การประชุมนัดพิเศษของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมครั้งแรกของอาเซียน นับตั้งแต่ที่ กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 โดยสมาชิกส่วนใหญ่ของอาเซียนต่างแสดงความพร้อมที่จะเข้าร่วมการประชุมและได้มีการเชื้อเชิญ นายวูนนา หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของเมียนมา ที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลทหาร เข้าร่วมการประชุมเช่นกัน
รัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกอาเซียนบางส่วนอาจเดินทางเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ขณะที่บางส่วนอาจเข้าร่วมการประชุมผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์
การประชุมครั้งนี้มีขึ้นหลังมีการจัดการเจรจา 3 ฝ่ายขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา ระหว่างนายวูนนา หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมา นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย
นายฮิชแชมมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวให้ความเห็นเกี่ยวกับการประชุมครั้งนี้ว่า อาเซียนควรมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการแก้ไขวิกฤตการณ์ในเมียนมา นอกจากนี้ เขายังได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้น และหลีกเลี่ยงจากการใช้ความรุนแรง หลังจากมีผู้เสียชีวิตจากการประท้วงการก่อรัฐประหารในเมียนมาถึง 18 รายเมื่อวานนี้ (28 ก.พ.)
"เรามีความกังวลต่อการบาดเจ็บและการสูญเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ในเมียนมา" นายฮิชแชมมุดดินกล่าวในระหว่างการเดินทางเยือนบรูไน ซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ (2564) เขาย้ำว่า เป็นเรื่องสำคัญที่อาเซียนจะต้องมีการหารืออย่างสร้างสรรค์และตรงไปตรงมากับเมียนมา รวมทั้งกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเพื่อแสดงให้เห็นว่า “อาเซียนมีประสิทธิภาพ” สอดคล้องกับความคาดหวังของประเทศนอกกลุ่ม และหลีกเลี่ยงการกระทำตามอำเภอใจแต่เพียงฝ่ายเดียวที่อาจส่งผลกระทบต่อทั้งภูมิภาค" รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: