รัฐมนตรีต่างประเทศ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน ร่วมหารือทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์หาหนทางสู่สันติภาพในเมียนมาวานนี้ (2 มี.ค.) ขณะที่ในเมียนมายังคงมีการชุมนุมประท้วงเผด็จการทหารและมีการปราบปรามอย่างหนักหน่วงในหลายพื้นที่
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ 10 ชาติอาเซียนทางออนไลน์ครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากที่ผู้ชุมนุมประท้วงในเมียนมาถูกตำรวจและทหารจับกุมและปราบปรามด้วยความรุนแรงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วนับสิบราย และถูกจับกุมกว่าร้อยราย
สื่อต่างประเทศรายงานว่า นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวในการประชุมครั้งนี้ว่า การฟื้นฟูประชาธิปไตยสู่เมียนมาเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินต่อไป และรัฐมนตรีต่างประเทศในกลุ่มอาเซียนส่วนใหญ่เห็นว่า ควรผลักดันให้มีการปล่อยตัวนางอองซานซูจี ซึ่งเป็นผู้นำเมียนมาโดยพฤตินัย และคืนประชาธิปไตยกลับสู่เมียนมา แต่การประชุมของอาเซียนก็เลี่ยงที่จะ “กล่าวถึง” หรือ “ประณาม” กองทัพเมียนมา
ข่าวระบุว่า ในแถลงการณ์หลังเวทีประชุมระบุเพียงประชาคมอาเซียนขอให้ “ทุกฝ่าย” ใช้ความอดทนอดกลั้นและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง และหาหนทางออกโดยสันติร่วมกัน ทั้งจากการไกล่เกลี่ยเจรจา บนพื้นฐานของผลประโยชน์ต่อคนในชาติเป็นสำคัญ
ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยกล่าวให้ความเห็นก่อนการประชุมว่า อาเซียนไม่อยากเห็นเหตุการณ์บานปลายไปมากกว่านี้ อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเมียนมาถอยกันคนละก้าว มิฉะนั้น จะทำให้การหาจุดบรรจบที่จะไปสู่ทางออกนั้นทำได้ยาก "ต้องขอให้มีการถอยคนละก้าวเพื่อนึกถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชนของเมียนมาเอง รวมถึงผลประโยชน์ที่มีต่อภูมิภาคอาเซียน ต้องคิดถึงหลายมุม จะไปคิดแค่มุมใดมุมหนึ่งไม่เพียงพอ” นายดอนกล่าว
ทั้งนี้ สถานการณ์ประท้วงรายวันในเมียนมาได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นและมีผู้เสียชีวิตจากการถูกปราบปรามอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบผู้ประท้วงเสียชีวิต 21 ราย โดยเหตุรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (28 ก.พ.) เมื่อตำรวจและทหารเมียนมาสังหารผู้ชุมนุมถึง 18 รายในวันเดียวระหว่างการใช้กำลังสลายการชุมนุมในหลายพื้นที่รวมทั้งเมืองทวายและย่างกุ้ง นับเป็นเหตุรุนแรงที่สุดตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามรายงานของสำนักงานสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: