ข้อมูลในช่วงเปิดศักราชใหม่ 2564 นั้น มีประมาณ 50 ประเทศทั่วโลกที่เริ่ม โครงการฉีดวัคซีนต้านไวรัส “โควิด-19” ให้กับประชาชน แล้ว นับเป็นข่าวดีสำหรับประชากรโลกที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามของโรคระบาดใหม่นี้มาตลอดช่วงปี 2563 ประสบการณ์จากประเทศที่เริ่มการฉีดวัคซีนแล้ว จะให้บทเรียนและข้อมูลที่ประเทศอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้เริ่มโครงการ สามารถนำไปใช้ในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจว่าจะใช้วัคซีนตัวไหนจึงจะเหมาะสมมากที่สุด และประเด็นหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของผู้คนก็คือ อาการแพ้และผลข้างเคียง ที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการฉีดวัคซีน
อาการแพ้โดยทั่วไปที่อาจพบได้
ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 รายใหญ่ 4 ราย ได้แก่ บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ที่ร่วมมือกับบริษัท บิออนเทค (BioNTech) , บริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ,บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย อ็อกซ์ฟอร์ด และบริษัท ซิโนแวค (Sinavac) ตั้งแต่ช่วงทดลองทางคลินิกกับอาสาสมัคร จนถึงขณะนี้ที่เริ่มมีการฉีดให้กับประชาชนในวงกว้างแล้ว ชี้ให้เห็นข่าวดีที่ว่า “ยังไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรง” ต่อผู้ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของทั้ง 4 บริษัทข้างต้น
แต่สิ่งที่พบและควรต้องเป็น “ข้อพึงระวัง” คือ ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา หรือแพ้อาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มีแนวโน้มว่าจะมีอาการแพ้วัคซีนได้มากกว่าคนทั่วไป ดังนั้น ก่อนรับการฉีดวัคซีน จึงควรแจ้งประวัติการแพ้ยา-แพ้อาหาร ให้แพทย์หรือพยาบาลได้ทราบ
ทั้งนี้ ผลข้างเคียง ของผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 โดยทั่วไปจะคล้ายกับอาการแพ้วัคซีนตัวอื่น ๆ คือ ปวดเมื่อย- เป็นไข้-อ่อนล้า-ปวดหัว แต่สำหรับกรณีของผู้ที่มีประวัติแพ้ยาหรือแพ้อาหาร อาจพบอาการเพิ่มเติมหลังการฉีดวัคซีน ดังนี้
-กรณีฉีดวัคซีนไฟเซอร์-บิออนเทค: อาจมีอาการผื่นขึ้นตามร่างกาย อาเจียน หน้าบวม หายใจติดขัด
-กรณีฉีดวัคซีนโมเดอร์นา: ตรวจพบอาการทั้ง 4 ข้างต้น เช่นกัน ( คือผื่นขึ้น-อาเจียน-หน้าบวม หายใจติดขัด)
-กรณีฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า-ม.อ็อกซ์ฟอร์ด: มีผื่นขึ้นตามร่างกายและใบหน้าบวม
-กรณีวัคซีนซิโนแวค: ยังไม่มีข้อมูล
ในกรณีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า “เอ็มอาร์เอ็นเอ” หรือ mRNA (ซึ่งเป็นการสร้างวัคซีนด้วยเทคโนโลยีการตัดต่อสารพันธุกรรม) เช่น วัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์-บิออนเทค และบริษัท โมเดอร์นา อาการแพ้หรือผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นคล้าย ๆกันคือ การมีผื่นขึ้นตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่ฉีดวัคซีน นอกจากนี้ ยังอาจเกิดอาการหน้าบวม หายใจติดขัด และอาเจียน
กรณีผลข้างเคียงรุนแรงเกิดขึ้นน้อยมาก แต่อย่าประมาท
สำหรับอาการข้างเคียงที่รุนแรงกว่าอาการแพ้ทั่วไป ข้อมูลชี้ว่า ยังเกิดขึ้นน้อยมากแต่ก็มีรายงานให้จดบันทึกไว้และจะมีการศึกษาในรายละเอียดต่อไป ได้แก่
-กรณีที่อาสาสมัครร่วมการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์-บิออนเทค มีอาการไส้ติ่งอักเสบมากกว่าอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับวัคซีนหลอก แพทย์ระบุว่า กรณีนี้เกิดขึ้นได้น้อย คิดเป็นอัตราต่ำมาก และเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
-อาสาสมัครร่วมการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ที่ร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัย อ็อกซ์ฟอร์ด ของอังกฤษ) พบกรณีที่มีอาการไขสันหลังอักเสบ อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทยืนยันว่า อาการไขสันหลังอักเสบที่เกิดขึ้นในอาสาสมัคร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่อย่างใด
-กรณีผู้สูงอายุ 2 รายในนอร์เวย์เสียชีวิตในเวลา 2 วันหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท ไฟเซอร์-บิออนเทค ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิต แพทย์ให้ความเห็นว่าผู้ป่วยอาจแพ้ส่วนประกอบบางชนิดในวัคซีน ซึ่งกรณีเช่นนี้พบได้เพียง 1 ในล้านที่อาจช็อกตาย
-ชายวัย 75 ปีในประเทศอิสราเอล เสียชีวิตในวันที่ 28 ธ.ค. 2563 หลังได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิดจากเจ้าหน้าที่เพียงไม่กี่ชั่วโมง โดยสาเหตุการตายแพทย์ระบุว่าเกิดจากหัวใจวายเฉียบพลัน และเขาผู้นี้มีประวัติอาการหัวใจวายกำเริบมาก่อน 2-3 ครั้งในอดีต กรณีนี้ สื่อท้องถิ่นอิสราเอลไม่ได้ระบุว่าเป็นวัคซีนของบริษัทใด แต่รัฐบาลอิสราเอลสั่งซื้อวัคซีนจากเพียง 2 บริษัทเพื่อฉีดให้กับประชาชน คือวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์-บิออนเทค และวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา
-ปลายปี 2563 ยังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับผู้ป่วย 4 รายที่มีอาการข้างเคียงที่เรียกว่า “โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก” หรือ Bell’s Palsy หลังได้รับการฉีดวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์-บิออนเทค โดยผู้ป่วยเป็นอาสาสมัครที่ร่วมโครงการทดสอบทางคลินิกวัคซีนของบริษัทดังกล่าว แต่อาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการชั่วคราว และยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจนว่า อาการใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกนั้นมาจากการฉีดวัคซีนโดยตรงหรือไม่
-มีการตั้งข้อสังเกตว่า วัคซีนของซิโนแวค ดูเหมือนจะมีข่าวเกี่ยวกับอาการข้างเคียงน้อยที่สุด หรือส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบริษัทยังไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนถึงอาการของผู้แพ้วัคซีนก็เป็นได้ แต่ในเบื้องต้น มีการรายงานเกี่ยวกับอาการแพ้โดยทั่วไปที่เกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีน เช่น อาการอ่อนล้า ปวดหัว ปวดเมื่อย และเป็นไข้
ข้อแนะนำจาก CDC
ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) เปิดเผยข้อมูล (สถิติ ณ วันที่ 6 ม.ค.2564) ว่า ในจำนวนชาวอเมริกันที่ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ไปแล้ว 1.9 ล้านคน พบผู้มีอาการแพ้หลังฉีดวัคซีนอย่างน้อย 21 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 11.1 คน ต่อ 1 ล้านคน ถือว่ายังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก
ทั้งนี้ มีข้อแนะนำจาก CDC ว่า ผู้ที่มีอาการแพ้เกิดขึ้นหลังจากที่ฉีดวัคซีนเข็มแรก ไม่ควรรับวัคซีนเข็มที่สอง ซึ่งต้องทิ้งระยะในการฉีดห่างกัน 2-4 สัปดาห์ (ระยะห่างของการฉีดเข็มแรกกับเข็มที่สอง ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน) CDC ประมาณการว่าจะมี ยอดผู้แพ้วัคซีนเพิ่มขึ้นอีก หากเริ่มมีการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง
เกรแฮม อ๊อก ผู้อำนวยการชั่วคราว สภาวิจัยทางการแพทย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาในมนุษย์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับข่าวผู้แพ้วัคซีนต้านโควิด-19 ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือจะต้องเข้าใจพื้นฐานและประวัติของการแพ้ รวมไปถึงปฏิกริยาของผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนที่มีอยู่เสียก่อน เพื่อให้สามารถดำเนินการฉีดวัคซีนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
สอดคล้องกับทรรศนะของสตีเฟนส์ อีวานส์ ศาสตราจารย์ด้านเภสัชระบาดวิทยา จากวิทยาลัยด้านสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งลอนดอน ที่ให้คำแนะนำว่า สำหรับกลุ่มประชากรโดยทั่วไปนั้นไม่ควรกังวลเรื่องการเข้ารับการฉีดวัคซีนในประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัยแต่อย่างใด เพราะว่าแม้แต่สิ่งเล็กๆที่มนุษย์ต้องพบเจออยู่แล้วในชีวิตประจำวัน เช่น ยีสต์ ก็อาจจะทำให้เกิดอาการภูมิแพ้อย่างรุนแรงได้เช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
FDA เตือนเอง ผู้ฉีดวัคซีนโควิดอาจมีอาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
สหรัฐพบผู้รับวัคซีน"ไฟเซอร์"มีผลข้างเคียงเกือบ 4,400 ราย
เตือนผู้มีอาการภูมิแพ้หนักห้ามฉีดวัคซีนโควิดของ"ไฟเซอร์"