มวลชนเมียนมายังยืนหยัดสู้ไม่ถอยแม้ว่าจะถูกคุกคามทุกรูปแบบจากกองทัพ  

22 ก.พ. 2564 | 22:30 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2564 | 22:57 น.

การชุมนุมประท้วงในเมียนมายกระดับความรุนแรงกระทั่งเริ่มมีการใช้กระสุนจริงตามที่รัฐบาลทหารเมียนมาได้เคยขู่เอาไว้ และจนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 3 ราย แต่แม้กระนั้น มวลชนที่หลั่งไหลออกมาบนท้องถนนตามเมืองต่าง ๆเพื่อแสดงพลังต่อต้านเผด็จการทหารที่ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนก็ไม่ได้ลดน้อยลงเลย

วันจันทร์ที่ 22 เดือน 2 ปี 2021 ถือเป็นฤกษ์ที่ กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงชาวเมียนมา หลั่งไหลออกมาร่วมแสดงพลังครั้งสำคัญ โดยพวกเขาในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ได้พากันหยุดงานเพื่อร่วม ประท้วงรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร (แม้รัฐบาลทหารเมียนมาจะพยายามขอให้สื่อไม่ใช้คำว่า “รัฐประหาร”ก็ตาม) หลังจากที่เมื่อวันอาทิตย์ (21 ก.พ.) ทางกลุ่ม แนวร่วมอารยะขัดขืน หรือกลุ่ม Civil Disobedience Movement และกลุ่มนักเคลื่อนไหวหนุ่มสาว ได้ออกมาเรียกร้องเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการแสดงพลังครั้งใหญ่นี้

 

มวลชนเมียนมายังยืนหยัดสู้ไม่ถอยแม้ว่าจะถูกคุกคามทุกรูปแบบจากกองทัพ  

โดยพวกเขาระบุว่านี่คือ Spring Revolution ที่อาจจะหมายถึงการปฏิวัติแห่งฤดูใบไม้ผลิ หรือ การปฏิวัติเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในวันที่ 2 เดือน 2 ปี 2021 อีกทั้งเพื่อร่วมกันระลึกถึงเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เมื่อวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 ด้วย ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ส่งผลให้โรงงาน ร้านค้า สถานประกอบการจำนวนมากทั่วประเทศ ต้องปิดทำการเป็นการชั่วคราวแม้ว่ากองทัพเมียนมาได้ออกประกาศแถลงคำเตือนผ่านสถานีโทรทัศน์ MRTV ของการทางเอาไว้แล้วตั้งแต่วันอาทิตย์ (21 ก.พ.) ว่า ผู้ชุมนุมกำลัง “ปลุกปั่น” ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนที่มีอารมณ์ร่วมง่าย ให้ออกมาร่วมสุ่มเสี่ยงบนเส้นทางแห่งการเผชิญหน้า ซึ่งจะนำไปสู่ “การสูญเสียชีวิต”

เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของเมียนมาในนครย่างกุ้ง อดีตเมืองหลวงที่ยังคงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้มีการตั้งด่านตรวจอย่างเข้มงวดและปิดถนนใกล้ๆ กับสถานทูตบางแห่งซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้ประท้วงมักมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้นานาชาติเข้าทำการแทรกแซงปัญหาภายในประเทศนี้ ขณะที่ในกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงปัจจุบันของเมียนมา  ได้เปิดปฏิบัติการสลายการชุมนุม และไล่จับกุมผู้ประท้วงจำนวนมากตามท้องถนน ขณะที่มีรายงานเกี่ยวกับการปิดระบบอินเตอร์เน็ตในช่วงเช้าวันจันทร์ (22 ก.พ.) โดยสถานทูตสหรัฐฯ ในเมียนมา ได้ออกคำเตือนให้มีการเตรียมพร้อมสำหรับกรณีการตัดสัญญาณการสื่อสารดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานเน็ตบล็อกส์ ( NetBlocks) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระติดตามเฝ้าดูการปิดกั้นและกวนสัญญาณอินเตอร์เน็ต รายงานว่า ระบบสัญญาณอินเทอร์เน็ตเริ่มกลับคืนสู่สภาพปกติในช่วง 9 โมงเช้า หลังจากกองทัพได้ทำการปิดระบบอินเตอร์เน็ตในช่วงค่ำเป็นคืนที่ 8 แล้ว 

ผู้ชุมนุมเรียกร้องการปล่อยตัวนางอองซานซูจี

สื่อต่างประเทศรายงานว่า นับตั้งแต่ที่เกิดการประท้วงทั่วประเทศเมียนมาภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. จำนวนผู้ชุมนุมประท้วงได้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ โดยพวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลทหารปล่อยตัวผู้นำรัฐบาลพลเรือน ซึ่งรวมถึงนางอองซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐและหัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และนายอู วิน มินท์ อดีตประธานาธิบดี ทั้งยังเรียกร้องให้นานาประเทศออกแรงกดดันรัฐบาลทหารเมียนมา นับจากนั้นมาจนถึงขณะนี้ มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 3 รายจากเหตุปะทะระหว่างการชุมนุมประท้วง โดยผู้เสียชีวิตมีทั้งนักศึกษาและเด็กชายวัยรุ่น นับเป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มใช้กระสุนจริงร่วมกับกระสุนยาง นอกจากนี้ ยังมีการใช้แก๊สน้ำตา ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง และหนังสติ๊ก ในการจัดการควบคุมฝูงชน

ตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานเกี่ยวกับผู้ได้รับบาดเจ็บราว 20 คนจากเหตุความรุนแรงเมื่อวันเสาร์ (20 ก.พ.) จากนั้นในวันอาทิตย์ มีการปราบปรามการชุมนุมและมีประชาชนเสียชีวิตเพิ่มอีก 2 คน (หลังจากที่ก่อนหน้านั้นมีนักศึกษาสาวที่ร่วมชุมนุมถูกยิงเสียชีวิตเป็นรายแรก) ซึ่งนับเป็นเหตุเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่มีการชุมนุมประท้วงกองทัพอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานกว่า 2 สัปดาห์แล้ว แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็ยิ่งทำให้มวลชนหลั่งไหลออกมาสมทบกันมากขึ้นในวันจันทร์ (22 ก.พ.)

ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงมี 2 ประเด็นหลัก คือ พวกเขาเรียกร้องให้กองทัพคืนอำนาจให้กับประชาชน และขอให้ปล่อยตัวนางซูจี  รวมทั้งเจ้าหน้าที่อาวุโสของพรรค NLD ที่ถูกจับกุมตัวไว้โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือนักโทษการเมืองภายใต้ชื่อ Assistance Association for Political Prisoners ระบุว่า มีผู้ถูกจับกุมไปแล้วประมาณ 640 คน ที่กำลังถูกดำเนินคดีและจำคุกในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารยึดอำนาจโดยกองทัพตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

 

นานาชาติร่วมกดดันกองทัพเมียนมา 

นายทอม แอนดรูวส์ ผู้แทนพิเศษองค์การสหประชาชาติ ประจำเมียนมา ได้ออกมาทวีตข้อความระบุว่า เขารู้สึกมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับคำเตือนของรัฐบาลทหารเมียนมาที่ออกมาขู่ว่า ผู้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงอาจต้องพบกับการสูญเสียชีวิต  เขาโพสต์ข้อความเตือนรัฐบาลทหารเมียนมาว่า  เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้แตกต่างจากในอดีตเมื่อครั้งมีการประท้วงใหญ่ในปี 1988 ในแง่ที่ว่า “การกระทำใดๆ โดยหน่วยงานรักษาความมั่นคง (ของเมียนมา) ในครั้งนี้ได้ถูกบันทึกไว้หมดแล้ว และพวกคุณต้องรับผิดชอบต่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้น”

นานาชาติต่างก็เพิ่มแรงกดดันมายังกองทัพเมียนมามากขึ้น ด้วยการประกาศเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรด้านต่างๆ ต่อเมียนมาตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา นายแอนโธนี บลิงเค็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกคำเตือนผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันอาทิตย์ (21 ก.พ.) ว่า สหรัฐจะเดินหน้าดำเนินการกับผู้ที่กระทำการใดๆ ก็ตาม ที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนของเมียนมาที่ต้องการให้มีการคืนอำนาจให้กับรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิปไตย” นอกจากนี้ นายบลิงเค็นยังย้ำว่า สหรัฐจะยืนหยัดเคียงข้างประชาชนของเมียนมา โดยมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐนั้น มุ่งเป้าหมายไปที่เหล่าผู้นำในกองทัพเมียนมาที่ก่อรัฐประหาร รวมทั้งประธานาธิบดีรักษาการของเมียนมา

ไม่เอาเผด็จการ

ด้านนายโดมินิค ร้าบ รมว.ต่างประเทศของอังกฤษ ซึ่งเคยเป็นประเทศเจ้าอาณานิคมของเมียนมา ได้ออกมาเตือนกองทัพเมียนมาว่า การยิงผู้ที่ชุมนุมประท้วงอย่างสันติถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เขาเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี และคนอื่นๆที่ถูกจับกุม โดยเร็วที่สุด  นอกจากนี้ นายร้าบ ยังระบุว่าเขาจะกล่าวต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้ว่ากำลังเลวร้ายมากขึ้น และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน “เราขอเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาควรจะหลีกทางไป และเคารพกระบวนการประชาธิปไตยภายในประเทศ”

เช่นเดียวกันกับรัฐบาลฝรั่งเศสที่ได้ออกมาประณามกองทัพเมียนมาอย่างเป็นทางการ กรณีที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสันติ โดยกระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์ว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในมัณฑะเลย์ ที่มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 2 ศพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (21 ก.พ.) เป็นเรื่องที่ไม่อาจรับได้ แม้ว่ากองทัพเมียนมาจะออกมาแถลงถึงความชอบธรรมในการจัดการอย่างเฉียบขาดกับผู้ชุมนุมว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่อยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และเป็นการรักษาความสงบสุขเนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นผู้ริเริ่มความรุนแรงก่อน มีการทำลายพาหนะของเจ้าหน้าที่ และทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยไม้ มีด และอุปกรณ์ยิงหิน มีตำรวจเมืองมัณฑะเลย์บาดเจ็บ 8 นาย ทหารบาดเจ็บ 2-3 นาย และมีตำรวจเสียชีวิตจากบาดแผลจากการถูกผู้ชุมนุมทำร้าย 1 นาย

สถานการณ์ในเมียนมาจะจบลงอย่างไรยังไม่อาจคาดเดา เป็นไปได้ที่จะเกิดความรุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในเมียนมา พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพผลการเลือกตั้ง และหวนคืนสู่รัฐบาลพลเรือน "โลกทุกวันนี้ไม่มีที่ยืนให้ผู้นำเผด็จการอีกแล้ว" นายกูเตอร์เรสกล่าว สอดคล้องกับมติของรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ที่ประชุมกันเมื่อวันที่ 22 ก.พ. (เวลาท้องถิ่น) เพื่อหารือมาตรการที่เหมาะสมต่อกองทัพเมียนมา ได้ออกแถลงการณ์แล้วว่า อียูพร้อมจะใช้มาตรการคว่ำบาตร "ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการรัฐประหารในเมียนมา" โดยอียูจะพุ่งเป้าไปที่การสกัดกั้นการทำธุรกรรมและผลประโยชน์ของบุคคลเหล่านี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: