คลังสหรัฐโอนเงินเยียวยาล็อตแรกให้ประชาชนแล้ว มั่นใจการจ้างงานฟื้นเต็มศักยภาพปี 65

15 มี.ค. 2564 | 01:39 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2564 | 08:50 น.

คลังสหรัฐเริ่มโอนเงินเยียวยาล็อตแรกให้ประชาชนแล้ว เชื่อจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้การจ้างงานฟื้นสู่ระดับก่อนเกิดโควิดได้ในปีหน้า (2565)

รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้เริ่ม โอนเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ล็อตแรก คนละ 1,400 ดอลลาร์หรือราว 4.3 หมื่นบาทเข้าบัญชีเงินฝากของชาวอเมริกันโดยตรงในวันศุกร์ที่ผ่านมา (12 มี.ค.) เป็นวันแรก ภายใต้มาตรการเยียวยาผลกระทบของโรคโควิด-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพิ่งลงนามอนุมัติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มี.ค. บรรดานักเศรษฐศาสตร์มองว่า รายได้จากเงินเยียวยาดังกล่าวจะช่วย กระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า

กรมสรรพากรสหรัฐ (IRS) เปิดเผยว่า การจ่ายเงินเยียวยาล็อตแรก จะส่งเข้าบัญชีเงินฝากโดยตรงของชาวสหรัฐ โดยจะมีประชาชนบางส่วนเริ่มได้รับเงินดังกล่าวอย่างเร็วที่สุดในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และจะมีชาวอเมริกันจำนวนมากขึ้นได้รับเงินดังกล่าวในสัปดาห์นี้

"การจ่ายเงินเยียวยาล็อตต่อๆไปนั้นส่วนใหญ่จะถูกส่งเข้าบัญชีโดยตรงให้กับชาวอเมริกันในสัปดาห์ถัดไป รวมถึงการส่งเช็คหรือบัตรเดบิตทางไปรษณีย์ด้วย" IRS ระบุ

ปธน.ไบเดนลงนามเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564

 

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีไบเดนได้ลงนามใน กฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อวันพฤหัสบดี (11 มี.ค.) ซึ่งรวมถึงเงินที่จะจ่ายโดยตรงให้กับชาวอเมริกันส่วนใหญ่จำนวนกว่า 4.10 แสนล้านดอลลาร์ และนับเป็นการจ่ายเงินสดช่วยเหลือประชาชนสหรัฐโดยตรงเป็นครั้งที่ 3 ในรอบไม่ถึง 1 ปีเพื่อช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกระตุ้นการใช้จ่าย

ด้านนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวให้สัมภาษณ์ในรายการ "This Week" ของสถานีโทรทัศน์ ABC วานนี้ (14 มี.ค.)ว่า ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่เกิดจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์นั้น จะอยู่ในระดับต่ำและสามารถควบคุมได้ เนื่องจากเม็ดเงินจากมาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  และผลที่เกิดขึ้นจะปรากฎให้เห็นในรูปของการจ้างงานที่มีการขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพ

"ถ้าถามว่ามีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อไหม? ฉันคิดว่าความเสี่ยงจะมีน้อยมากและอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ และหากเกิดภาวะเงินเฟ้อจริง เราก็มีเครื่องมือที่ดีพอในการจัดการ และเราจับตาสถานการณ์เงินเฟ้ออยู่ตลอดเวลา" นางเยลเลนกล่าว นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา จะทำให้การจ้างงานของสหรัฐกลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในปีหน้า (2565)

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามถึงกรณีที่ปธน.ไบเดนได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน นางเยลเลนกล่าวว่า "เรายังไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องนี้ ซึ่งรวมถึงการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล"

ทั้งนี้ สถานการณ์ในตลาดแรงงานของสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 379,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 210,000 ตำแหน่ง ส่วนตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 712,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2563

"ฉันคาดหวังว่า หากเราเอาชนะโรคระบาดได้ เศรษฐกิจของเราจะกลับมาฟื้นตัวและมีการจ้างงานอย่างเต็มศักภาพได้อีกครั้งภายในปีหน้า ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ฉบับนี้ จะผลักดันให้เราไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้" นางเยลเลนกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: