี 2560 ไป่ตู้ได้จัดตั้งบริษัทอพอลโล (Apollo) ซึ่งเป็นธุรกิจด้านการขับขี่อัตโนมัติ หรือยานยนต์ไร้คนขับ โดยบริษัทในเครือแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้จัดหาเทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และดำเนินงานร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ เช่น จีลี่ (Geely) โฟล์คสวาเก้น โตโยต้า และ ฟอร์ด มอเตอร์

 

ทั้งนี้ การผลิตรถยนต์ด้วยตนเองสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาครั้งใหญ่ของไป่ตู้ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ในช่วงเวลาที่ธุรกิจหลักๆ ของบริษัทชะลอการขยายตัว โดยในปี 2562 นั้น รายได้ของบริษัทขยายตัวเพียง 2% เท่านั้น