สื่อท้องถิ่นมาเลเซียตีแผ่ข่าว การลงพื้นที่บุกตรวจสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานต่างด้าวในหอพักคนงาน ของบริษัทผู้ผลิตถุงมือยางรายหนึ่งในเมืองกาจัง (Kajang) เขตเปตาลิง รัฐเซลังงอร์ ซึ่งพบว่าสภาพหอพักและความเป็นอยู่ของคนงานจำนวน 781 คน อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐานด้านสาธารณสุข และไม่มีใบอนุญาตดัดแปลงตู้สินค้านำมาทำเป็นอาคารที่พัก ทำให้ กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย ออกคำสั่งปิดโรงงานดังกล่าวซึ่งภายหลังสื่อเปิดเผยว่า คือ บริษัท ลาโกลฟ (Laglove Sdn Bhd) เป็นเวลา 7 วัน
ด้าน ดาตุ๊ก สรี เอ็ม ซาราวานัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ของมาเลเซีย ยืนยันว่า คนงานที่พักอาศัยในหอพักโรงงานแห่งนี้มีจำนวน 781 คน ในจำนวนนี้ 759 คนเป็นแรงงานต่างด้าว “ผมขอเรียกว่านี่มันคือสภาพของทาสยุคใหม่ชัด ๆ น่าตกใจมากที่ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ที่สกปรกและสุดจะเลวร้าย เป็นเรื่องน่าเศร้าใจมาก”
จากการตรวจสอบพบว่า อาคารหอพักคนงานมี 2 อาคาร มีการนำตู้คอนเทนเนอร์สินค้ามาดัดแปลงเป็นที่พักอาศัยโดยวางซ้อนกัน 3 ชั้น ซึ่งถือเป็นการละเมิดพรก.มาตรฐานขั้นต่ำที่พักคนงานของมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังพบว่า ทางโรงงานไม่ได้ยื่นคำร้องต่อสภาเทศบาลเมืองกาจังเพื่อขอดัดแปลงตู้คอนเทนเนอร์สินค้าเป็นหอพักคนงาน
ทั้งนี้ คำสั่งปิดโรงงานเป็นการสั่งปิดชั่วคราว 7 วัน คือตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. ถึง 30 ธ.ค. 2563 เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ของหอพักคนงานนั้น “อาจเป็นจุดเริ่มต้นหรือนำไปสู่การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 สู่สาธารณชนในวงกว้าง”
แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงานมาเลเซียเผยว่า สภาพหอพักที่ถูกบุกตรวจสอบครั้งนี้ สกปรกมากและคนงานก็อยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด “นี่เป็นปัญหา เพราะถ้าพื้นที่มันเพียงพอสำหรับคนแค่ 100 คน ทางโรงงานก็พยายามบีบอัดคนงานเข้าไปให้ได้ 400 คน” ไม่เพียงเท่านั้น โรงงานแห่งนี้ยังทำผิดกฎหมายว่าด้วยสิ่งปลูกสร้าง ถนน และการระบายน้ำเสีย เนื่องจากการก่อสร้างหอพักด้วยตู้สินค้าทั้ง 2 หลัง ไม่ได้รับใบอนุญาตจากสภาเทศบาลซึ่งเป็นเอกสารที่สำคัญและมีความจำเป็นอย่างมากภายใต้กฎหมายว่าด้วยมาตรฐานขั้นต่ำของที่พักคนงาน “แม้ว่าจะเป็นที่พักชั่วคราว ก็ต้องมีใบอนุญาตจากสภาเทศบาล” แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงานกล่าว
ทั้งนี้ กฎหมายว่าด้วยมาตรฐานขั้นต่ำของที่พักคนงานของมาเลเซียเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา กำหนดพื้นที่ขั้นต่ำสำหรับการอยู่อาศัยของคนงาน สิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคเท่าที่จำเป็น รวมทั้งมาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ลาโกลฟ เป็นบริษัทในเครือไบรท์เวย์ โฮลดิ้งส์ ของประเทศมาเลเซีย ตัวแทนของบริษัทเปิดเผยกับสื่อว่า มีการบุกเข้าตรวจค้นที่พักคนงานจริง แต่ขอปฏิเสธว่าคนงานไม่ได้พักอาศัยในตู้คอนเทนเนอร์อย่างที่เป็นข่าว นอกจากนี้ ตัวเลขคนงานที่ทางการให้ข่าวก็มากเกินความเป็นจริง
อย่างไรก็ตาม โรงงานลาโกลฟไม่ใช่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางรายแรกที่ตกเป็นข่าวฉาวในลักษณะนี้ เพราะก่อนหน้านี้ “บริษัท ท็อป โกลฟ” ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติมาเลเซียและเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในโลก ก็เคยถูกกล่าวหาละเมิดสิทธิคนงานมาแล้ว และถูกรัฐบาลสหรัฐระงับการนำเข้าสินค้าด้วยข้อกล่าวหาดังกล่าวเมื่อเดือนก.ค. นำมาสู่การบุกเข้าตรวจสอบโรงงานและหอพักพนักงาน และสุดท้ายก็มีการตรวจพบคนงานของบริษัทติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นจำนวนมากกว่า 2,000 คน ทำให้โรงงานถูกสั่งปิดชั่วคราวเพื่อฆ่าเชื้อและปรับปรุงมาตรฐานด้านสาธารณสุข
นอกเหนือจากโรงงานของบริษัท ท็อป โกลฟ แล้ว การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในมาเลเซียยังนำไปสู่การบุกตรวจสถานประกอบการที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากหรือมีหอพักคนงานที่อาศัยอยู่รวมกันจำนวนหลายร้อยคน โรงงานผลิตถุงมือยางรายอื่น ๆของมาเลเซียที่มีการตรวจพบบุคลากรติดเชื้อโควิด-19 ยังได้แก่ โรงงานบริษัทฮาร์ทาเลกา (Hartalega) แคร์พลัส (Careplus) และคอสซัน (Kossan)
เพจเฟซบุ๊กของดาตุ๊ก สรี เอ็ม ซาราวานัน แสดงภาพหอพักคนงานของบริษัท ลาโกรฟ ในวันที่คณะของทางการลงพื้นที่ตรวจสอบ (21 ธ.ค.2563)
ข้อมูลอ้างอิง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สิงคโปร์พบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม 942 คน ส่วนใหญ่อาศัยในหอพักแรงงาน
สิงคโปร์เปิดโรงแรมลอยน้ำกักแรงงานต่างชาติ สกัดโควิด
ปิดตายห้ามเข้าออก"ตลาดกลางกุ้ง"มหาชัย
มาเลย์เตรียมสั่งฟ้อง "ท็อป โกลฟ" ฐานปล่อยที่พักคนงานเป็นแหล่งแพร่กระจายโควิด