นายหยาง ชินหลง ผู้ว่าการธนาคารกลางไต้หวัน เปิดเผยในวันนี้ (11 มี.ค.) ว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกา อาจพิจารณาขึ้นปัญชี ไต้หวัน เป็น ประเทศที่ปั่นค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า หรือ “currency manipulator” เนื่องจาก ธนาคารกลางไต้หวัน ได้เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราในอัตราสูงกว่า 600% ในปีที่ผ่านมา
นายหยางระบุว่า ธนาคารกลางไต้หวันได้ทุ่มซื้อสุทธิสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมูลค่า 39,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากับ 5.8% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปีดังกล่าว และสูงกว่าเพดาน 2% ที่กระทรวงการคลังสหรัฐกำหนดไว้ ขณะที่ในปี 2562 ธนาคารกลางไต้หวันเข้าซื้อสุทธิสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นมูลค่า 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การดำเนินการดังกล่าวถือว่าเข้าเกณฑ์ 1 ใน 3 ของเกณฑ์ที่รัฐบาลสหรัฐกำหนดว่าเป็นการปั่นค่าเงิน อย่างไรก็ดี นายหยางกล่าวว่า หากสหรัฐตัดสินใจประกาศเช่นนั้นจริง ก็ยังไม่ถือว่าเป็นสถานการณ์ร้ายแรงจนเกินไป และคาดว่าจะไม่สร้างความเสียหายในทันทีต่อไต้หวัน พร้อมระบุว่า สาเหตุที่ไต้หวันต้องเข้าแทรกแซงตลาดในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ก็เพราะต้องการจะสกัดการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ไต้หวัน หลังจากสกุลเงินแข็งค่าขึ้นอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจและการค้ามีการขยายตัวมากขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ว่าการแบงก์ชาติไต้หวันกล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ไต้หวันจะต้องรีบสื่อสารกับสหรัฐเพื่ออธิบายถึงสาเหตุที่มีผลต่อสกุลเงินดอลลาร์ไต้หวัน ซึ่งรวมถึงสาเหตุที่มาจากการที่สหรัฐใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (QE) และผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้กระตุ้นการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีของไต้หวัน และทำให้ไต้หวันมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐเพิ่มขึ้นด้วย
แบบไหนถึงเรียก “ประเทศปั่นค่าเงิน”
กระทรวงการคลังสหรัฐ มี 3 เกณฑ์พิจารณาในการขึ้นบัญชีประเทศที่ “ปั่น” หรือ “บิดเบือน” ค่าเงิน (currency manipulator) เพื่อหวังผลสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศ 3 เกณฑ์ดังกล่าว ได้แก่
1.ประเทศที่มีตัวเลขเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 2% ของจีดีพี
2. ประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐมากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา
3. ประเทศที่ธนาคารกลางเข้าแทรกแซงค่าเงินเกิน 6 เดือนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และเข้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐเกิน 2% ของจีดีพี
ทั้งนี้ การปั่น หรือ การบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้าในมุมมองของสหรัฐนั้น คือการมองว่า ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ สามารถเข้ามาทำธุรกรรมการเงินให้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินของตนเองอ่อนค่าลงมากกว่าปัจจัยพื้นฐานของประเทศ ซึ่งทำให้เกิดความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศ สหรัฐมองว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นสาเหตุทำให้ประเทศสหรัฐขาดดุลการค้าในระดับสูงมาเป็นเวลายาวนาน ดังนั้น ตรวจสอบรายชื่อประเทศที่มีการปั่นค่าเงิน หรือ บิดเบือนค่าเงิน เพื่อหวังผลทางการค้า จึงเป็นหนึ่งในมาตรการที่สหรัฐนำมาใช้ในการลดการขาดทุนการค้าของตัวเอง
ประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีปั่นค่าเงิน อาจถูกสหรัฐออกมาตรการทางภาษีเพื่อตอบโต้
ไทยอยู่ในสถานะไหน
เดือนธ.ค. 2563 กระทรวงการคลังสหรัฐ เปิดเผยรายงานรอบครึ่งปีว่าด้วยประเทศที่ปั่นค่าเงิน โดยขึ้นบัญชีสวิตเซอร์แลนด์และเวียดนาม ในฐานะประเทศที่ทำการปั่นค่าเงินเพื่อความได้เปรียบทางการค้าเหนือสินค้าส่งออกของอเมริกา ส่วนไทย ถูกใส่ชื่อไว้ใน บัญชี “ประเทศที่ถูกจับตามอง”
รายงานด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศรอบครึ่งปีของกระทรวงการคลังสหรัฐ ชี้ว่า สวิตเซอร์แลนด์และเวียดนาม แทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราเพื่อส่งผลกระทบกับดุลการชำระเงิน และในกรณีของเวียดนาม ยังมีเป้าหมายเพื่อให้ได้เปรียบด้านการแข่งขันอย่างไม่ยุติธรรมในการค้าระหว่างประเทศด้วย
นายสตีฟ มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐในขณะนั้น เรียกการตัดสินใจดังกล่าวว่า เป็นก้าวย่างที่แข็งกร้าวเพื่อปกป้องการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปกป้องโอกาสสำหรับคนงานและภาคธุรกิจของสหรัฐอเมริกา
ส่วนบัญชี “ประเทศที่ต้องจับตามอง” ของกระทรวงการคลังสหรัฐนั้น มีจีน ที่ถูกปรับถอดจากบัญชี “ประเทศปั่นค่าเงิน” เมื่อเดือนม.ค. 2563 มาอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองแทน เนื่องจากมีการปรับปรุงสถานการณ์ดีขึ้น ประเทศอื่นๆ ในบัญชีกลุ่มนี้ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี ฯลฯ ส่วน 3 ประเทศใหม่ที่เพิ่งถูกกระทรวงการคลังสหรัฐใส่เพิ่มเติมไว้ในบัญชีประเทศต้องจับตามองเมื่อปลายปี 2563 คือ อินเดีย ไต้หวัน และไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: