มาเลเซียอาการหนัก วันเดียวติดเชื้อโควิดเพิ่มมากกว่า 4 พันคน

17 ม.ค. 2564 | 19:03 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2564 | 00:15 น.

กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียรายงานสถิติใหม่ที่สะท้อนสถานการณ์ "การแพร่ระบาดของโควิด-19" ยังคงน่าวิตกอย่างมาก ขณะที่วัคซีนล็อตแรกคาดว่าจะมาถึงในเดือนก.พ. นี้  

 

ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ของมาเลเซีย เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (16 ม.ค.) ได้พุ่งทะยานขึ้นในระดับ  4,029 รายภายในรอบ 24 ชั่วโมง นับเป็นการพบผู้ป่วยรายใหม่ในรอบวันเกิน 4,000 รายเป็นครั้งแรก ทำให้ ยอดผู้ป่วยโควิด-19 สะสมของมาเลเซีย อยู่ที่ระดับ 155,095 ราย และยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รวม 594 ราย

 

ข้อมูลที่น่าสนใจจากการเปิดเผยของปลัดกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย นายแพทย์ นูร์ ฮิชัม อับดุลเลาะห์ ก็คือ ในจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เมื่อวันเสาร์ (16 ม.ค.)นั้น มีเพียง 8 รายที่เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ นอกนั้นล้วนแต่เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศทั้งสิ้น  

กษัตริย์มาเลเซียทรงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (12 ม.ค.)

ทั้งนี้ รัฐที่มียอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันจำนวนมากที่สุดของมาเลเซีย คือรัฐสลังงอร์ ซึ่งอยู่ทางฝั่งทะเลภาคตะวันตกของมาเลเซีย เป็นรัฐที่ตั้งของเขตอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นที่ตั้งของท่าเรือแคลง (Port Klang) ท่าเรือใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ล่าสุดคือ 1,466 ราย ตามมาด้วยรัฐยะโฮร์ทางภาคใต้ของประเทศอยู่ติดกับสิงคโปร์ (719 ราย) และรัฐซาบาห์ ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะบอร์เนียว (449 ราย)

 

กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียเผยว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยวิกฤตจำนวนรวม 205 ราย และมี 79 รายที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หนึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่เป็นบุคคลสำคัญของมาเลเซีย คือ นายโมฮัมเหม็ด ซาลเลห์ อาบาส อดีตผู้พิพากษาศาลสูงระหว่างปี 2527-2531 และอัยการสูงสุดปี 2537 เขาตรวจพบเชื้อโควิด-19 ไม่นานก่อนหน้านี้ หลังจากนั้นก็เสียชีวิตด้วยอาการปอดอักเสบเมื่อเช้าวันเสาร์ (16 ม.ค.) ด้วยวัย 91 ปี

 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพียงสัปดาห์เดียวก็มีการทำยอดผู้ติดเชื้อใหม่สูงสุดนิวไฮถึง 3 ครั้ง

นับเป็นเวลา 1 เดือนแล้วที่ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันของมาเลเซีย ขยับขึ้นเป็นหลักพันท่ามกลางความพยายามของทางการที่จะควบคุม “การแพร่ระบาดระลอกที่สาม” ของโรคระบาดดังกล่าว และในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพียงสัปดาห์เดียวก็มีการทำยอดผู้ติดเชื้อใหม่สูงสุดนิวไฮถึง 3 ครั้ง

 

สมเด็จพระราชาธิบดีอัล-สุลต่าน อับดุลเลาะห์ ของมาเลเซียได้ทรงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (12 ม.ค.) โดยก่อนหน้านั้น 1 วันนายกรัฐมนตรี นายมูห์ยิดดิน ยัซซิน เพิ่งจะมีคำสั่งควบคุมการสัญจร (Movement Control Order: MCO) ของประชาชนในเขต 5 รัฐ ได้แก่ ปีนัง สลังงอร์ มะละกา ยะโฮร์ และซาบาห์ รวมทั้งเขต 3 เมืองสำคัญ ได้แก่ กัวลาลัมเปอร์ ปุตราจายา และลาบวน ต่อมาวันศุกร์ (15 ม.ค.) ได้มีการประกาศพื้นที่คำสั่งควบคุมการสัญจรอีก 1 รัฐ ได้แก่ กลันตัน ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ มีพรมแดนติดประเทศไทย (จ.นราธิวาส)

 

ทั้งนี้ การห้ามประชาชนสัญจรระหว่างรัฐของมาเลเซียจะมีผลบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 26 ม.ค.นี้ เป้าหมายเพื่อควบคุมและจำกัดวงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

 

ด้านนายไครี จามาลุดดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของมาเลเซีย เปิดเผยว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ล็อตแรกจะมาถึงในเดือนก.พ.  ทั้งนี้คาดหมายว่า ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 มาเลเซียจะได้รับมอบวัคซีน 1 ล้านโดส จากนั้นจึงจะได้รับอีก 1.7 ล้านโดส, 5.8 ล้านโดส และ 4.3 ล้านโดส ในไตรมาสที่สอง สาม และสี่ ตามลำดับ รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 12.8 ล้านโดส

 

มาเลเซียมีประชากรราว 32.7 ล้านคน (ข้อมูล ณ ปี 2563) กลุ่มประชากรที่จะได้รับวัคซีนกลุ่มแรกคือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมากที่สุด คือ บุคลากรการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขที่ต้องเป็น “ด่านหน้า” ในการสัมผัสกับผู้ป่วย จากนั้นจึงเป็นกลุ่มผู้สูงวัย โดยทางการมาเลเซียคาดหวังฉีดวัคซีนสร้างภูมิต้านทานให้ประชากรได้จำนวนมากพอที่จะทำให้เกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” หรือ Herd immunity ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สัดส่วนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกัน (ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายผลิตขึ้นมาเองตามธรรมชาติหรือได้รับวัคซีนป้องกันโรค) มีจำนวนมากพอจนเชื้อไวรัสไม่สามารถแพร่กระจาย หรือถูกส่งผ่านไปยังคนอื่นๆ ได้ หรือเมื่อคนในพื้นที่นั้นๆ ได้รับวัคซีนหรือได้รับเชื้อแล้วร่างกายมีภูมิคุ้มกันจนไม่ป่วยอีก พอคนติดเชื้อได้น้อย เชื้อโรคก็แพร่ไปสู่คนอื่นได้ยากไปด้วย และเมื่อเชื้อไวรัสไม่สามารถแพร่ระบาดไปสู่ผู้อื่นได้ มันก็จะหายไป ไม่กลายเป็นการแพร่ระบาดในที่สุด

 

“ถ้าคุณเป็นคนวัยผู้ใหญ่อายุต่ำกว่า 60 ปีที่ยังแข็งแรงดีและไม่ได้เป็นนักรบด่านหน้าในการต่อสู้กับโควิด-19 คุณก็จะได้ฉีดวัคซีนอย่างเร็วที่สุดในช่วงไตรมาสสามของปีนี้” นายจามาลุดดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของมาเลเซียกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"มาเลเซีย" ประกาศภาวะฉุกเฉินทั้งประเทศ รับมือวิกฤติโควิด

ผลการทดสอบวัคซีนของ บ.ซิโนแวค ทำให้ประเทศผู้ซื้อในอาเซียนต้องคิดหนัก

สามบิ๊กอาเซียน ไทย-อินโดฯ-ฟิลิปปินส์ เตรียมฉีดวัคซีน “ซิโนแวค” ในระดับมวลชนเร็ว ๆนี้

"มาเลเซีย" ห้ามพลเมือง 9 ประเทศเข้าประเทศ สกัดโควิด-19 แพร่ระบาด

มาเลย์เตรียมสั่งฟ้อง "ท็อป โกลฟ" ฐานปล่อยที่พักคนงานเป็นแหล่งแพร่กระจายโควิด